Leverage โอกาสหรือความเสี่ยง

Leverage โอกาสหรือความเสี่ยง

Leverage โอกาสหรือความเสี่ยง

คำว่า Leverage เป็นคำกว้างๆที่ใช้เป็นการทั่วไปในโลกของธุรกิจการลงทุน จุดเริ่มของ Leverage ก็คือการที่เราอยากจะลงทุนซื้ออะไรสักอย่างทำธุรกิจบางอย่าง แต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอจึงต้องไปกู้ยืมมาแทน ต้นทุนของการกู้ยืมเงินก็คือดอกเบี้ยเงินกู้ ถ้าเงินที่เรากู้มาไปลงทุนทำธุรกิจ หรือไปซื้ออะไรที่ให้กำไรมากกว่าดอกเบี้ยที่กู้ไปเรื่อยๆในระยะยาว คนที่กู้มาก็จะร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ จากกำไรที่เหลือจากการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ การกู้เงินที่ทำให้เราจนลงคือการกู้เงินไปใช้ในสิ่งที่ไม่มีกำไรหรือกำไรน้อยกว่าดอกเบี้ยที่จ่ายออกไป เช่น การที่เรากู้เงินธนาคารไปผ่อนรถยนต์ส่วนตัว เพราะเราจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆในขณะที่รถยนต์ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ แถมมูลค่ารถยนต์เองก็เสื่อมลงไปเรื่อยๆ

การใช้ Leverage ควบคู่กับการบริหารจัดการที่ดีอย่างระมัดระวังจะมีประโยชน์มากและสามารถสร้างผลกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ นักลงทุนที่ซื้อหุ้นธนาคารเองก็กำลังลงทุนกับธุรกิจที่ใช้ Leverage อย่างมหาศาลควบคู่ไปกับการบริหารจัดการที่ดี ธนาคารกู้เงินจากผู้ฝากเงินและนำเงินกู้ที่ได้ไปปล่อยกู้ให้ธุรกิจต่างๆ ลงทุน โดยได้รับผลตอบแทนที่สูงมาจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงินและเหลือเป็นกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ตัวเลขตรงนี้สะท้อนผ่านงบการเงินของธนาคารเองที่มีค่า Leverage สูงถึง 7-8 เท่า (ดูจากค่า D/E ratio) แน่นอนครับการทำธุรกิจ Leverage ขนาดนี้ไม่ง่าย จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีด้วยความระมัดระวังควบคู่กันไป

นักลงทุนเองก็สามารถใช้ Leverage ในการลงทุนได้ แต่ต้องย้ำนะครับว่า Leverage ที่ดีต้องควบคู่กับการบริหารจัดการที่ดี การใช้ Leverage ที่ไม่ได้บริหารดีๆ จะสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรงมาก การซื้อหุ้นผ่านบัญชี Credit Balance ก็เป็น Leverage อย่างหนึ่ง ถ้านักลงทุนที่บริหารจัดการดีๆ กู้เงินมาซื้อหุ้นในสภาวะตลาดที่เอื้ออำนวย ลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีสนับสนุนราคาหุ้น กำหนดจุดคัทลอสท์ พฤติกรรมการลงทุนแบบนี้เรียกว่าการใช้ Leverage ที่ดี 

ในทางตรงข้ามนักลงทุนอีกท่านซื้อหุ้นตามข่าวลือ ไม่ยอมคัทลอสท์ และไม่ติดตามพื้นฐานหุ้นและสภาวะตลาดเลย นิสัยการลงทุนแบบนี้การใช้ Leverage จะอันตรายมากควรหลีกเลี่ยง เพราะอย่าลืมว่าการลงทุนด้วย Leverage คือการลงทุนที่เกินตัวเรา ถ้าลงทุนได้กำไรก็จะกำไรมาก แต่ถ้าผิดทางก็จะขาดทุนมากเช่นกัน

นอกจากบัญชี Credit Balance แล้วในตลาดหุ้นไทยเรา เครื่องมือในการ Leverage ที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือตราสารอนุพันธ์ ได้แก่ Derivative Warrant (DW) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) โดยอัตรา Leverage ของเครื่องมือเหล่านี้จะเรียกอีกอย่างว่า อัตราทด (Effective Gearing) ด้วยกลไกการซื้อขายและลักษณะของตราสารเองทำให้เครื่องมือพวกนี้จะมี Leverage ผ่านราคาที่มันเคลื่อนในกระดาน โดยไม่ได้เป็นการ Leverage แบบที่ไปกู้ยืมเงินกันโดยตรง ตัวอย่างเช่น DW ที่อ้างอิงกับหุ้น A มีอัตราทด 3 เท่า เมื่อราคาหุ้น A ขยับ 1 % ราคา DW ตัวนี้ก็จะขยับ 3 เท่าหรือ 3% นักลงทุนที่ลงทุนบน DW ตัวนี้ก็เสมือนใช้ Leverage อยู่ 3 เท่า เป็นต้น เครื่องมือที่ยกตัวอย่างมานี้เหมาะสำหรับนักลงทุนในกลุ่มที่มีนิสัยการใช้ Leverage ที่ถูกต้อง แต่จะไม่เหมาะกับนักลงทุนอีกกลุ่มที่ยังไม่พร้อมและขาดวินัยในการใช้ Leverage ที่ดี

การด่วนสรุปตัดสินหรือโจมตีว่า Leverage หรืออัตราทดสูงๆ เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงโดยไม่ได้ให้น้ำหนักถึงความสามารถในการจัดการ Leverage ของนักลงทุนแต่ละคน หรือสภาวะตลาดต่างๆ ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก ในความเป็นจริงแล้ว Leverage เป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยง เป็นสิ่งที่นักธุรกิจหรือนักลงทุนสามารถตัดสินใจได้เอง จะเลือกใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของบุคคลมากกว่า