คนไทยในยุคแสวงหาอัตลักษณ์ความเป็นไทย

คนไทยในยุคแสวงหาอัตลักษณ์ความเป็นไทย

อัตลักษณ์ความเป็นไทยเป็นสิ่งสำคัญเสมอสำหรับคนไทยในการผลักดันตนเองมีความภาคภูมิใจในการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ

และเผ่าพันธุ์ไทยที่เราสังกัด อย่างไรก็ตาม ในยุคที่โลกใกล้ชิดกันมากขึ้น ข้อมูลใหม่เข้าถึงการรับรู้ง่ายขึ้น การนิยามความเป็นไทยมิใช่ของง่าย ความไม่ชัดเจนอาจนำมาซึ่งความสงสัย กระทบต่อความไม่มั่นใจในการทำงานทุกด้านข้างต้นได้ กระบวนการแสวงหาอัตลักษณ์ไทยจึงเป็นเรื่องจริงจังสำคัญคนไม่น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ดีกินดีในระดับหนึ่งแล้ว และมีขีดความสามารถพอในการขับเคลื่อนอนาคตของชาติ

ในความเข้าใจของคนไทยที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย เราน่าจะเป็นคนไทยตั้งแต่วันแรกที่เกิดมา ด้วยสภาพแวดล้อมและการขัดเกลาทางสังคมที่พานพบ แต่หลังจากการดิ้นรนเพื่อปัจจัย 4 และความต้องการอื่นๆ ประสบความสำร็จไปแล้ว การหันมาทำความเข้าใจกับตนเองเพื่อถีบตนให้ขึ้นไปอีกขั้นแห่งความภูมิใจ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยให้ตนเองมีความสุขอย่างแท้จริงนั้น เราอาจจะสับสนได้ว่า อะไรคือคุณค่านิยมของความเป็นไทย และในฉากต่อมาที่เรานึกถึงความสามารถในการผลักดันการรักษาความเป็นไทยนั้น การแสวงหาและฟื้นฟูอัตลักษณ์ไทยในสายตาของเราจะเริ่มขึ้น พร้อมๆ กับการเผชิญอุปสรรคที่ส่วนใหญ่มาจากการตีความอัตลักษณ์ไทยของเราเองและของสังคม

เรากำลังอยู่ในยุคของรัฐที่ส่งเสริมความเป็นไทยมากที่สุดยุคหนึ่ง เนื่องจากมีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์แล้วพบว่า การที่จะยกระดับจากประเทศกำลังพัฒนาไม่เลิกนี้ให้กลายเป็นประเทศระดับชั้นที่ดีกว่านี้และประชากรจะมีคุณภาพกว่านี้ได้ ต้องเอา “ความเป็นไทย” ฝังเข้าไปให้คนตระหนักอยู่ทุกลมหายใจจะได้รักชาติ ทำทุกอย่างเพื่อชาติ แนวคิดชาตินิยมนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังต้องใช้ความรอบคอบสูง เพราะอุปสรรคและหลุมพรางมีอยู่ทุกแห่ง ตั้งแต่กรอบความคิดของผู้ผลักดัน ไปจนถึงความท้าทายจากอัตลักษณ์อื่น

การรับรู้และพยายามส่งเสริมอัตลักษณ์ไทยจากภาครัฐอยู่ภายใต้กรอบคิดประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบจารีตที่เรียนกันมาสมัยเด็ก ตั้งแต่เรื่องที่มาของคนไทย พงศาวดาร ความกล้าหาญของบุรพกษัตริย์ การไม่เสียเอกราช การเสียดินแดนให้ฝรั่ง จนถึงเรื่องการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ ตลอดจนประเพณีปฏิบัติต่างๆ แต่ขณะที่การผลักดันแนวคิดให้มีผลในทางปฏิบัติ ไม่ใช่แค่การท่องจำแล้วผ่านเลย เช่น มีการจัดสร้าง จัดกิจกรรมต่างๆ กระตุ้นมากมาย ที่ได้ผลที่สุดคือผูกเข้ากับการท่องเที่ยวและพิธีการสำคัญ นั้นส่งผลบวกในแง่ของการที่เยาวชนรุ่นใหม่รักความเป็นไทยแนวนี้มากขึ้น

แต่ก็ถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่เช่นกันที่รับรู้แนวคิดต่าง ทั้งนี้ เพราะประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเคยอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย ได้หลุดออกมาสาธารณะแล้ว ประวัติศาสตร์ชุดนี้มีความติดดินมากกว่า หลายเรื่องเป็นไปได้ตามตรรก และสอดคล้องกับความคิดร่วมสมัย เช่น คนไทยไม่ได้มาจากอัลไต เหตุการณ์คลาสสิกหลายครั้งมิได้เกิดขึ้นจริง แนวคิดเรื่องอาณาเขตและแม้แต่ชาตินิยมเป็นเรื่องสมัยหลัง ประเพณีปฏิบัติต่างๆ ไม่ใช่ไทยแท้แต่มาจากอินเดีย เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน อัตลักษณ์จากภายนอกก็ถูกผสานเข้าอยู่ในตัวตนหรือเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ความเข้าใจตัวตนของคนไทยเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การที่เป็นคนของโลกมากกว่าคนของรัฐ การไม่มีหรือตีความศาสนาใหม่ไม่ใช่ต้องเป็นพุทธแบบจารีต อัตลักษณ์ท้องถิ่นก็กลายเป็นเรื่องน่าสนใจมากขึ้นเพราะใกล้ชิดตนเองมากกว่าอัตลักษณ์หลักภาคกลาง ทั้งทางด้านภาษา เชื้อสายและประวัติความเป็นมา อัตลักษณ์จีนที่ถูกประเทศมหาอำนาจผลักดันอย่างหนักก็มีส่วนทำให้คนที่มีสาดเลือดผสมไขว้เขว นอกจากนี้ยังมีสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือ การสร้างความแตกแยกด้วยความคิดคลั่งชาติอย่างแรงกล้า เช่น ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ ถือว่าไม่ใช่ไทย จงออกไปจากประเทศนี้ซะ ผลคือ คนจำนวนไม่น้อยมีความคิดโต้กลับและกลายเป็นถอยห่างจาก “ความเป็นไทย” ไปจริงๆ

แม้ว่าจะมีประเด็นให้สับสนใจอัตลักษณ์มากอยู่ แต่นั่นยิ่งกระตุ้นให้คนรุ่นไหนเร่งทำความเข้าใจตนเองมากขึ้น มีการฟื้นฟูอัตลักษณ์ในส่วนที่ชอบขึ้นมาเอง เช่น การเดินเที่ยวในตลาดน้ำหรือเมืองจำลอง หรือดูหนังอิงประวัติศาสตร์ แต่พวกเขาก็ต้องตระหนักว่าถึงแม้หลายอย่างที่พวกเขาชื่นชอบจะ fake บ้าง พิสูจน์ชัดเจนไม่ได้บ้าง แต่ก็เต็มอิ่มในความรู้สึกของพวกเขาได้ พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องถกเถียงปกป้องในประเด็นจริงเท็จกับคนที่เห็นต่าง แต่ในความพอใจที่จะเลือกสิ่งนี้ก็จงต้องเผื่อใจในการรับสิ่งต่าง ถ้าเห็นว่ามันก็ถูกต้องตามตรรกเหมือนกัน หรือทุกอย่างมันก็ไปด้วยกันได้ ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม นั่นจึงจะทำให้การแสวงหาอัตลักษณ์ไทยมีความหมายเชิงสร้างสรรค์อย่างแท้จริง