โค้งสุดท้าย ทบทวน 7 ขั้นตอนเทคนิคลดหย่อนภาษีสูงสุด

โค้งสุดท้าย ทบทวน 7 ขั้นตอนเทคนิคลดหย่อนภาษีสูงสุด

โค้งสุดท้าย ทบทวน 7 ขั้นตอนเทคนิคลดหย่อนภาษีสูงสุด

การวางแผนภาษีถือเป็นการลงทุนตามหลักวางแผนการเงิน เพราะการเสียเงินน้อยลง นั่นหมายถึงการมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ซึ่งการวางแผนภาษีที่มีประสิทธิภาพนั้น สามารถทำให้เรามีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นในปีหนึ่งๆ โดยเฉลี่ย 5-10% ของเงินได้ทั้งปีของเราเลยทีเดียว

โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปีแบบนี้ หลายคนจะเริ่มตื่นเต้นว่าใกล้หมดปีแล้ว จะจับต้นชนปลายอย่างไร ถึงจะทำให้ภาษีในปีนี้ของเราได้คืนมากที่สุด ผมจึงสรุปรวมให้เข้าใจง่ายๆ เป็น 7 ขั้นตอนดังนี้ครับ

1. รวมรายได้ทั้งปีที่ผ่านมา พร้อมประมาณรายได้วันที่เหลือ

นำรายได้ตลอดทั้งปีของเรา ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โบนัส และรายได้เสริมจากช่องทางต่างๆ ที่ได้รับแล้วมารวมกัน จากนั้นบวกด้วยรายได้ที่เราคาดว่าจะได้รับในวันที่เหลือก่อนสิ้นปี

2. ทดลองหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือตามจริง

สำหรับใครที่มีรายได้จากค่าเช่า (เช่น ค่าเช่าบ้าน คอนโด ที่ดิน ยานพาหนะ), ค่าวิชาชีพอิสระ (เช่น แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี), ค่ารับเหมา, และเงินได้อื่นๆ ประเภท 40(8) เช่นค้าขายของออนไลน์ ให้รวบรวมค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานและสามารถระบุได้ว่าเป็นต้นทุนในการทำให้เกิดรายได้ประเภทนั้นๆ มาลองเทียบกับอัตราหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีอัตราตั้งแต่ 10%-92% ขึ้นกับประเภทเงินได้ และให้เลือกใช้อัตราที่สามารถหักได้มากกว่า

3. ทดลองปล่อยหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือรวมคำนวณ

คนที่มีรายได้จากเงินปันผลจากหุ้น/กองทุนรวม/บริษัท ดอกเบี้ยจากธนาคาร/หุ้นกู้/พันธบัตร กำไรจากการขายตราสารหนี้ และการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ ให้ลองคำนวณว่าภาษีที่ได้ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว เทียบกับหากนำรายได้ประเภทนี้มารวมกับรายได้อื่นๆ แล้วจึงคำนวณฐานภาษี แบบใดจะทำให้เสียภาษีน้อยกว่ากัน

4. หักลบด้วยค่าลดหย่อนที่เรามีอยู่แล้ว

นำรายได้ที่ได้จากข้อ 1-3 หักลบด้วย ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส ค่าลดหย่อนดูแลบุตร บิดามารดา ผู้พิการ เงินประกันสังคม โครงการบ้านหลังแรก กองทุนการออมแห่งชาติ ดอกเบี้ยซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย ค่าซ่อมบ้าน-รถน้ำท่วม เงินบริจาคประเภทต่างๆ (เงินบริจาคน้ำท่วม เงินบริจาคทั่วไป เงินบริจาคเพื่อการศึกษา เป็นต้น) และกองทุนหรือประกันที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ที่ได้ซื้อไปแล้วตลอดปี

5. คำนวณฐานภาษีสุดท้าย เพื่อดูความคุ้มค่าก่อนใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเติม

รายการลดหย่อนที่สามารถซื้อได้เพิ่มเติมหลักๆ ในขณะนี้คือ กองทุน LTF, กองทุน RMF, ประกันชีวิต และช้อปช่วยชาติ ทั้งนี้เราต้องมองว่าการที่ได้เงินคืนภาษีถือเป็นส่วนลดลงจากราคาเต็มที่ใช้ในการซื้อรายการลดหย่อนเหล่านี้ เช่น ในกรณีที่ซื้อรายการลดหย่อน 10,000 บาท หากฐานภาษีสุดท้ายของเราอยู่ที่ 10% เราจะได้ส่วนลด 1,000 บาท ในรูปแบบของเงินคืนภาษี หากเราฐานภาษีสุดท้ายของเราอยู่ที่ 25% เราก็จะได้ส่วนลดมากขึ้นเป็น 2,500 บาท เป็นต้น ดังนั้นเราจึงต้องคำนวณดูว่าความคุ้มค่าที่ได้หลังจากได้รับส่วนลดในรูปแบบของเงินคืนภาษีนี้มากเพียงพอที่จะทำให้เราตัดสินใจซื้อรายการลดหย่อนนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งควรเอาที่ความจำเป็นของรายการลดหย่อนนั้นๆ เป็นหลัก เช่น กรณีของช้อปช่วยชาติ ควรจะใช้กับสินค้าที่เรามีความต้องการใช้อยู่แล้ว หรือมองว่าคุ้มค่าในกรณีที่สินค้านั้นลดราคาลงมาเป็นต้น ไม่ใช่ซื้อเพียงเพราะกลัวเสียสิทธิ์

6. เลือกรายการลดหย่อนเพิ่มเติมจากผลตอบแทนที่ได้

หากต้องการซื้อกองทุน LTF/RMF เพิ่มเติม ควรดูจากผลประกอบการย้อนหลังช่วง 3-5 ปี รวมถึงเลือกกองที่ผลตอบแทนสม่ำเสมอ (ไม่ใช่ว่าสูงโดดขึ้นมาเพียงบางช่วง) โดยโค้งสุดท้ายนี้ ยิ่งใกล้สิ้นปีมากขึ้นเท่าไรราคามักยิ่งปรับตัวสูงขึ้น จึงควรรีบซื้อให้เร็วที่สุด และหากต้องการซื้อประกันควรดูจากผลตอบแทนและทุนประกันที่คุ้มครองว่าคุ้มค่ากับแต่ละบาทที่จ่ายไปหรือไม่

7. ใช้ตัวช่วยเพิ่มความรวดเร็วและถูกต้อง

การคำนวณทั้ง 6 ขั้นตอน อาจต้องมีปรับและทำวนไปหลายรอบ เช่นพอเราซื้อรายการลดหย่อนเพิ่มแล้ว ค่าภาษีก็ลดลงอีก ก็อาจต้องปรับใหม่อีก ดังนั้นในโค้งสุดท้ายของการวางแผนภาษีแบบนี้ ผมอยากแนะนำท่านผู้อ่านลองใช้ iTAX ทาง Web หรือ Mobile App) ซึ่งสามารถช่วยในการจัดการวางแผนภาษีทั้ง 6 ขั้นตอนดังกล่าวนี้ให้ท่านโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว ซึ่ง iTAX ยังได้ทำการรวบรวมและจัดอันดับรายการลดหย่อนภาษีที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าและตรงกับความต้องการมากที่สุดใน www.itax.in.th/market อีกด้วย

หากท่านผู้อ่านลองนำเทคนิคไปใช้แล้วได้ผลหรือมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอย่างไรสามารถเขียน Inbox มาหาผมได้ที่ www.facebook.com/drthuntee นะครับ