เมื่อ ก.ล.ต. กำลังจะนำ ICO เข้าห้องทดลอง

เมื่อ ก.ล.ต. กำลังจะนำ ICO เข้าห้องทดลอง

ในตอนที่แล้ว ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการระดมทุนโดยการเสนอขายเหรียญดิจิทัล (Initial Coin Offering หรือ ICO) และ

ประเด็นสำคัญของการกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐแล้วนะคะ เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลกระบวนการทำ ICO ในประเทศไทย นับว่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ที่ดำเนินการได้รวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทีเดียว ในช่วงแรก ก.ล.ต. จะเริ่มทดลองให้ทำ ICO โดยการเสนอขายผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง (ICO Portal) และจำกัดมูลค่าการเสนอขาย ผู้เขียนจึงขอลองวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับนิยามความหมายของเหรียญดิจิทัลและกระบวนการทำ ICO ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ผู้เขียนได้ตั้งคำถามไว้ในตอนที่แล้วมาให้ผู้อ่านได้รับทราบกันนะคะ

ในเอกสารรับฟังความคิดเห็นนี้ ก.ล.ต. ได้เสนอให้เพิ่มนิยามหลักทรัพย์ใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์) ไว้ว่า "ส่วนแบ่งร่วมลงทุน หมายถึง สิทธิซึ่งมีข้อตกลงและเงื่อนไขที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ในการได้รับส่วนแบ่งในผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุนในการดำเนินการใดหรือทรัพย์สินใดโดยไม่มีส่วนในการบริหารจัดการการดำเนินการ (day-to-day operation) แต่ไม่รวมถึงหลักทรัพย์ที่มีการประกาศกำหนดไว้แล้วภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535" จะเห็นได้ว่านิยามดังกล่าวมิได้เจาะจงถึงเหรียญดิจิทัลที่ออกในการทำ ICO เท่านั้น แต่อาจครอบคลุมถึงการระดมทุนในรูปแบบอื่นด้วย ซึ่งแตกต่างจากการกำหนดประเภทหลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ เช่น หุ้น หุ้นกู้ เป็นต้น

แม้ข้อดีของการกำหนดนิยามให้มีลักษณะทั่วไปจะทำให้สามารถครอบคลุมถึงหลักทรัพย์ใหม่ในอนาคตได้ก็ตาม ข้อเสียคืออาจทำให้จู่ ๆ ธุรกรรมในปัจจุบันกลายเป็นหลักทรัพย์โดยไม่ได้เจตนา ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่านิยามของหลักทรัพย์ใหม่นี้อาจต้องกำหนดให้มีความหมายแคบลงมา หรือแก้ไขเพิ่มเติมนิยามของหลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมถึงเหรียญดิจิทัลแทน เช่น ให้หุ้นกู้ มีความหมายรวมถึงสิ่งที่แสดงถึงสิทธิเรียกร้องในหนี้ต่อผู้ออกสิทธินั้น และ/หรือตีความให้เหรียญดิจิทัลที่มีลักษณะโครงสร้างของสิทธิใกล้เคียงกับหลักทรัพย์เดิมที่มีอยู่แล้วภายใต้ พรบ. หลักทรัพย์ ก็น่าจะเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ ก.ล.ต. มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแลได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้เสนอนิยามของ ICO ไว้ว่า "กระบวนการไอซีโอ หมายถึง การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ที่ใช้วิธีการทางดิจิทัลกำหนดสิทธิของผู้ถือหลักทรัพย์ จัดเก็บทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ และบังคับข้อตกลงระหว่างผู้ออกหลักทรัพย์และผู้ถือหลักทรัพย์โดยอัตโนมัติ“ ผู้เขียนเข้าใจจากการอ่านเอกสารรับฟังความคิดเห็นว่า นิยามนี้ต้องการรวมองค์ประกอบของ ICO ในความหมายของ ก.ล.ต. ได้แก่ (1) การระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) (2) เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และ (3) เงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แต่ก็ทำให้เกิดประเด็นตามมาว่าเนื้อหาของนิยาม ”กระบวนการไอซีโอ“ ไม่มีส่วนใดสื่อถึงเหรียญดิจิทัล หรือส่วนแบ่งร่วมลงทุนเลย นอกจากนี้ คำว่า ”หลักทรัพย์“ ที่ใช้ในนิยามข้างต้นอาจจะกินความถึงหลักทรัพย์ประเภทอื่นนอกจากเหรียญดิจิทัลได้ เช่น หุ้น หุ้นกู้ และคำว่า ”วิธีการทางดิจิทัล“ ตามนิยามนี้มีรูปแบบเป็นอย่างไร หรือควรต้องกำหนดคำนิยามขึ้นมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นิยามของ ”กระบวนการไอซีโอ“ มีลักษณะการนิยามเป็นการทั่วไปเช่นเดียวกับนิยามของ ”ส่วนแบ่งร่วมลงทุน" ดังนั้น ข้อดีและข้อเสียของการนิยามในลักษณะนี้จึงคล้าย ๆ กันตามที่ผู้เขียนได้เสนอไว้แล้วข้างต้น

เห็นได้ว่าแนวทางการกำกับดูแล ICO ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ หน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวกับหลักทรัพย์จะสามารถเข้าไปดำเนินการกำกับดูแล ICO ได้เท่าที่เหรียญดิจิทัลมีลักษณะเป็นหลักทรัพย์เท่านั้น ดังนั้น ความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดคือ หากผู้ออกเสนอขายเหรียญดิจิทัลสามารถวางโครงสร้างของสิทธิในเหรียญดิจิทัลที่เสนอขายให้ไม่มีลักษณะตามนิยามของหลักทรัพย์หรือกระบวนการไอซีโอภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ ก็จะทำให้สามารถเสนอขายเหรียญดิจิทัลได้โดยปราศจากการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ทันที

พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

/////

โดย.... วิภาวัส ยิ่งศักดิ์มงคล