ปรากฏการณ์ ตูน... เพื่อชีวิต กับความล้มเหลวของระบบสาธารณสุข*

ปรากฏการณ์ ตูน... เพื่อชีวิต กับความล้มเหลวของระบบสาธารณสุข*

เฝ้ามองระบบสาธารณสุขไทยที่ครั้งหนึ่งคิดว่าน่าจะเป็นระบบที่มั่นคงแข็งแรงมากที่สุดระบบหนึ่ง

 เมื่อเทียบกับระบบสาธารณอื่นๆ เพราะคนที่อยู่ในระบบสาธารณสุขล้วนแล้วแต่เป็นคนเก่ง และน่าจะเป็นคนดีระดับต้นๆของประเทศ

และที่จริงแล้วก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอดนับร้อยปีตั้งแต่เริ่มต้นระบบสาธารณสุขสมัยใหม่ของประเทศ ความเจริญทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล และเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศไทยเจริญรุดหน้า และถือเป็นระดับแถวหน้าที่ประชาชนคนต่างชาติให้การยอมรับในความรู้ความชำนาญในการรักษาทุกโรคที่อุบัติขึ้นในโลก

แต่นั่นเป็นเพียงเหรียญด้านหนึ่งของระบบสาธารณสุขไทย

เพราะอีกด้านหนึ่งที่เป็นสาธารณสุขสำหรับประชาชนคนไทยที่ไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อรับบริการระดับห้าดาวในสถานพยาบาลเอกชนได้ ต้องยังจมอยู่ในความทุกข์ทุกครั้งที่สมาชิกในครอบครัวตกเป็นผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาพยาบาล

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว พยายามตอบโจทย์นี้ ให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายกว่า 48 ล้านคน ดูเหมือนว่าจะสร้างความพอใจให้กับประชาชนในระยะเริ่มต้น พร้อมทั้งความคาดหวังว่าครอบครัวจะมีความมั่นคงด้านสุขภาพอนามัยมากขึ้น และใช้เวลาทำมาหากินมากกว่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วยนอนอยู่กับบ้าน

แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา กลับเกิดปัญหาใหม่ และดูเหมือนจะใหญ่โตลุกลามมากขึ้นทุกที เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้งบประมาณเพื่อการดูแลแบบถ้วนหน้าไม่สามารถเดินได้อย่างเต็มสูบ ระบบสาธารณสุขของบ้านเราจึงเหมือนเครื่องยนต์สี่สูบ ที่เดินเพียงสามสูบ และกำลังถดถอยมาเหลือสองสูบ พร้อมกับแนวโน้มว่าอาจจะเหลือเพียงสูบเดียวในอนาคตอันใกล้

บุคลากรทางการแพทย์และอนามัยและประชาชนที่มีความห่วงใยได้ออกมาแสดงความเห็นเป็นระยะๆถึงแนวโน้มที่ไม่ค่อยสดใส ประชาชนจำนวนมากร้องเรียนถึงการให้บริการสาธารณสุขที่ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีทางการแพทย์เพิ่มขึ้นนับร้อยคดีในแต่ละปี ขาดบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ กฎเกณฑ์ของระบบสาธารณสุขทำให้เกิดการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานพยาบาลขนาดเล็กไปสู่สถานพยาบาลขนาดใหญ่ ผู้รับการรักษาต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีโอกาสเกิดความสูญเสียมากขึ้น

รัฐบาลเองก็ตระหนักในปัญหาเหล่านี้ และได้แก้ไขเป็นครั้งคราว เช่นเรื่องการขาดพยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์ก็พยายามเจียดงบประมาณเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ แต่งตั้งและบรรจุบุคคลากรทางการแพทย์และพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้พวกเขามีความมั่นคงในการทำงาน มีขวัญกำลังใจมากขึ้น มีระบบการเยียวยาให้ผู้เสียหายทางการแพทย์ที่เกิดจากการรักษาพยาบาลตั้งแต่ระดับต้นโดยไม่รอพิจารณาฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก และขยายเพดานของการเยียวยาสูงถึงสี่แสนบาทในขณะนี้ โรงพยาบาลเองก็รณรงค์ช่วยตัวเองมากขึ้น เพื่อที่จะได้รับเงินบริจาคจากประชาชนมาใช้เสริมค่าใช้จ่ายที่ยังไม่มีงบประมาณพอเพียง และอีกหลายโรงพยาบาลได้ใช้วิธีรัดเข็มขัดในเรื่องค่าใช้จ่ายประจำ ช่วยตัวเองในทุกๆด้านเพื่อให้มีงบประมาณมากพอที่จะให้บริการประชาชน

ปรากฏการณ์คุณ ตูน...วิ่งเพื่อชีวิต ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่งใช้ศักยภาพส่วนตัวจุดประกายให้ประเทศตระหนักถึงความล้มเหลวในระบบสาธารณสุขที่กลายเป็นเรื่องเรื้อรังมานับสิบๆปี แม้ว่าจะเป็นการแสดงออกของคนคนเดียวหรือกลุ่มคนไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ภาพของปัญหาในระบบสาธารณสุขไทยชัดขึ้น

ความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขไทย ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการของรัฐที่ปล่อยให้เกิดความซ้ำซ้อนกันเองภายในระบบ มีหลายองค์กรเข้ามามีบทบาทหน้าที่ทับซ้อน ก้าวก่าย เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรเกิด ระบบสาธารณสุขไทยยังบริหารแบบวิธีเก่าๆ ใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือทั้งๆที่ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารได้รุดหน้าไปมากแล้ว แต่ที่หนักหนาที่สุดคงเป็นเรื่องของความขัดแย้งของบุคลากรในระบบสาธารณสุขที่เรื้อรังต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับสิบๆปี โดยไม่มีรัฐบาลชุดใดออกมาขจัดความขัดแย้งนี้ให้จบลงได้อย่างแท้จริง

ในขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคลากรในระบบสาธารณสุขกับประชาชนผู้ใช้บริการ ทั้งจากปัญหาที่เกิดจากการรักษาพยาบาลและปัญหาจากระบบกฎหมายที่เปิดโอกาสให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคที่ผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีได้ง่าย ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม และภาระการพิสูจน์ตกเป็นฝ่ายแพทย์พยาบาลที่เป็นจำเลย ทั้งๆที่หลักการพิสูจน์ถูกผิดนั้นควรเป็นหน้าที่ฝ่ายโจทย์หรือผู้เสียหายที่เป็นผู้กล่าวหา

แม้ว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจตรงกันว่าการรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บนั้น ไม่ว่าจะทำได้ดีแค่ไหนก็ยังมีข้อจำกัด และหลายโรคที่รักษาก็มีทั้งอาจหายได้หรืออาจไม่หายก็เป็นได้ แต่ประชาชนก็คาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆว่าโรงพยาบาลจะต้องรักษาได้ และเมื่อไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็เกิดความผิดหวัง เสียใจ เศร้าใจ รู้สึกโกรธเกลียดตามมา การเผชิญหน้าระหว่างแพทย์พยาบาลผู้ให้การรักษากับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยกลายเป็นเรื่องเอาแพ้เอาชนะกัน ที่นอกเหนือการดูแลเอาใจใส่ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ที่เคยมีมาตั้งแต่อดีต

ปรากฏการณ์ ตูน เพื่อชีวิต เป็นเพียงปรอทวัดความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขไทย เพราะเงินที่ได้จากการบริจาคสมทบของประชาชนนั้น ถึงอย่างไรก็คงไม่ทำให้ทุกโรงพยาบาลพ้นวิกฤตขาดทุนได้อย่างถาวร และถึงมีอีกหลายสิบ ตูน ออกมาวิ่ง หรือคุณตูนเองจะออกมาวิ่งอีกสิบรอบ ก็คงแก้ไม่ได้ เพราะปัญหานั้นสะสมไว้มากมายจนเกินกว่าที่คนธรรมดาเช่นคุณตูน จะแก้ไขได้เพียงคนเดียว

ในขณะนี้รัฐบาลมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข และจะมียุทธศาสตร์ชาติสำหรับในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ถ้าเราหันกลับมามองปัญหาในระบบสาธารณสุขแบบการแก้ไขโครงสร้างของระบบ น่าจะดีกว่าการแก้ไขปัญหาเป็นจุดๆที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน

  1. ระบบที่ควรแก้ไขก่อนอื่นน่าจะเป็นโครงสร้างที่ควรเป็นแนวนอนมากขึ้น ไม่ควรต้องมีขั้นตอนมากมายหลายระดับ
  2. สถานพยาบาลรัฐควรมีอำนาจจัดการตนเองมากขึ้น สามารถเป็นหน่วยงานรับจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงการคลังได้โดยตรง
  3. บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นผู้มีวิชาชีพทางการแพทย์ควรลงพื้นที่ทำหน้าให้บริการรักษาพยาบาลมากกว่าปฏิบัติงานในสำนักงานเพื่อแก้ไขการขาดแคลนแพทย์ในหลายพื้นที่
  4. งบประมาณสาธารณสุขต้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว เพราะถ้าสาธารณสุขไม่ดี ประชาชนเจ็บป่วย สังคมและชุมชนก็คงเป็นสังคมคนป่วยมากกว่าสังคมที่แข็งแรง แล้วประเทศชาติจะแข็งแรงได้อย่างไร
  5. ระบบการยุติข้อพิพาทแบบใหม่ที่ประกอบด้วยขั้นตอนตั้งแต่ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม จนถึงขั้นอนุญาโตตุลการที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาลยุติธรรมต้องนำมาใช้โดยเร็ว
  6. ยุติการฟ้องคดีแพทย์ในฐานะคดีผู้บริโภค เพราะสถานะของแพทย์พยาบาลเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ถือเป็นการให้บริการของรัฐ ไม่ใช่การให้บริการเชิงธุรกิจ และถ้าผิดพลาดประการใดก็ให้จบลงที่กระบวนการอนุญาโตตุลการทั้งหมด เป็นการถอดคดีผู้เสียหายทางการแพทย์ออกจากคดีความในศาลยุติธรรมอย่างถาวร ช่วยลดคดีที่ขึ้นสู่ศาลโดยไม่จำเป็น และ
  7. การร่วมจ่าย จะต้องเกิดขึ้น และมีผลอย่างมีนัยสำคัญ

ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่เรากำลังจะมีการปฏิรูปในอีกหลายๆระบบ ระบบสาธารณสุขต้องไปด้วยกันกับระบบเศรษฐกิจและการศึกษา เพราะเป็นระบบย่อยของระบบสังคมที่เป็นระบบใหญ่ของประเทศ ถ้าเรายังทำงานแบบแยกส่วนต่างระบบต่างทำ ในที่สุดก็จะเป็นการเดินที่ต่างคนต่างเดินที่แก้ปัญหาที่หนึ่งก็ไปเกิดปัญหาใหม่อีกที่หนึ่ง เหมือนเช่นการแก้ปัญหาสุขภาพโดยใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็กลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้กับระบบบริหารจัดการของรัฐที่ยุ่งยาก ซับซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

 

///

* ชื่อเต็มเรื่อง: ปรากฏการณ์ ตูน... เพื่อชีวิต กับความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขภาครัฐ