แรงงานจากประเทศ CLM กับผลกระทบทางการคลังของประเทศไทย

แรงงานจากประเทศ CLM กับผลกระทบทางการคลังของประเทศไทย

แม้นจะเป็นที่กล่าวขานกันว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0 แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการผลิตของไทยยังคงเป็นการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น

(labour-intensive production) อยู่ โดยผู้ประกอบการในหลายภาคการผลิตยังมีความต้องการแรงงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะพิเศษเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ เพื่อเป็นการทดแทนความขาดแคลนในหลายกิจการ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว และ เมียนมา (CLM) โดยทั่วไป การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติย่อมมีผลกระทบทางการคลัง (fiscal impacts) ต่อประเทศเจ้าบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า แรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะยังไม่ลดน้อยลงในเวลาอันใกล้ จนกระทั่งสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทั้ง 3 ประเทศจะพัฒนาดีขึ้น

โครงการวิจัยเรื่อง แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจากประเทศใน AEC กับนัยทางการคลังสำหรับประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ทำการวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนทางการคลัง (fiscal benefit-cost analysis) จากข้อมูลเชิงทุติยภูมิในส่วนของสถิติเกี่ยวกับข้อมูลแรงงานข้ามชาติที่เป็นทางการในภาพรวม และข้อมูลปฐมภูมิด้านพฤติกรรมในการทำงานและการดำรงชีวิต สภาพความเป็นอยู่ การได้รับบริการภาครัฐ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข และการศึกษาของบุตรที่ติดตามมาด้วย

กรอบการประมาณการของงานวิจัย พิจารณาผลประโยชน์และต้นทุนทางการคลัง ที่สามารถแปรงค่าเป็นมูลค่าทางการเงินได้ ซึ่งผลประโยชน์ทางการคลังประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติ ค่าธรรมเนียมการตรวจร่างกาย ค่าประกันสุขภาพ และเงินสมทบประกันสังคม รายได้ภาษีจากการอุปโภคบริโภคของแรงงานข้ามชาติ รายได้ภาษีรัฐบาลจากผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในส่วนของต้นทุนทางการคลัง พิจารณาถึง ต้นทุนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติโดยภาครัฐ ต้นทุนในระบบประกันสังคม ต้นทุนในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้นทุนด้านการคลอดบุตรแรงงานต่างด้าว ต้นทุนด้านสงเคราะห์บุตรและการให้วัคซีนในเด็กต่างด้าว และต้นทุนการศึกษาบุตรของแรงงานข้ามชาติ

จากการวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนทางการคลัง พบว่า สัดส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit to cost ratio) ได้ค่ามากกว่า 1 ภายใต้ทั้งกรณีการประมาณการจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ต่ำสุดและสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญกล่าวคือ สัดส่วนผลประโยชน์และต้นทุนทางการคลัง อยู่ในขอบเขตระหว่าง 2.87- 1.90 และเมื่อลงลึกไปในรายละเอียดของผลประโยชน์ทางการคลัง พบว่า องค์ประกอบของผลประโยชน์ทางการคลังที่มีสัดส่วนมูลค่าที่สูงที่สุดคือ รายได้จากการตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ และเงินสมทบเข้ากองทุน รองลงมาคือ รายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มอันเนื่องมาจากการบริโภคของแรงงานข้ามชาติ และลำดับที่สาม คือ รายได้จากค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติ

ในส่วนของต้นทุนทางการคลัง องค์ประกอบของต้นทุนทางการคลังที่มีสัดส่วนที่สูงที่สุดคือ รายจ่ายด้านสาธารสุข และสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเกือบเป็นสองเท่าในกรณีที่มีการประมาณการจำนวนแรงงานข้ามชาติสูงที่สุด (ประกันสังคม ร้อยละ 9.2 และ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าร้อยละ 63.1 รวมเป็น ร้อยละ 72.3 ของรายจ่ายทั้งหมดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว) รองลงมาคือ ต้นทุนด้านการศึกษาของบุตรของแรงงานข้ามชาติ และลำดับที่สาม คือ ต้นทุนด้านการคลอดบุตร และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ ต้นทุนการคลอดบุตรมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นในปีถัดๆ ไป

โดยสังเขป ผลการวิเคราะห์บ่งชี้นัยทางนโยบายที่สำคัญอย่างน้อยสองประการ ประการที่หนึ่งคือ เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดองค์ประกอบของต้นทุน พบว่า จำนวนแรงงาน มีผลกระทบต่อต้นทุนทางการคลังในด้านสาธารณสุขอย่างมีนัยสำคัญ หากประเทศไทยและประเทศในอาเซียนมองว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน กระทรวงสาธารณสุข โดยการประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศ ควรพิจารณาหาแนวทางขับเคลื่อนให้เกิดระบบการจัดการเพื่อแบ่งเบาภาระทางการคลังด้านสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสามารถนำไปถึงประเด็นการตกลงเรื่องนโยบายระบบประกันสุขภาพ การจัดการทางการเงินสาธารณสุข และการดำเนินงานด้านบริการสาธารณสุขระหว่างประเทศในอาเซียน

ประการที่สอง จากข้อจำกัดด้านข้อมูล ก่อให้เกิดการประเมินต้นทุนทางการคลังที่สูงหรือต่ำกว่าที่เป็นจริงได้ทั้งสองกรณี ในการนี้ หากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ผลักดันการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึงมากขึ้น ก็จะสามารถเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อการวิเคราะห์นโยบายที่เหมาะสมทันต่อสถานการณ์ยิ่งขึ้น

 โดย ... ฆ