Cross Border e-Commerce โอกาสสำหรับ SMEs ไทย

Cross Border e-Commerce โอกาสสำหรับ SMEs ไทย

Cross Border e-Commerce โอกาสสำหรับ SMEs ไทย

สวัสดีครับ

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาโครงการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศและการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งต้องขอแสดงความชื่นชมต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในความพยายามให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

จากงานสัมมนาดังกล่าวมีประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจและอยากจะแชร์กับผู้อ่านทุกท่านครับ

SMEs ที่เริ่มขยายธุรกรรมการค้าสู่ต่างประเทศ ควรเข้าใจถึงวิธีการและหลักการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะภายใต้บริบทของการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และด้วยพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย และตัวเลขการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้อีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทย ควรใช้โอกาสในการขยายธุรกิจจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพื่อเข้าถึงผู้ซื้อ/ผู้ขายที่อาจกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วโลกได้โดยตรง

เป็นที่แน่นอนว่าธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นจะต้องมีการชำระเงินสำหรับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า ซึ่งมีหลากหลายวิธี อาทิ การชำระเงินล่วงหน้า (Advance Payment) การเปิดบัญชีขายเชื่อ (Open Account) ตั๋วเรียกเก็บ (Bill for Collection) และ L/C โดยที่ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกจะใช้บริการธนาคารพาณิชย์หรือเอ็กซิมแบงค์ ในการชำระเงินระหว่างประเทศตามเงื่อนไขของแต่ละวิธี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโอนเงิน การส่งมอบเอกสารในการรับ/ส่งสินค้า (Shipping Document) ซึ่งในแต่ละวิธีแสดงถึง ภาระผูกพันและขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ซื้อ ผู้ขาย และธนาคาร รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจะมีระดับความเสี่ยง ค่าธรรมเนียม และความคล่องตัวที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาซึ่งมีความสำคัญมากคือ ความเสี่ยงจากคู่ค้า ซึ่งความสามารถในการวิเคราะห์ความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของคู่ค้าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการบรรเทาปัญหาจากการผิดข้อตกลง ไม่ว่าจะเป็นการปฎิเสธการชำระเงิน การปฎิเสธการส่งสินค้าหลังจากได้รับชำระเงิน (หรือพูดง่ายๆ คือเบี้ยว) หรือปฎิเสธการรับมอบสินค้า

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากรูปแบบการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงค่าใช้จ่ายในปัจจุบันแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก หรือสตาร์ทอัพ (Startup) ในแวดวงอีคอมเมิร์ซ ซึ่งผมคิดว่า ธนาคารพาณิชย์ และ FinTech มีความพร้อมและความตั้งใจในการเปลี่ยนข้อจำกัดเหล่านี้ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจครับ

โดยธนาคารพาณิชย์สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางเช่นเดียวกับการให้บริการลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ หรือผู้ประกอบการ SMEs ขนาดใหญ่ ในปัจจุบัน กระบวนการรู้จักคู่ค้าและการเลือกคู่ค้าที่ถูกต้อง (Know Your Customer) จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า SMEs ขนาดเล็ก หรือสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มความน่าเชือถือให้กับคู่ค้าทั้งสองฝั่ง รวมถึงการให้คำปรึกษาวิธีการชำระเงินด้วยระบบชำระเงินที่ปลอดภัย ภายใต้รูปแบบ Cross Border e-Commerce Payment หลักการบัญชีและภาษีเบื้องต้น รวมถึงบริการสินเชื่อ และเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ภายใต้กระบวนการหรือเงื่อนไขและเอกสารที่คล่องตัวรัดกุม ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าจะช่วยพัฒนาให้ไทยมี ecosystem ที่เอื้อต่อการเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ให้สามารถก้าวทันเวทีโลกสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนครับ