เปลี่ยนทีละนิดพิชิตเป้าใหญ่

เปลี่ยนทีละนิดพิชิตเป้าใหญ่

ประเด็นที่ผมเกริ่นไว้ใน “Think out of The Box” อยู่เสมอคือความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งเราต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมของธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ จนไม่มีใครที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

การเปลี่ยนแปลงจึงทำให้เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยไม่มีวันสิ้นสุด เพราะการเปลี่ยนแปลงทำให้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ส่งผลกระทบไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว และเพียงไม่นานก็จะกระทบมาถึงตัวเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงนั้นก็เป็นศาสตร์และศิลป์ เพราะบทเรียนทางธุรกิจที่ผ่านมาในอดีตก็สะท้อนให้เราเห็นแล้วว่า การชิงเปลี่ยนแปลงก่อนคนอื่นก็ใช่ว่าจะสำเร็จได้เสมอไป หลายๆ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นก่อนตลาดจะมีความพร้อมเต็มที่จึงมักจะจบไม่สวยคือขายไม่ได้จนอาจทำให้บริษัทต้องขาดทุนและปิดกิจการลงในที่สุด

เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางผลิตภัณฑ์อาจมีเทคโนโลยีพร้อมแล้ว การตลาดก็พร้อมแต่พฤติกรรมผู้บริโภคยังไม่เปลี่ยนตามสินค้าใหม่ก็ไปไม่รอด ซึ่งตัวอย่างแบบนี้มีให้เห็นเป็นประจำโดยเฉพาะสินค้าด้านเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแปลงตามผู้บริโภคจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลกับผลิตภัณฑ์ การตลาด บุคลากร ฯลฯ จำนวนมากจนไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ซึ่งเคล็ดลับที่ดีที่สุดก็คือการจัดลำดับความสำคัญและซอยงานใหญ่ๆ ทั้งหมดให้เป็นงานย่อยๆ และแบ่งเป็นเป้าหมายเล็กๆ

การเดินหน้าตะลุยเปลี่ยนแปลงบริษัททันทีอาจดูเหมือนเป็นเรื่องดีที่รีบชิงเปลี่ยนแปลงก่อนคู่แข่ง แต่บางครั้งการทุ่มกำลังปรับตัวครั้งใหญ่อาจส่งผลตอบแทนกลับมาน้อยกว่าที่คิดหลายเท่า บางองค์กรทำตามลำดับขั้นตอน 1-2-3 แต่ได้ผลสะท้อนกลับมาแค่ 10%-20% จนท้อใจเพราะน้อยเหลือเกิน

อย่างแรกที่ต้องทำก่อนลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรก็คือการแบ่งงานและเป้าหมายออกเป็นหลายๆ ส่วนเพื่อที่เราจะค่อยๆ คืบไปสู่ความสำเร็จทีละขั้น อย่าโหมทำรวดเดียวเพราะทีมงานอาจท้อกับเป้าใหญ่ที่อยู่ข้างหน้าเพราะรู้สึกว่ายากเกินไปจนทำไม่ได้

นอกจากนั้นคือการจัดลำดับความสำคัญของงานแต่ละส่วนเพราะบางงานอาจลงแรงไม่มาก แต่ส่งผลสะท้อนกลับมาได้อย่างมาก ซึ่งจะกระตุ้นให้ทีมงานรู้จักคิดบวก และมีพลังที่จะก้าวต่อไปในงานหน้าและกล้าท้าทายตัวเองด้วยเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น

หลายคนเริ่มเปลี่ยนแปลงด้วยงานยาก แต่ได้ผลน้อยซึ่งสุดท้ายอาจถอดใจและขออยู่เฉยๆ ดีกว่า ซึ่งนั่นคือการรอรับการเกษียณอายุตัวเองก่อนกำหนดทันที ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เพราะนั่นเท่ากับว่าเรายอมรับให้การเปลี่ยนแปลงมาบงการชีวิตเรา

การเปลี่ยนแปลงจึงต้องอาศัยการ “คิดบวก” เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ซึ่งการคิดบวกในที่นี้ต้องเริ่มตั้งแต่ต้น เช่น อย่าสร้างความรู้สึกให้เหมือนเป็นการถูกบังคับ ที่จะทำให้คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแล้วรู้สึกว่าจะโดนลดเงินเดือน จะอดโบนัส เพราะบริษัทจะมีรายได้และผลตอบแทนลดลง

แต่ให้เขาเห็นภาพเชิงบวกที่จะเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงว่าถ้าลงมือเปลี่ยนแปลงแล้วเขาจะได้อะไร แผนกของเขาจะเติบโตแค่ไหน และบริษัทจะมีความสำเร็จได้อย่างไร นั่นคือจูงมือไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เขาภูมิใจและมีความรู้สึกร่วมกับความสำเร็จของบริษัท