จุดเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐ

จุดเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐ

ม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะสามารถพลิกฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี ค.ศ. 2008 ได้ค่อนข้างรวดเร็วและต่อเนื่อง

จนทำให้สามารถมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าของประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศอียูหรือญี่ปุ่นก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังคงมีเรื่องที่น่ากังวลใจอื่นอยู่อีกมากที่ยังเป็นข้อสงสัยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ผ่านมา จะใช่สัญญาณของการเริ่มต้นฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจโลกด้วยหรือไม่

ข้อสงสัยเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่มีมูลเหตุพอรับฟังได้เสียด้วย เพราะหากพิจารณาถึงอัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ในระดับต่ำ จนถือว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าใกล้ระดับการจ้างงานเต็มที่แล้วก็ตาม แต่กลับปรากฎว่า อัตราค่าจ้างแรงงานไม่ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ต่ำกว่าเป้าหมายในระดับ 2% ของคณะกรรมการการเงินสหรัฐ (Fed) ทั้งๆ ที่ผ่านมาระดับอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากมาเป็นเวลานาน 

โดยช่วงก่อนหน้านี้ก็มีการดำเนินนโยบายคิวอี (Quantitative Easing) ขนานใหญ่เสริมเข้าไปด้วยอีกต่างหาก จึงทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าในภาวะการณ์เช่นนี้ หากเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมาอีกในอนาคตอันใกล้นี้ (เนื่องจาก ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐได้ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อีกหากใช้เรื่องภาวะวัฏจักรธุรกิจในอดีตมาเป็นเกณฑ์) 

นโยบายการเงินในส่วนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้อีก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว ในขณะที่การใช้นโยบายคิวอีก็จะมีข้อจำกัดมากกว่าที่ผ่านมา เพราะว่าในเชิงอุปมาแล้วเปรียบเสมือนว่าเหลือกระสุนคิวอีอยู่ไม่มากแล้วนั่นเอง

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็ยังมีปัญหาเศรษฐกิจระยะยาวที่สำคัญและเป็นเรื่องใหม่เข้ามาอีก ซึ่งก็คือปัญหาเรื่องการที่แนวโน้มระยะยาวของมูลค่าผลผลิตมวลรวมที่แท้จริงต่อหัวในช่วงหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินมีค่า “ต่ำกว่า” ตัวเลขการคาดการณ์แนวโน้นเดียวกันนี้ของเมื่อก่อนหน้าที่จะมีเหตุการณ์เวิกฤตการณ์ทางเงิน 

ซึ่งหมายความว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบันที่เข้าใกล้ภาวะการจ้างงานเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ความสามารถในการผลิตโดยเฉลี่ยของแรงงานสหรัฐและอื่นๆ ฟื้นกลับไปอยู่บนเส้นแนวโน้ม (trend) ประสิทธิภาพการผลิตระยะยาวเส้นเดิมก่อนภาวะวิกฤตการณ์ทางการเงินได้ ซึ่งประเด็นนี้ได้กลายเป็นปริศนาคำถามที่นักเศรษฐศาสตร์กำลังพยายามหาคำอธิบายที่ถูกต้องกันอยู่ เพราะลำพังคำตอบเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประชากรในประเทศเหล่านี้นั้น คงจะใช้อธิบายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ในเชิงของประโยชน์สังคมในระยะยาวแล้ว นโยบายการคลังที่ถูกต้องเพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำลงในระยะยาวนี้ ควรจะเป็นการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐในเรื่องของการศึกษาและการวิจัยเพื่อเพิ่มปัจจัยทุนมนุษย์ให้มากขึ้น 

แต่ในเชิงผลประโยชน์ทางการเมืองระยะสั้นเช่นในกรณีของสหรัฐนั้น รัฐบาลปัจจุบันเลือกที่จะผลักดันนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีเป็นลำดับแรก ซึ่งนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีเป้าหมายที่จะปรับอัตราภาษีนิติบุคคลลงมาเหลือเป็นอัตรา 20% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าภาษีที่ลดลงเท่ากับ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีข้างหน้า และเมื่อคำนึงถึงรายได้ที่จะได้จากการเลิกการลดค่าลดหย่อนค่าธรรมเนียมและสิทธิทางภาษีต่างๆ ในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐซึ่งคนชั้นกลางเคยได้รับเป็นส่วนใหญ่ให้ได้ไม่เกิน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีข้างหน้าแล้ว ก็หมายความว่า รัฐบาลยังจะต้องจัดให้มีงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งจะทำให้รัฐต้องกู้เงินเพิ่มมากขึ้น

โดยมีการคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์อิสระบางส่วนว่า นโยบายลดภาษีนิติบุคคลนี้น่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือจากที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจเคยขยายตัวได้ปีละประมาณ 2% ก็จะปรับเพิ่มขึ้นไปได้เป็นปีละประมาณ 2.2% ต่อปีตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่บอกว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ถึง 3-4% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม หากนโยบายปรับโครงสร้างภาษี (ที่มีแนวโน้มจะซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้นด้วย) ของประธานาธิบดีทรัมป์นี้ต้องล้มเหลวในการเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยไม่สามารถกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว และในขณะเดียวกันแผนดังกล่าวก็ยังไปสร้างภาระหนี้ของภาครัฐให้มีเพิ่มมากขึ้นด้วยแล้ว ซึ่งก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นไม่ให้เกิดการลงทุนใหม่ของภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไปในตัวด้วยเพราะรัฐไม่สามารถกู้ยืมได้เพิ่มขึ้นอีก ทั้งหมดนี้ก็จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและต่อค่าเงินดอลลาร์ด้วยอย่างแน่นอน

ตลาดหุ้นสหรัฐที่ผ่านมาที่สามารถขยายตัวทำสถิติใหม่หลาย ๆ รอบเพราะหวังจะได้อานิสงส์จากนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปนั้น ก็คงจะต้องเกิดอาการผิดหวังและพากันปรับตัวจนทำให้ราคาหุ้นในตลาดลดลงได้อย่างมาก 

ขณะเดียวกัน ก็คงต้องจับตาดูท่าทีของประธานคณะกรรมการการเงินสหรัฐ (Fed) คนใหม่ว่าจะดำเนินนโยบายต่อจากประธานคนเดิมในเรื่องของ “การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed Policy Normalization)” อย่างไรบ้าง และจะไปซ้ำเติมการปรับลดของราคาหุ้นในตลาดตามที่กล่าวไปแล้วอย่างไรบ้าง เพราะหากตลาดตื่นตระหนกต่อปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้น จนทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างรุนแรง ก็ย่อมจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐและรวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่จะพากันชะงักงันและถดถอยในที่สุดด้วย 

ผลกระทบจากความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างรอบคอบไว้ล่วงหน้าในเชิงนโยบายเศรษฐกิจอีกมากมายที่นอกเหนือไปจากนโยบายต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น นโยบายประเทศไทย 4.0 หรือการลงทุนเขตเศรษฐกิจ EEC หรือการลงทะเบียนคนจนและมาตรการประชารัฐ หรือแม้แต่ล่าสุดคือมาตรการชช้อปช่วยชาติ เป็นต้น