แนวคิดเกี่ยวกับความอายุยืนของมนุษย์

แนวคิดเกี่ยวกับความอายุยืนของมนุษย์

“I am not afraid of death, I just don’t want to be there when it happens”. “I don’t want to live on in the hearts of my country men.,

I want to live on in my apartment”.

Woody Allen

มนุษย์ทุกคนมีความต้องการที่จะมีอายุที่ยืนยาว ทุกคนกลัวตายดังที่ Woody Allen กล่าวอย่างติดตลกข้างต้น ในส่วนที่ผมเขียนเกี่ยวกับสุขภาพในตอนก่อน ๆ นั้น สรุปได้ว่า หากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้อายุยืนยาวกว่าปกติ 3-5 ปี แต่การอดอาหาร อาจทำให้อายุยืนได้มากกว่าอีกหลายเท่าตัว เช่นการลดการบริโภคเคโลรีลงจากปกติ 30% ก็จะทำให้หนูและลิงอายุยืนยาวขึ้นอีก 30% หรือ 20 ปี แต่ปัญหาคือการอดอาหารดังกล่าวเป็นการทรมานร่างกายและจิตใจอย่างมาก และมีการทำวิจัยเพื่อหายากระตุ้นให้เซลส์อายุยืนยาว แนวทางในการวิจัยดังกล่าวคืบหน้าไปมาก ทำให้ค้นพบสารเคมีที่เชื่อว่ากระตุ้นกระบวนการบำรุงรักษาเซลส์ให้แข็งแรงและหนุ่มแน่นได้ดังที่ผมได้เขียนถึงแล้วในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

การอดอาหารแล้วทำให้อายุยืนขึ้นนั้นเป็นเรื่อง ที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันอยู่ในตัว กล่าวคือ การกดดัน (stress) ร่างกาย โดยการอดอาหารน่าจะทำให้อายุสั้นมากกว่า กล่าวคือ การที่เรามีอาหารกินอยู่อย่างสมบูรณ์ น่าจะทำให้สุขภาพดีและ ช่วยให้มีอายุยืนยาว แต่กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันมีกระแสการอดอาหารเป็นประจำ (intermittent fasting) เช่นการจำกัดการกินอาหารเฉพาะ 6 ถึง 8 ชั่วโมงในหนึ่งวัน เช่น วันใดหากเริ่มกินอาหารตอน 9 โมงเช้า ก็ให้กินอาหารได้ถึง 3 โมงเย็น หรือ 5 โมงเย็นเท่านั้น ห้ามกินอะไรนอกจากน้ำหลังจากนั้น จนกว่าจะถึงเวลา 9 โมงเช้าของอีกวันหนึ่ง หรือจะอดอาหารเต็มวัน 2 วัน เช่นงดกินอาหารในวันอังคารและวันพฤหัสบดีทุกสัปดาห์ก็ได้ การอดอาหารดังกล่าวนั้น เชื่อว่าทำให้มนุษย์อายุยืน ก็เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายเข้าใจว่ากำลังเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร (famine) ทำให้ร่างการพยายามรักษาเนื้อรักษาตัวในระดับเซลส์ โดยดูแลซ่อมแซมตัวเองและกำจัดสิ่งที่เป็นพิษ (autophagy) เพราะจะต้องทำให้ร่างกายอยู่รอดต่อไปให้นานที่สุดจนกว่าจะได้กินอาหารมื้อต่อไป

ทั้งนี้เพราะมนุษย์ก็เหมือนกับสัตว์ทุกประเภทที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ตัวเอง (survival of the specie) กล่าวคือคนไหนที่ตายไปก่อนเพราะร่างกายไม่มีกลไกยืดอายุตัวเอง คนนั้นก็จะไม่สามารถทำให้เผ่าพันธุ์ของตัวเองอยู่รอดต่อไปในอนาคตได้

ในทำนองเดียวกันในกรณีที่มีอาหารเหลือเฟือ ร่างกายของมนุษย์(และสัตว์) ก็จะมุ่งเน้นการขยายเผ่าพันธุ์ (ผสมพันธุ์)มีลูกให้ได้มากที่สุด(เพราะลูกหลานมากก็เป็นการทำให้เผ่าพันธุ์อยู่รอดต่อไปได้) ในกรณีดังกล่าวเมื่อมีลูกมากก็ถือว่าได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ (survival of the specie) สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ร่างกายจะต้องอยู่ต่อไป ร่างกายจะเป็นโรคล้มตายไปก็ไม่เสียหายอะไร

แต่มนุษย์ได้พยายามพัฒนาให้ตัวเองสามารถมีอายุยืนยาวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 200 ปี ที่ผ่านมา กล่าวคือก่อนยุคพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น มนุษย์ มีอายุยืนเฉลี่ยประมาณ 35 ปี แต่วันนี้อายุยืนประมาณ 70 ปี ทั้งนี้พัฒนาการที่สำคัญยิ่ง คือการลดการเสียชีวิตในวัยเยาว์ (อายุ 0-5ปี) ลดลงไปอย่างมาก

สถิติล่าสุดนั้น มนุษย์ที่อายุยืนยาวที่สุดคือ นาง Jeanne Calment ที่ตายในปี 1997 อายุ 122 ปี ซึ่งนักวิจัยที่ Albert Einstein College of Medicine ที่นครนิวยอร์ค วิเคราะห์ว่าสูงเกินกว่าปกติโดยประเมินว่ามนุษย์น่าจะมีอายุยืนได้ไม่เกิน 115 ปี ทั้งนี้โดยวิเคราะห์จากสถิติประชากรใน 41 ประเทศทั่วโลก ซึ่งพบว่ามนุษย์อายุยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 120 ปี ที่ผ่านมา แต่ชะลอตัวลงจนเกือบไม่พัฒนาต่อไปอีกเลยตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ใน 88% ของประเทศที่มีข้อมูลดังกล่าว นักวิเคราะห์จึงนำเอาข้อมูลของประเทศที่มีบุคคลอายุยืนมากที่สุด 4 ประเทศ (ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐ และญี่ปุ่น) มาวิเคราะห์ในรายละเอียดและมีข้อสรุปจากข้อมูลดังกล่าวว่ามนุษย์น่าจะมีอายุยืนยาวได้ไม่เกิน 115 ปี โดยนำเสนอผลการวิจัยออกมาในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

อีกเพียง 8 เดือนให้หลังก็มีนักวิเคราะห์อีก 5 กลุ่มออกมาตำหนิและแย้งข้อสรุปดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าเป็นการคาดการณ์จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด และคัดข้อมูลช่วงทศวรรษ 1990 ออกมา คาดการณ์ต่อออกไปนั้นไม่ได้มีพื้นฐานทางวิชาการใดมารองรับแต่อย่างใด กล่าวคือหาก คาดการณ์จากข้อมูลที่ย้อนหลังไปมากกว่านั้น (คือเอาข้อมูลในช่วง 20-30 ปี ก่อนหน้ามารวมอยู่ด้วย) ก็จะได้ข้อสรุปว่ามนุษย์น่าจะอายุยืนมากขึ้นไปได้อีกเรื่อย ๆ คือ มนุษย์ในปี ค.ศ.2300 น่าจะมีอายุยืนได้ถึง 150 ปี ซึ่งอาจจะน่าสนใจในเชิงวิชาการ แต่ผมและท่านผู้อ่านก็คงจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่เพื่อดูว่าใครผิดใครถูกในวันนั้นครับ