“แนะนำผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่”

“แนะนำผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่”

ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐหรือประธานเฟด (Federal Reserve) ถือเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากประธานาธิบดีสหรัฐ

เพราะเป็นผู้ดูแลนโยบายการเงินและระบบการเงินสหรัฐที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ทุกครั้งที่ผู้ดำรงตำแหน่งนี้เปลี่ยนแปลง จะเป็นที่จับตาของตลาดการเงิน ทั้งในแง่ความรู้ความสามารถและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ เพราะการตัดสินใจด้านนโยบายของประธานเฟดจะกระทบต่อทิศทางนโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ รวมถึงตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก

ล่าสุด เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว มีรายงานข่าวว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐจะเสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวล (Jerome Powell) ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการในคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ ให้รัฐสภาสหรัฐลงมติเห็นชอบดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนต่อไปแทนนางเจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนปัจจุบันที่กำลังจะครบเทอมวาระแรก เมื่อมีข่าวว่านายพาวเวลได้รับเสนอชื่อให้เป็นประธานเฟดคนต่อไป ตลาดหุ้นสหรัฐก็ปรับตัวสูงขึ้นรับข่าวเหมือนให้การตอบรับในทางบวกกับการดำรงตำแหน่งของนายพาวเวล เพราะมองว่านายพาวเวลคงจะสานต่อแนวนโยบายการเงินของนางเยลเลน เพราะได้สนับสนุนแนวทางนี้มาตลอด ซึ่งหมายถึงความต่อเนื่องของนโยบายการเงิน

นายพาวเวลเป็นบุคคลที่คนทั่วไปอาจรู้จักน้อยมาก โดยเฉพาะนอกประเทศสหรัฐ เมื่อเทียบกับบุคคลอื่นๆที่อยู่ในรายชื่อที่คาดว่าอาจได้รับการเสนอชื่อ เช่น นางเยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน หรือ นายจอห์น เทเลอร์ (John Taylor) ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หรือ นายแรนดัล แควเรส (Randal Quarles) รองประธานคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐที่ดูแลเรื่องสถาบันการเงิน เป็นที่รู้จักน้อยเพราะ ที่ผ่านมา นายพาวเวลไม่ค่อยมีบทบาทนำในเรื่องนโยบายการเงินที่เป็นหัวใจของงานธนาคารกลาง ส่วนหนึ่งเพราะนายพาวเวล ไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นนักกฎหมายโดยอาชีพก่อนจะเข้าทำงานด้านการเงินและการลงทุนในภาคเอกชนสหรัฐ ทำให้ความรับผิดชอบของเขาที่ธนาคารกลางสหรัฐจะเกี่ยวกับเรื่องคดีความที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เรื่องนวัตกรรมในภาคการเงินและนโยบายภาครัฐเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชน (housing policy) ซึ่งไม่ใช่งานหลักของธนาคารกลาง

แต่ที่นายพาวเวลได้รับการเสนอชื่อคงมาจากความสามารถและบุคลิกส่วนตัวของนายพาวเวลเองที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ว่าเป็นคนที่มีความคิดดีและมีความสามารถในการประสานกับบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องที่อาจมีความเห็นแตกต่างกัน ให้สามารถนำมาสู่การหาข้อยุติได้ ไม่ใช่จากประสบการณ์การทำงานของเขาในฐานะนักกฎหมายหรือนักลงทุนที่ช่วงหนึ่งเขาเคยทำงานให้กับกลุ่มธุรกิจ Carlyle ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนที่ใหญ่และค่อนข้างเป็นที่กล่าวขาน แต่มาจากความสามารถของเขาในฐานะนักคิดอิสระในช่วงที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์นโยบายที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Bipartisan Policy Center) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่เขาสามารถผลักดันและนำเสนอผลการศึกษาให้รัฐสภาสหรัฐ ทั้งนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลขณะนั้น คือ พรรคเดโมแครต และฝ่ายค้าน คือ พรรคริพับลิกัน ให้เข้าใจถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ถ้ารัฐบาลสหรัฐไม่ยอมผ่านข้อเสนอของประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงนั้น คือ ประธานาธิบดีโอบาม่า ที่เสนอให้รัฐสภาขยับเพดานก่อหนี้สาธารณะของสหรัฐให้สูงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลสหรัฐ ทั้งๆที่เขาเองสนับสนุนและลงคะแนนให้กับพรรคริพับลิกัน ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ ความสามารถดังกล่าวแสดงถึงความทุ่มเทและความเป็นกลาง ซึ่งเป็นบุคลิกสำคัญในตัวเขาที่คนส่วนใหญ่ประทับใจ ที่มองประโยชน์ของประเทศก่อนประโยชน์อื่นๆ ทำให้ประธานาธิบดีโอบาม่าประทับใจและเสนอชื่อเขารับตำแหน่งกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ เมื่อมีตำแหน่งว่าง และได้ต่อวาระให้อีกหนึ่งวาระในโอกาสต่อมา ทั้งๆที่เขาเป็นผู้สนับสนุนพรรคริพับลิกัน

จากความสามารถดังกล่าว ส่วนใหญ่จึงมั่นใจว่ารัฐสภาสหรัฐคงมีมติสนับสนุนให้นายพาวเวลเป็นประธานเฟดหรือผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนต่อไปตามที่ประธานาธิบดีสหรัฐเสนอ ซึ่งคงจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งจะเป็นนักการเงินจากวอลสตรีทอีกคนหนึ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งด้านเศรษฐกิจต่อจากนายสตีเวน มนูชิน (Steven Mnuchin) ที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังที่เคยทำงานให้ธนาคารวานิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) และนายจอห์น เคลย์ตัน (John Clayton) ประธานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ที่เป็นนักการเงินและเคยทำงานให้บริษัทเอกชนหลายบริษัทในภาคการเงินสหรัฐ รวมถึงธนาคารโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs)

ในแง่นโยบายเศรษฐกิจ มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายพาวเวลได้รับการเสนอชื่อ แม้ผลงานด้านเศรษฐกิจของนางเยลเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนปัจจุบัน จะอยู่ในเกณฑ์ดี ก็เพราะนายพาวเวลมีมุมมองด้านโยบายการเงินแบบสายพิราบ คือ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักหาญ ในแง่การทำนโยบาย คือ ไม่สนับสนุนการปรับนโยบายหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงและเร็ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ประธานาธิบดีกำลังมองหาอยู่ในตัวผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ เพราะกลัวผลที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ 

นอกจากนี้บุคลิกที่ไม่ท้าทายและความสามารถในการหาข้อยุติจากความเห็นที่แตกต่าง ทำให้เขาจะไม่มีบุคลิกที่จะหักหาญที่จะสร้างความเสี่ยงด้านนโยบายให้กับประธานาธิบดี ที่สำคัญ นายพาวเวลเป็นคนที่ตลาดการเงินชอบมุมมองของเขาด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ดูจะยืดหยุ่นและมีท่าทีผ่อนคลายมากกว่านางเยลเลนในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน 

โดยเฉพาะในสาระของกฎหมาย Dodd-Frank Act ที่เพิ่มความเข้มงวดให้กับการกำกับดูแลสถาบันการเงินในสหรัฐหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 มีหลายประเด็นที่นายพาวเวลเห็นว่าสามารถผ่อนคลายหรือแก้ไขได้ เช่น เกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก เกณฑ์ห้ามธนาคารพาณิชย์ลงทุนโดยใช้เงินคนอื่นเพื่อตนเอง (Proprietary Trading) และเกณฑ์เงินกองทุนเทียบกับความเสี่ยง ซึ่งทั้งหมดตรงกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ต้องการเห็นกฎระเบียบกำกับดูแลของทางการลดความเข้มงวดลงเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติเหล่านี้ก็ถูกมองว่าอาจเป็นจุดอ่อนของเขาในการทำหน้าที่ ในฐานะประธานเฟด ที่ต้องแบกรับภาระหน้าที่สำคัญสามด้าน คือ นโยบายการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และการเป็นหน้าตาของธนาคารกลางสหรัฐในเวทีเศรษฐกิจและการเงินโลก และที่เป็นห่วงกันก็คือ ความรู้ด้านเศรษฐกิจของนายพาวเวลจากที่เขาไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้เรียนมาในเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน ที่อาจทำให้เขาไม่มีจุดยืนที่เข้มแข็งของตัวเองในเรื่องนโยบาย ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของเขาจะอ่อนไหวต่อความเห็นของคนอื่นๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ นอกจากนี้ ภูมิหลังด้านธุรกิจของเขาก็ถูกมองเป็นจุดอ่อนเช่นกัน ที่อาจทำให้เขาอ่อนไหวต่ออิทธิพลของภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน คือ มีความเกรงใจและไม่เป็นอิสระในการตัดสินใจ ที่สำคัญ ถ้าโจทย์เศรษฐกิจยากขึ้นและต้องการความลุ่มลึกในการตัดสินใจโดยเป็นเรื่องที่ผู้ว่าการธนาคารกลางต้องตัดสินใจและไม่สามารถพึ่งใครได้ เขาจะมีประสบการณ์หรือความสามารถด้านนโยบายพอหรือไม่ที่จะต่อกรกับความท้าทายแบบนี้ รวมถึงการเป็นผู้นำด้านความคิดให้กับเศรษฐกิจโลกในกรณีเกิดภาวะวิกฤตที่ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศอื่นๆทั่วโลกจะยอมรับในแง่ความคิด ให้ความเคารพ และคล้อยตามเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจโลก เหล่านี้คือประเด็นที่ต้องติดตามดู

ต้องขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่และขอเอาใจช่วยเต็มที่ให้การทำหน้าที่ประสบความสำเร็จ แม้จะไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ก็เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน อยู่บ้านละแวกเดียวกันที่กรุงวอชิงตันดีซีสมัยที่ผมทำงานอยู่ที่นั่น ชอบเล่นกอล์ฟและกีต้าร์เหมือนกัน ก็ต้องเชียร์กันไว้ก่อนแบบไทยๆ