อะไรทำให้เกิดผู้บริหารนาโน

อะไรทำให้เกิดผู้บริหารนาโน

เมื่อใดก็ตามที่ผู้บริหารรู้สึกไม่ทันอกทันใจกับผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้การจัดการของตน ผู้บริหารที่เก่งๆ จะย้อนกลับไปดูว่า

ตนเองใช้วิธีการจัดการที่ผิดพลาดคาดเคลื่อนตรงไหนบ้าง แล้วก็สรรหาวิธีใหม่มาแก้ไขในเรื่องนั้น จนขยับผลงานขึ้นมาถึงระดับที่สบายใจได้ แต่ยังมีผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่ลงไปชี้นิ้วสั่งในทุกขั้นตอนด้วยตนเอง ด้วยเชื่อว่าถ้าฉันทำเอง งานสำเร็จดีกว่านี้แน่ ๆ แต่ที่ว่าฉันทำเองนี้ ไม่ใช่สองมือของฉันที่ทำ แต่เป็นไม่รู้กี่มือต่อกี่มือของลูกน้อง หัวสมองเป็นของเจ้านาย มือไม้เป็นของลูกน้อง

ผู้บริหารที่มอบหมายหน้าที่การงานไม่เป็น หรือผู้บริหารที่บริหารไม่เป็น แต่บังเอิญได้มานั่งเก้าอี้ผู้บริหารมักออกอาการหัวสมองเป็นของเจ้านาย มือไม้มาจากลูกน้องให้พบเห็นกันเป็นประจำ ฝรั่งเรียกผู้บริหารแบบนี้ว่าผู้บริหารนาโน แปลว่าฉันสั่งการทั้งหมด ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องน้อย ห้องนำ้ต้องเช็ดต้องถูอย่างไร ซีอีโอลงมาสั่งเองทั้งหมด เมื่อสมองเป็นของเจ้านาย ก็มักเรียกดูข้อมูลจุกจิกไปหมดทุกอย่าง อยากรู้แม้กระทั่งข้อมูลที่พนักงานทำความสะอาดควรจะรู้ แต่ที่น่าแปลกใจขึ้นไปอีก คือชอบชี้นิ้วไปหมดทุกเรื่องก็จริง แต่บอกชัด ๆไม่ได้ว่าต้องทำอะไรจึงจะเป็นไปตามที่ท่านชี้นิ้วเอาไว้ ยิ่งเป็นยุคดิจิทัล ยิ่งชี้นิ้วสารพัดเรื่องดิจิทัลไปตามศัพท์แสงที่ดูทันสมัย แต่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำได้ตามนั้น

เมื่อใดก็ตามที่ไม่ได้ดั่งใจ ก็มักเล่นงานไปรอบตัว กระจกส่องไปรอบตัวหมด แต่ไม่เคยหมุนกลับด้านมามองตนเอง ความบกพร่องทุกอย่างมาจากมือไม้ ไม่ใช่สมอง คำกล่าวที่ได้ยินกันเป็นประจำจากผู้บริหารนาโนคือ ลูกน้องไม่ผูกพันทุ่มเททำงาน ลูกน้องทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ซึ่งความจริงแล้วลูกน้องทำงานกันจนหมดเรี่ยวหมดแรง แต่ไม่เกิดผลงานที่ได้ดั่งใจ เพราะไม่มีใครรู้ว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ ด้วยเหตุที่สมองเป็นของเจ้านายเท่านั้น ดังนั้นใครที่คิดว่าเป็นผู้บริหารแล้วต้องรู้ดีไปทุกเรื่อง สั่งได้ทุกเรื่อง ทำตามที่ฉันบอกแล้วดีเอง คงต้องกลับไปเรียนวิชาการจัดการใหม่อีกหลาย ๆครั้ง เพราะหน้าที่ของท่านคือการจัดการ ไม่ใช่สั่งการ

ผู้บริหารเก่งๆ หลายคนกลายเป็นผู้บริหารนาโนโดยไม่ได้ตั้งใจ เพียงแต่มุ่งมั่นความสำเร็จด้วยความใจร้อนเกินไปหน่อยเท่านั้นเอง เร่งอยากให้ความสำเร็จเกิดขึ้นไว ๆ กลัวว่าจะไม่ทันโรดแมป ซึ่งจริง ๆก็ไม่เห็นจะน่ากลัวอะไรเลย โรดแมปเลื่อนเองไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว ความใจร้อนที่จะเห็นความสำเร็จทำให้ดึงทุกอย่างกลับมาไว้ในมือหมด เลยยิ่งลำบากมากขึ้นกับลูกน้อง 

เพราะคราวนี้จะเดินต่อไปอย่างไรก็ต้องถามท่านก่อน งานใหญ่งานเดียวอาจมีหลายร้อยงานย่อย และงานย่อยมากมายเป็นงานประจำ เมื่อเจ้านายดึงกลับไปหมด งานประจำทั้งปวงที่เป็นงานเล็กงานน้อยก็กลับไปที่ผู้บริหาร ทุกงานจึงมีตัวถ่วงเวลาเพิ่มขึ้นในขั้นตอนการตัดสินใจ ซึ่งที่ตำราบอกว่าผู้บริหารต้องเก่งในการมอบหมายงานนั้น เหตุหนึ่งก็เพื่อลดตัวถ่วงเวลาส่วนนี้นั่นเอง แต่การมอบหมายงาน กับการชี้นิ้วสั่งการเป็นคนละเรื่องกัน มอบหมายให้ทำกับข้าว ทำแค่บอกว่ากับข้าวต้องมีอะไรบ้าง ใครกิน จะกินกันเมื่อไร แต่ชี้นิ้วสั่งการ สั่งตั้งแต่ใช้ครก ใช้กระทะใบไหนบ้าง ไปจนกระทั่งจะเทจากหม้อลงในชามต้องทำอย่างไร โดยชี้นี้วพร้อมปากพูด แต่มือไม่ได้ทำเอง

ความอดทนกับความผิดพลาดที่น้อยเกินไปเป็นอีกเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้บริหารดี ๆ แปลงร่างกลายเป็นผู้บริหารนาโน ท่านเห็นใครทำอะไรพลาดนิดพลาดหน่อย ท่านสรุปเลยว่าปล่อยไม่ได้แล้วฉันต้องทำเอง ถ้าอาจารย์หมอฟันฝึกลูกศิษย์แบบผู้บริหารนาโน เราจะไม่มีหมอฟันใหม่เพิ่มขึ้นแม้แต่คนเดียว การงานทุกงานเกิดความผิดพลาดได้เสมอ และเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องจัดการให้ความผิดพลาดนั้นไม่เกิดขึ้นอีก แต่ต้องจัดการ ไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งให้ทำตามที่ตนเห็นสมควร โดยไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ใด ๆ

ผู้บริหารเก่ง ๆไม่ควรใจร้อนมากเกินไป ควรอดทนต่อความผิดพลาดให้มากขึ้น และใช้การจัดการให้มากขึ้น ปล่อยให้ใครก็ไม่รู้ที่บังเอิญได้มาเป็นผู้บริหารโดยปราศจากฝีมือ ทำหน้าที่ผู้บริหารนาโนไปแทนจะดีกว่าไปเป็นเองเยอะ