ได้เวลาสำหรับ ‘การเมือง 4.0’

ได้เวลาสำหรับ  ‘การเมือง 4.0’

จะปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ จะปรับมากน้อยเพียงใด จะมีทหารน้อยลงหรือพลเรือนเพิ่มขึ้นหรือจะมีนักการเมืองเข้ามาร่วมบริหารประเทศหรือไม่

และ คสช.จะต้องพรรคการเมืองหรือไม่?

ทั้งหมดนี้ผมถือว่าเป็นคำถามที่สะท้อนถึง ความหมกมุ่นแบบเดิม ๆ ของสังคมไทยต่อการเมืองไทยที่ยังไม่สามารถหลุดออกจาก กับดักเดิมๆ

ได้เวลาสำหรับ  ‘การเมือง 4.0’

พูดอีกนัยหนึ่งขณะที่เราตั้งเป้า ประเทศไทย 4.0” แต่การเมืองไทยยังอยู่ที่ 0.4

สำหรับผม ดัชนีชี้วัดว่าการเมืองไทยได้ก้าวผ่าน “ทศวรรษที่หายไป” ได้ก็ต่อเมื่อมีสัญญาณชัดเจนว่าคนดีคนเก่งรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นพอที่จะเข้าสู่เวทีการเมือง

และเป็นการตัดสินใจเข้าสู่การเมืองด้วยความมุ่งมั่นที่พร้อมจะเสียสละเพื่อทำงานให้กับสาธารณะ มิใช่เพียงเพื่อจะแข่งขันกันชนะเลือกตั้งเพื่อได้อำนาจและใช้อำนาจนั้นแสวงหาประโยชน์ให้กับตนและพรรคพวก

วันนี้ ยังไม่มีอะไรที่จะส่อให้เห็นว่าเรากำลังจะก้าวเข้าสู่การเมืองแบบใหม่ที่คนรุ่นใหม่มีความสำนึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

เมื่อคำถามยังวนๆ อยู่กับคนกลุ่มเดิม คำถามก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ นั่นคือคนไหนสนิทกับใครและจะได้ตำแหน่งใด

ไม่มีคำถามว่าคนที่เข้ามามีคุณภาพและประสบการณ์อันใด และมีแนวคิดการแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ประเมินว่าเขาเหล่านั้นสามารถทำหน้าที่ตามที่รับปากเอาไว้หรือไม่

เราจะวัดคุณภาพการเมืองของเราได้อย่างไร?

เราจะยกระดับการเมืองเราให้ถึงระดับ 4.0 ได้อย่างไร?

อะไรคือการเมือง 4.0?

คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่าเราตระหนักร่วมกันหรือยังว่าการทำงานการเมือง (ที่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ) นั้นหมายถึงการอาสาเข้ามาบริการจัดการให้สอดคล้องกับความคาดหวังของประชาชนโดยที่ผู้เสนอตัวจะต้องมีวิสัยทัศน์, แผนงาน, และเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร, ทำอย่างไรและจะวัดผลของการทำงานอย่างไร?

การเมืองไทยจะเป็น 4.0 ได้ต้องได้คนที่มีคุณภาพ 4.0 และการจะได้คนมาตรฐานเช่นนี้ย่อมแปลว่าคนที่เก่งที่สุดดีที่สุดประสบการณ์มากที่สุดจะต้องพร้อมเข้ามาทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองอย่างเต็มใจ พร้อมจะเสียสละ และเคารพในความต้องการและคาดหวังของประชาชน

บ้านเมืองไทยผ่านความขัดแย้งที่ทำร้ายประเทศชาติมากว่า 10 ปี จนการเมืองตีบตัน ทหารก่อรัฐประหารด้วยการอ้างว่านักการเมืองไม่สามารถจะหาทางออกจากความขัดแย้ง ผ่านมาสามปี คำว่า “ปรองดอง” และ “ปฏิรูป” ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมแต่อย่างไร

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นไปตาม Roadmap หรือไม่อย่างไรก็ตาม) จะนำพาการเมืองประเทศไปสู่ระดับที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ยังไม่มีใครบอกได้

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีตัวเลือกให้กับประชาชนที่สร้างความกระตือรือร้นหรือความหวังมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาหรือไม่?

คำตอบคือยังมองไม่เห็น

แต่เราจะตกอยู่ในสภาวะของการปกครองภายใต้ระบอบรัฐประหารไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้อนาคตบ้านเมืองก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะเส้นทางนี้ไม่อาจจะให้คำตอบได้ว่าประชาชนจะมีสิทธิมีเสียงในการปกครองอย่างเต็มที่ได้อย่างไร

ความหวังของผมอยู่ที่คนรุ่นใหม่จะมองการเมืองเหมือนกับการทำ startup ที่จะประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยการสร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาที่วงการนี้เรียกว่า pain points อันหมายถึงปัญหาที่เห็น ๆ อยู่และสร้างความปวดร้าวให้เป็นประจำ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที

ประชาธิปไตยไทยยุคใหม่จึงต้องคิดอย่างดิจิทัล ต้องคิดนอกกรอบ สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของไทยเอง และทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน มิใช่เฉพาะนักการเมืองหรือนักการทหารไม่กี่ร้อยคนอย่างที่เราประสบตลอดเวลาที่ผ่านมา!