คนไทยใจบุญแค่ไหน?

คนไทยใจบุญแค่ไหน?

ในเวลาเพียงไม่กี่วันยอดบริจาคให้กับคุณตูน บอดี้แสลมได้ทะลุหลักร้อยล้านไปเรียบร้อยแล้ว เห็นยอดบริจาคที่พุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่นี้

เราจะสรุปได้หรือไม่ว่าคนไทยเป็นคนใจบุญ ชอบที่จะช่วยเหลือคนอื่น

สถิติหนึ่งที่จะช่วยให้เราเป็นภาพระดับความใจบุญของคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น คือ ข้อมูลจาก CAF World Giving Index ที่จัดทำโดย Charities Aid Foundation การจัดอันดับนี้ใช้ข้อมูล 3 ตัว คือ ข้อมูลการช่วยเหลือคนแปลกหน้า ข้อมูลการบริจาคเงิน และข้อมูลการทำงานอาสาสมัคร แล้วนำเอาข้อมูล 3 ตัวนี้มาทำเป็นคะแนนเพื่อจัดอันดับประเทศจำนวน 140 ประเทศ ตารางที่นำเสนอเป็นข้อมูลการจัดอันดับของปี 2559

คนไทยใจบุญแค่ไหน?

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ประเทศที่เป็นอันดับหนึ่ง คือ เมียนมาร์ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย หากดูเฉพาะด้านการบริจาคเงิน ประเทศที่มีอันดับสูงที่สุด คือ เมียนมาร์ ซึ่งแม้ว่ารายได้ต่อหัวจะต่ำกว่าอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่กลับมีสัดส่วนของคนที่บริจาคเงินมากถึงร้อยละ 91 ของคนในประเทศ ส่วนประเทศไทยมีสัดส่วนของคนที่บริจาคเงินใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สะท้อนให้เห็นว่า เราเองก็มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในด้านนี้มากเป็นระดับต้นๆ ของโลกเหมือนกัน

แต่ถ้าเราไปดูดัชนีอีก 2 ตัว คือ ร้อยละของคนที่ช่วยคนแปลกหน้า และการสละเวลาไปทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือสังคม จะเห็นว่าสัดส่วนของเราลดลงอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะในด้านการทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือสังคม ที่มีเพียงร้อยละ 17 ของคนไทยเท่านั้นที่ทำเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงระดับการมีจิตสาธารณะ รวมถึงการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เพราะการไปร่วมกิจกรรมแบบนี้จะต้องพาตัวไป ต้องเสียสละเวลา และต้องเหนื่อย ไม่สะดวกเหมือนการจ่ายเงินบริจาค

หากจะบอกว่า เพราะประเทศเรายังมีคนจนอยู่เยอะ ก็ต้องให้คำตอบด้วยว่า แล้วทำไมศรีลังกากับอินโดนีเซียซึ่งจนกว่าเราถึงมีคนทำเรื่องนี้เยอะว่ากว่าเราเป็นเท่าตัว? การเอารายได้มาเป็นข้ออ้างจึงไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้น

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนที่ต่ำก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่บอกว่าคนไทยเห็นแก่ตัว ทุกครั้งที่มีเรื่องใหญ่ที่ส่งผลต่อคนหมู่มาก คนไทยเองก็ไม่ลังเลที่จะทุ่มเทแรงกาย เวลา และทุนทรัพย์ ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติกันอย่างน่าชื่นชม เราได้เห็นพลังความดีเหล่านี้อยู่หลายครั้ง คำถามจึงไม่ใช่คนไทยมีน้ำใจหรือไม่ แต่เป็นคำถามว่า ทำอย่างไรคนไทยจึงจะแสดงออกถึงความมีน้ำใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศชาติและสังคมให้ดีขึ้น

เรื่องความมีน้ำใจเกื้อกูลกันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราโชวาทของไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2521 ว่า

คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไปและเดี๋ยวนี้ด้วย เมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้

การวิ่งของคุณตูนได้จุดประเด็นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขในบางด้าน คนที่เห็นด้วยมองว่านี่เป็นอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเชิงสังคมที่ทำให้คนมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นโอกาสที่ได้มาร่วมกันคิดว่าทำยังไงเราถึงจะแก้ปัญหาบางประเด็นของระบบสาธารณสุขเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่ดีขึ้นได้ สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วย มองว่าวิ่งไประดมเงินไปก็เท่านั้น สุดท้ายปัญหาเชิงระบบก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม หากใช้แง่คิดของพระองค์ท่านมาเป็นมุมในการมอง การได้เห็นรอยยิ้ม ความรัก ความสามัคคี ของคนในชาติที่มีภูมิหลังต่างกันมันบอกอะไรบางอย่างกับสังคมไทย จริงอยู่การวิ่งของคุณตูนคงไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไปในเหมือนกับที่หลายคนติงไว้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยสักนิด เพราะสิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่ยอดเงินบริจาค แต่เป็นตัวอย่างทำตัวเป็นต้นแบบที่ดีเพื่อแสดงให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองคือหน้าที่ของคนไทยทุกคน ลุกขึ้นมาทำในส่วนที่เราทำได้ และทำมันให้ดีที่สุดก็พอ เพราะที่นี่คือบ้านของเรา