ญี่ปุ่นและดุลยภาพใหม่ของเอเซียตะวันออก

ญี่ปุ่นและดุลยภาพใหม่ของเอเซียตะวันออก

ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการแก้ปัญหาภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ เนื่องจากนโยบายไม่เจรจาของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ

ทำให้ญี่ปุ่นมีทางเลือกในการแก้ปัญหาเพียงสองทางคือมาตราการทางการค้าและปฏิบัติการทางการทหาร ซึ่งในปัจจุบันนั้น การกดดันด้วยมาตราการทางการค้าไม่สามารถทำให้เกาหลีเหนือยอมละทิ้งการพัฒนาและครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้ ในขณะที่ปฏิบัติการทางการทหารที่จะมีสหรัฐฯเป็นแกนนำเป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงและต้นทุนสูงมาก และจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีใต้และจีน 

อีกทั้งญี่ปุ่นเองก็มีข้อจำกัดด้านรัฐธรรมนูญที่ทำให้ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐฯได้เพียงแค่การช่วยเหลือสหรัฐฯจากการถูกโจมตีและการส่งกำลังบำรุงในแนวหลังเท่านั้น นอกจากนั้น สถานการณ์โดยรวมยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในทิศทางที่เป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการแก้ปัญหาของญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเกาหลีเหนือมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการติดต่อกันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศและการที่จีนแสดงท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นในการป้องปรามสหรัฐฯในทางการทหาร โดยทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่การประชุมใหญ่ของพรรคคอมมูนิสต์ของจีนเสร็จสิ้นลงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ปัญหาภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความสัมพันธ์ที่ญี่ปุ่นมีกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศในเอเซียตะวันออก และนอกจากกรณีของเกาหลีใต้แล้ว ปัญหาความสัมพันธ์นี้มีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯเป็นสาเหตุสำคัญ เนื่องจากญี่ปุ่นมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสหรัฐฯในด้านความมั่นคงในขณะที่สหรัฐฯมีความขัดแย้งกับจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือมาอย่างยาวนาน 

อีกทั้งญี่ปุ่นยังให้การสนับสนุนแผนการหรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่สหรัฐฯที่มีต่อประเทศเหล่านี้มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือญี่ปุ่นซื้อความมั่นคงของตนเองจากสหรัฐฯด้วยราคาของความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในกรณีของเกาหลีเหนือนั้น ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและญี่ปุ่นมีสาเหตุมาจากการที่ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯและยินยอมให้สหรัฐฯเข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ภายในประเทศ

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาเกาหลีเหนือด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวของอาเบะจึงให้ความสำคัญกับการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ที่เป็นมิตร โดยมีการลดระดับการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯเป็นข้อเสนอสำคัญ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่รากฐานและมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงดุลยภาพของอำนาจในเอเซียตะวันออกและโลก

 โดยในกรณีของเกาหลีเหนือนั้น การลดระดับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯคือการลดเงื่อนไขของความเป็นศัตรูระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีเหนือโดยตรง และยังสามารถใช้เป็นเงื่อนไขในการโน้มน้าวให้จีนและรัสเซียทำหน้าที่รับประกันความมั่นคงของญี่ปุ่นและเอเซียตะวันออกแทนสหรัฐฯได้อีกด้วย นอกจากนั้น วิธีการนี้ยังมีผลครอบคลุมไปถึงการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างฐานทัพสหรัฐฯในญี่ปุ่นกับชุมชนที่อยู่แวดล้อม โดยเฉพาะในกรณีของโอกินะวะที่ประสบกับปัญหานี้มาอย่างยาวนาน

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าวิธีการนี้จะชี้นำเอเซียตะวันออกให้พยายามออกจากดุลยภาพทางการเมืองเดิมที่สร้างความขัดแย้งและไร้เสถียรภาพเพื่อไปสู่การมีดุลยภาพทางการเมืองใหม่ที่ดีขึ้น แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้ว วิธีการนี้ไม่ได้ให้หลักประกันใดๆที่จะให้ความมั่นใจกับญี่ปุ่นได้ว่าเมื่อญี่ปุ่นลดระดับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯลงแล้ว ญี่ปุ่นจะไม่ถูกครอบงำหรือถูกคุกคามมากยิ่งขึ้นจากจีนที่มีข้อพิพาทกับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน 

โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ญี่ปุ่นขัดแย้งกับจีนมากขึ้นในกรณีหมู่เกาะเซนกะกุและทะเลจีนใต้ นอกจากนั้น การพัฒนาศักยภาพทางการทหารเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับความมั่นคงของตนเองในระยะยาวหลังจากที่ญี่ปุ่นลดระดับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯลงแล้ว อาจบั่นทอนความไว้วางใจที่ประเทศเพื่อนบ้านมีต่อญี่ปุ่นได้ ทั้งนี้ ยังไม่รวมไปถึงการตอบโต้และการขัดขวางจากสหรัฐฯที่จะเห็นว่าญี่ปุ่นแปรพักตร์ไปจากตน

สำหรับจีนแล้ว การลดลงของอิทธิพลของสหรัฐฯในเอเซียตะวันออกย่อมเป็นสิ่งที่จีนปรารถนา แต่ถ้าจีนใช้วิธีการนี้เป็นหนทางในการคุกคามหรือครอบงำญี่ปุ่น จีนก็จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เอเซียตะวันออกไม่สามารถออกจากดุลยภาพทางการเมืองปัจจุบันได้ และจีนก็จะต้องวนเวียนอยู่กับปัญหาความขัดแย้งที่มีที่มาจากดุลยภาพนี้อยู่ต่อไป หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือการคุกคามจากจีนกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองขึ้น

 ซึ่งจะทำให้เอเซียตะวันออกกลายเป็นแบบจำลองย่อส่วนของโลกในยุคสงครามเย็นที่เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างคู่ขัดแย้งที่ต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น ความยุติธรรม ความไว้วางใจ และการแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจาบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จีนจะสามารถใช้โน้มน้าวให้ญี่ปุ่นมองเห็นความเป็นไปได้ของการสร้างดุลยภาพใหม่ของเอเซียตะวันออกร่วมกัน

แม้การแก้ปัญหาภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือด้วยการมุ่งไปสู่ดุลยภาพใหม่จะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมากในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับสหรัฐฯและมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับจีนและเกาหลีเหนืออย่างหนักเช่นในปัจจุบัน แต่ในสถานการณ์ที่วิธีการแก้ปัญหาของอาเบะไม่ได้ผลและบีบบังคับให้เกิดการใช้ปฏิบัติการทางการทหารที่มีโอกาสจะขยายตัวไปเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้นั้น การถอยออกจากข้อจำกัดของกรอบความคิดเดิมเพื่อแสวงหาทางเลือกใหม่เป็นสิ่งที่จำเป็น

วิกฤตการณ์เกาหลีเหนือครั้งนี้สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนไปสู่ดุลยภาพใหม่ของเอเซียตะวันออกได้ และสำหรับญี่ปุ่นแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะต้องเริ่มต้นจากการยอมรับว่าการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นส่ิงที่ญี่ปุ่นไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป 

///

โดย... ภาคภูมิ วาณิชกะ

ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย