กัมปง ไอเยอร์: หมู่บ้านน้ำแหล่งกำเนิดของประเทศบรูไน (2)

กัมปง ไอเยอร์: หมู่บ้านน้ำแหล่งกำเนิดของประเทศบรูไน (2)

สภาพกัมปงไอเยอร์ในช่วงเริ่มต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมัชปาหิต จนราวปีคริสต์ศตวรรษที่ 15

มัชปาหิตเสื่อมลงดินแดนต่างๆ แยกตัวเป็นอิสระ มะละกามีบทบาทแทนที่ ทั้งการเมือง การค้าและศาสนา ศาสนาอิสลามจากเมืองมะละกามีอิทธิพลต่อเกาะบอร์เนียว ทำให้มุสลิมมีความเข้มแข็งมากขึ้น และหลังจากมะละกาตกอยู่ในอำนาจของโปรตุเกส บรูไนกลายเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในหมู่เกาะมลายูตะวันออก อย่างไรก็ตามศาสนาอิสลามเข้ามาก่อนศตวรรษนี้แล้วในหมู่คนชั้นล่าง ในบรูไนเริ่มเผยแพร่สู่คนชั้นสูงเมื่อกษัตริย์บรูไนองค์อะวัง อะลัค เบตาตาร์ (Awang Alak Betatar) เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนชื่อเป็นสุลต่านมุฮัมหมัด ชาห์ (Muhammad Shah) พระองค์ยังได้อภิเษกกับราชธิดาเมืองยะโฮร์ จึงเท่ากับว่าสุลต่านมุฮัมมัดชาห์เป็นองค์แรกที่เป็นผู้นำศาสนาอิสลามในบรูไน หลังเมืองมะละกาถูกโจมตีโดยโปรตุเกส บรูไนเป็นเมืองหนึ่งที่รุ่งเรืองอยู่บนเกาะบอร์เนียว ชาวยุโรปชาติแรกที่มาบรูไนเป็นพ่อค้าโปรตุเกสชื่อ Varthema ในปี ค.ศ. 1507 เขาได้เขียนเกี่ยวกับความรุ่งเรืองของท่าเรือสินค้าบรูไน และยังเป็นที่ถวายของกำนัลให้กับกษัตริย์โปรตุเกส ในบันทึกได้ระบุไว้ว่า “ความสำคัญของบรูไนคือศูนย์กลางการค้าระหว่างเกาะโมลุกกะกับมะละกา บรูไนเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยในภูมิภาคนี้ เป็นเพราะความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ทองคำ ท่าเรือ และเส้นทางการค้าที่กว้างใหญ่“ หลังจากนั้นมีชาวยุโรปอื่นๆ จากบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์ของ Antonio Pigafetta นักเดินเรือชาวเวนิส ระบุการมาเยือนกัมปงไอเยอร์ของเขาใน ค.ศ.1521 พร้อมกับนักสำรวจชาวโปรตุเกสชื่อ Ferdinand Magellen ในกองเรือสเปน Pigafetta ได้กล่าวถึงวิถีชีวิตของคนในกัมปงไอเยอร์ว่าเมืองนี้โดยทั่วไปสร้างอยู่บนน้ำทั้งสิ้น เว้นแต่วังหรือเรือนของผู้สูงศักดิ์....บ้านสร้างด้วยไม้ และสร้างอยู่บนเสาสูง ในระหว่างน้ำขึ้นมีหญิงพื้นเมืองนั่งเรือขายของประทังชีวิต

มีบันทึกของ Franciso de Sande ชาวสเปน ในปี คศ 1578 ที่เขียนว่า..เป็นเมืองใหญ่และรุ่งเรือง สร้างครอบคุลมเหนือน้ำ และอยู่ลึก ๆ ดูเหมือนจะเป็นเมืองเวนิสอีกแห่งหนึ่ง บ้านเรือนสร้างด้วยไม้ แต่ละหลังแสดงความสามารถในด้านก่อสร้าง หลายหลังถูกเคลือบด้วยทอง โดยเฉพาะวังกษัตริย์  และในสมุดบันทึก Boxer Codex ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ต่างๆ ในหมู่เกาะพิลิปปินส์ ได้มีการบันทึกเรื่องราวของกัมปงไอเยอร์บรูไนที่ระบุ ปี คศ 1590-1593 โดยกล่าวว่า...เกี่ยวกับชุมชนน้ำนี้ ครึ่งหนึ่งของระยะทางจากมัวรา (หมายถึงเขตที่ตั้งเมืองบันดาร์เสรีเบกาวัน) มีสิ่งก่อสร้างตามแนวฝั่งแม่น้ำบรูไน ส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของวังและศูนย์บริหารราชการของกษัตริย์ มีผู้อาศัยราว 80,000  คน อาศัยในบ้านที่สร้างบนเสาไม้สูงเหนือน้ำ บ้านทำด้วยไม้ หลังคามุงจาก บ้านจำนวนมากสร้างชิดติดกัน เมื่อไฟไหม้ลามติดต่อไปอย่างรวดเร็ว มีเรือเล็กๆ จำนวนมากที่เรียกว่า “Bancas” สำหรับการเดินทางขนส่งไปมา....

การค้าขายในกัมปงไอเยอร์โบราณใช้เรือเล็กใส่สินค้า มีผู้หญิงนั่งเรือเร่ขายตามบ้านต่างๆที่เรียกว่า บีดาร์ (Bidar) เป็นทั้งคนพายและคนขาย แม่ค้าเรือใส่หมวกขนาดใหญ่ป้องกันแดดฝน ใส่ผ้าถุงที่เรียกว่า โสร่ง บินิ การค้าแบบนี้เชื่อว่าได้รับคำชี้แนะจากเปาะเต เบอร์ไบ มีบทกวีตอนหนึ่งของพระองค์ที่กล่าวว่า ตลาดลอยน้ำของเปาะเต เบอร์ไบเป็นแนวคิดที่ดี ทำให้ขายอาหารได้อย่างหลากหลาย เขาเรียกตลาดแบบนี้ว่า “บาซาร์ พาร์เดียน (Basar Padian)” มีนักบันทึกชาวสเปนได้บันทึกเกี่ยวกับตลาดน้ำนี้ว่า ด้วยเหตุที่เมืองนี้ตั้งอยู่บนผืนน้ำ เขาจึงใช้เรือเล็กทำการค้าที่เรียกว่า บันคัส (Bancas) การค้าดำเนินวันละสองช่วงคือช่วงเช้าและช่วงเย็น ผลิตผลการเกษตรและอาหารพื้นเมืองจำนวนมากถูกวางอย่างดาษดื่น มีเรือราว 50 ลำ ระหว่างดำเนินการค้าแต่ละวันจะพายเรือไปยังบ้านต่างๆ พร้อมตะโกนขายสินค้า ราคาไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง

กัมปง ไอเยอร์: หมู่บ้านน้ำแหล่งกำเนิดของประเทศบรูไน (2)

ศตวรรษนี้งานช่างดูเป็นงานหนักขึ้นและต้องใส่ทักษะฝีมือ เครื่องทองได้รับความนิยมมากขึ้นจากคนทั่วไปและแม่บ้าน เครื่องประดับเครื่องครัวนิยมใช้วัสดุประเภทโลหะ สำริดนำมาใช้หล่อปืนทำสงคราม บ้างใช้แสดงสถานะบุคคล ผ้าทอมือถูกผลิตโดยผู้หญิง ระหว่างที่ Pigafetta เข้าเฝ้าสุลต่านเขาเห็นพวกราชสำนักล้วนใส่ผ้าทอมือพาดบนไหล่ขวา ระยะนี้งานช่างต่างๆ ได้พัฒนาฝีมือไปกับการออกแบบและความละเอียดประณีตยิ่งขึ้น หากพิจารณาเครื่องแต่งกายผู้ชายโดยทั่วไป ใส่ผ้าโสร่งสั้นที่เรียกว่าตาปิค (Tapik) พันเอวทอดลงมาถึงเข่า ผู้ชายบางคนใส่กางเกงข้างในโสร่ง สวมเสื้อทับและสวมหมวก มีผ้าคาดเอวที่ทำจากใยกาลีกัส (Kalikat) ดูเรียบง่าย สำหรับผู้หญิงแต่งกายคล้ายกันหากปราศจากหมวก และผ้าคาดเอว ใส่โสร่งที่ทอดลงเลยเข่า ใส่ผ้าคลุมฮิญาบ ทั้งชายหญิงไม่สวมรองเท้า เดินทางเท้าเปล่า

อาจกล่าวได้ว่ากัมปงไอเยอร์จัดเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมของโลกมลายูอีกแห่งหนึ่ง อาจถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างเมืองที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองบรูไนและระดับภูมิภาค แสดงถึงการเริ่มต้นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำซึ่งเริ่มมานานไม่น้อยกว่าพันปี สมัยรุ่งโรจน์ของยุคประวัติศาสตร์อยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ที่กัมปงไอเยอร์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเป็นท่าเรือสำคัญในภูมิภาคนี้ ในช่วงระยะที่สุลต่านองค์ที่ห้าของบรูไนครองราชย์คือสุลต่านโบลเกียห์ (Bolkiah ค.ศ.1485-1524) จักรวรรดิบรูไนได้ขยายพื้นที่ไปกว้างใหญ่ครอบคลุมเกือบทุกส่วนของเกาะบอร์เนียว ตอนใต้ของฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะซูลู บ้านเรือนของคนในกัมปงไอเยอร์ 

สะท้อนถึงความร่ำรวยด้านสถาปัตยกรรมและรูปแบบอันหลากหลายไปตามแนวแม่น้ำ ดังที่ Pigafetta ได้กล่าวไว้ สถาปัตยกรรมเหล่านี้แสดงรูปแบบบ้านพื้นเมืองบรูไนหนึ่งเดียว ใช้วัสดุก่อสร้างภายในท้องถิ่น มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ท่ามกลางสายน้ำที่ช่วยหล่อเลี้ยงอาหารและสร้างสุขอนามัย อีกทั้งสภาพผืนน้ำยังช่วยป้องกันสัตว์ร้ายและความปลอดภัยให้กับผู้อาศัย