เงินเฟ้อที่หายไป

เงินเฟ้อที่หายไป

ดังที่บทความนี้นำเสนอในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีทิศทางฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน (Global Synchronized Growth) นั้น

ตัวแปรหนึ่งที่ดูเหมือนหายไปจากอย่างชัดเจนคืออัตราเงินเฟ้อ

โดยแม้ว่าในระยะหลังนี้ ภาคการผลิตทั่วโลกทั้งในประเทศเจริญแล้วและกำลังพัฒนาจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัว รวมถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัว แต่อัตราเงินเฟ้อในประเทศทั้งหลายกลับอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา หรือประเทศตลาดเกิดใหม่อย่าง บราซิล อินโดนิเซีย รัสเซีย หรือไทย จะมีเพียงบางประเทศที่มีปัญหาเฉพาะตัวเท่านั้นที่เงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ เช่น ตุรกี เม็กซิโก สาธารณรัฐเชค รวมถึงอังกฤษ

โดยตรรกะแล้ว เงินเฟ้อเกิดจากปริมาณเงินมีมากกว่าปริมาณสินค้าและบริการ ดังนั้นเงินเฟ้อที่ (ส่วนใหญ่) หายไปสามารถอธิบายได้อย่างง่ายคือปริมาณสินค้าและบริการที่ผลิตมีใกล้เคียงหรือมากกว่าปริมาณเงิน ซึ่งก็น่าประหลาดใจเนื่องจากในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกต่างพิมพ์เงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ แต่การที่เงินเฟ้อไม่มาก็บ่งชี้ว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชน (Private Sector’s Demand) อ่อนแอมาก

ดังนั้น โดยตรรกะนี้แล้ว หากเงินเฟ้อกลับมา ก็น่าจะบ่งชี้ว่า Demand เริ่มกลับมาแล้ว ซึ่งย่อมหมายความว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างครอบคลุมและทั่วถึง (Broad base) มากขึ้น แต่ก็อาจทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ต้องทำนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนในระยะต่อไป ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตมี 3 ประการ

ปัจจัยแรกได้แก่ ต้นทุนการผลิต (โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตสำคัญที่ต้องนำเข้า เช่น สินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันเชื้อเพลิง) ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอย่างโลหะหนัก เช่น อลูมิเนียม ตะกั่ว ทองแดง ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (ประมาณ 15% ในปีที่แล้วและเกือบ 30% ในปีนี้) ขณะที่น้ำมันดิบในช่วงหลังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน (เกือบ 20% ในปีนี้)

สาเหตุเป็นเพราะการชะลอการผลิตขณะที่ความต้องการใช้ค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยในส่วนของโลหะหนักเป็นเพราะการผลิตในจีนลดลงเพราะรัฐบาลจีนต้องการคุมเข้มการผลิตที่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการผลิตน้ำมันดิบลดลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อตกลงของกลุ่ม OPEC และนอก OPEC เช่น รัสเซีย ในการลดกำลังการผลิต ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัวขึ้นช้า ๆ รวมถึงความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ด้วย แต่กระนั้นก็ตาม เงินเฟ้อ (ที่วัดจากฝั่งผู้บริโภค) ก็ไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก เพราะผู้ผลิตสินค้าเลือกที่จะกดกำไรและลดต้นทุนการผลิตมากกว่าที่จะผลักภาระไปสู่ผู้บริโภค

ปัจจัยที่สอง ได้แก่ความคาดหวังเงินเฟ้อของประชาชน โดยหากวัดความคาดหวังเงินเฟ้อของประชาชนผ่านการทำแบบสอบถาม (Survey) นั้น ส่วนใหญ่ผลที่ออกมามักจะใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลาง (เพราะมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถามมักไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก)

แต่หากวัดทางอ้อมผ่านตลาดการเงิน โดยวัดส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (เช่น 10 ปี) กับระยะสั้น (ซึ่งเทียบเคียงได้จากดอกเบี้ยนโยบาย) ของรัฐบาลทั่วโลกแล้วนั้นจะพบว่าไม่ห่างกันมากนัก (อยู่ในช่วง 0.5-1.5%) ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดการเงินเชื่อว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก (แม้ว่าดอกเบี้ยระยะยาวส่วนหนึ่งจะถูกกดจากการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางก็ตาม)

ปัจจัยสุดท้าย ได้แก่ ความ เฉื่อยของตลาดแรงงาน โดยในสถานการณ์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นนั้น จะเห็นได้ว่าอัตราว่างงาน (ที่เป็นตัวชี้วัดการตึงตัวของตลาดแรงงานอย่างหยาบ) ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก โดยล่าสุดในสหรัฐอัตราว่างงานที่ 4.1% ของกำลังแรงงานนั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี

โดยปกติแล้ว อัตราที่ต่ำมากเช่นนี้น่าจะทำให้นายจ้างเกิดการแย่งแรงงาน ทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น และเป็นส่วนกดดันให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น แต่ค่าจ้างในสหรัฐกลับขยายตัวต่ำมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อไม่ขยับ

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกบทวิเคราะห์ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุด ณ เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ว่าสาเหตุที่ค่าจ้างทั่วโลกไม่ปรับขึ้นมากนักแม้ว่าอัตราว่างงานโดยรวมจะลดลงนั้นมาจากสาเหตุ 3 ประการหลัก อันได้แก่ หนึ่ง ตลาดแรงงานทั่วโลกเกิดภาวะ เฉื่อย (Labor market slack) อันเป็นผลจากการจ้างงานแบบ Part-time แบบไม่เต็มใจที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิต (Productivity) ของแรงงานที่ลดลงและส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ภาคเอกชนนำเครื่องมือเครื่องจักรมาใช้ทดแทน (Automation)

กล่าวอย่างง่ายคือ เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาสูงขึ้น ขณะเดียวกันกับที่แรงงานมีประสิทธิภาพลดลง นายจ้างจึงลดจำนวนชั่วโมงทำงานของลูกจ้างลง (แทนการเลิกจ้าง) ขณะที่ลูกจ้างก็วิตกว่าหากถูกเลิกจ้างก็จะไม่มีรายได้ จึงยอมตามข้อเสนอดังกล่าว ทำให้ค่าจ้างโดยรวมไม่ปรับขึ้นแม้อัตราว่างงานจะลดลงก็ตาม

สาเหตุที่สอง ได้แก่ การที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่เปลี่ยนโครงสร้างจากภาคการผลิตไปสู่ภาคบริการ (โดยเฉพาะภาคบริการที่ไม่ได้มีมูลค่าสูงมาก จึงให้ผลตอบแทนต่ำกว่าภาคการผลิต) มากขึ้น ส่วนสาเหตุสุดท้าย ได้แก่ความคาดหวังเงินเฟ้อของประชาชนที่ลดลง ทำให้ค่าจ้างจึงไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก

กล่าวโดยสรุป สาเหตุที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำเป็นเพราะเศรษฐกิจภาคการใช้จ่ายที่อ่อนแอ ราคาน้ำมันที่อาจไม่สามารถปรับขึ้นได้อีกมากนัก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเกินศักยภาพของแรงงานจะตามทัน ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมจึงยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง เงินเฟ้อจึงยังปรับเพิ่มสูงขึ้นไม่ได้มากนัก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะยังดำรงอยู่ ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการลงทุนแต่เป็นผลลบต่อรายได้ของประชาชนโดยรวม

อย่างไรก็ตาม หากมีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งกลับทิศแล้ว ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เงินเฟ้ออาจกลับมา เมื่อนั้นธนาคารกลางทั้งหลายอาจต้องทำนโยบายการเงินตึงตัว ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้กำหนดนโยบาย จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด

//////////

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่