เพิ่มภาษีบาป กับสุขภาพคนไทย

เพิ่มภาษีบาป กับสุขภาพคนไทย

การประชุมกรรมาธิการสัปดาห์นี้เป็นเรื่องมาตรการด้านภาษีเพื่อลดการเข้าถึงการบริโภคสินค้าประเภทสุรายาสูบและเครื่องดื่มผสมน้ำตาล

 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้เพิ่มภาษีบาป (Earmarked Tax หรือ Sin Tax) จากผู้จำหน่ายสุรายาสูบที่จัดเก็บโดยกรมสรรพสามิตอีก 2% นอกเหนือจากที่เก็บตามอัตราปกติ ผู้ชี้แจงมาจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง การจัดเก็บภาษีบาปประเภทสุรายาสูบครั้งนี้มีประเด็นเพื่อพิจารณาหลักๆคือจะช่วยลดการเข้าถึงการบริโภคสินค้าประเภทสุรา ยาสูบ เครื่องดื่มผสมน้ำตาลได้แค่ไหนเพียงไร

ผู้ชี้แจงจากกรมควบคุมโรคแสดงสถานการณ์และแนวโน้มค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ณ ปัจจุบันยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2558 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ช่วงระหว่างปี 2540 ถึง 2559 ก็อยู่ในสภาวะทรงตัว ยกเว้นปี 2541 และ 2554 ที่ลดลง ในขณะที่ผู้ชี้แจงจากกรมสรรพสามิตได้ชี้แจงมาตรการทางภาษีสองเรื่องสำคัญคือการจัดเก็บภาษีเพิ่ม 2% จากอัตราปกติ และเปลี่ยนโครงสร้างภาษีจากที่เคยพิจารณากำหนดจากราคาผลิตหรือราคาหน้าโรงงานเป็น ณ สถานที่จำหน่ายปลีก

ในประเด็นเพิ่มภาษีบาป 2% คาดว่าจะเก็บเพิ่มได้ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท และเอาไปใช้ในเรื่องกองทุนบำรุงการศึกษาและสาธารณสุข คงไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา เป็นการเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ แต่ประเด็นการลดการเข้าถึงการบริโภคดูจะมีปัญหาไม่น้อย

เรื่องการเข้าถึงสุรายาสูบนี้ รัฐบาลใช้มาตรการทางภาษีมาโดยตลอดจนเกือบเต็มเพดานภาษีแล้ว แต่ไม่สามารถลดการบริโภคได้ จึงไม่เชื่อว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้จะลดการเข้าถึงการบริโภคสุรายาสูบได้อีกเช่นกัน

กราฟแสดงความชุกการดื่มแอลกอฮอล์และปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ที่กรมควบคุมโรคแสดงนั้น ตอกย้ำว่าเราไม่เคยลดการบริโภคได้เลย แม้ว่าเราจะมีมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านสังคมและกิจกรรมเพื่อลดการบริโภคของหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนเช่นสำนักงานกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส) และองค์กรเอกชนเพื่อการพัฒนา หรือ NGO ที่ผุดขึ้นมาสร้างเสริมกิจกรรมลด ละ เลิก ก็ยังไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมากนัก

อาจโต้แย้งได้เช่นกันว่า ถึงไม่ลด แต่ก็ไม่เพิ่มมาก เช่นนี้ อาจถือว่าปฏิบัติการลดละเลิก น่าจะได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะมิฉะนั้น จำนวนผู้บริโภคและความชุกอาจเพิ่มสูงกว่านี้ก็ได้

ที่ประชุมได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวางว่า มาตรการนี้คงไม่ช่วยลดการเข้าถึงการบริโภคสุรายาสูบ ด้วยหลายเหตุผลอาทิ เรื่องยาสูบก็มีนักสูบหน้าใหม่ รวมถึงผู้หญิงและเด็กเข้ามาเพิ่มอยู่ตลอดเวลา เรื่องสุราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีทางเลือก ที่จะดื่มอย่างอื่นแทนสุรา เบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มบางอย่างไม่อยู่ในความควบคุม เพราะถือเป็นยาประเภทยาดอง ยาบำรุง ซึ่งมีขายอย่างแพร่หลายและไม่อยู่ภายใต้โครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่จะลดการบริโภคได้ นอกเหนือจากนั้นการบีบบังคับให้ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม อาจทำให้ผู้ที่เคยบริโภคหันไปเสพอย่างอื่นแทน ซึ่งถือเป็นผลกระทบทางลบที่ต้องระวังไว้

ได้แสดงความเห็นสองสามประการที่คิดว่าน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้การบริโภคสุรายาสูบไม่ลดลง

ประการที่หนึ่ง... อัตราภาษีกับการบริโภคอาจไม่ไปด้วยกัน (Decouple) นั่นคือที่รัฐบาลคาดหวังว่า เมื่อขึ้นภาษีประชาชนผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสุรายาสูบนั้นไม่เป็นความจริง เพราะจากกราฟแสดงความชุกนั้นมีแต่จะสูงขึ้น และปริมาณการบริโภคก็ยังเหมือนเดิม

ประการที่สอง... หากพิจารณาจากมิติด้านพฤติกรรมมนุษย์จะพบว่าความชุกและปริมาณนั้นจะเพิ่มหรือลดมีผลมาจากสภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัว อาทิปี 2540-41 ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทห้างร้านสถาบันการเงินล้มละลาย ถึงขั้นรัฐบาลต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) และในปี 2554-2555 ก็เกิดสภาวะน้ำท่วมใหญ่ ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตเสียหายอย่างหนัก ถึงขั้นย้ายฐานการผลิต และรัฐบาลสมัยนั้นต้องออกมาตรการสนับสนุนมากมายเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ จากกราฟเส้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการบริโภคลดลงเฉพาะในช่วงระยะเวลานั้น แต่เมื่อผ่านช่วงวิกฤติก็กลับผงกหัวขึ้นเหมือนเดิม และยิ่งเศรษฐกิจดีขึ้นการบริโภคก็เพิ่มขึ้นอย่างที่ปรากฎในเส้นกราฟ เป็นการตอกย้ำว่าเมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นการบริโภคสุรายาสูบก็เพิ่มขึ้น

ประการที่สาม ...มาตรการทางภาษีเป็นมาตรการชั่วคราว เพราะเป็นการกดดันช่วงสั้นๆ เมื่อออกมาตรการนี้ แต่เมื่อระยะหนึ่งผ่านไป ประชาชนผู้บริโภคเริ่มปรับตัวได้ ก็จะกลับมาบริโภคเหมือนเดิม และยิ่งมีรายได้มากขึ้นก็มีอำนาจซื้อ(Purchasing power)สูงขึ้น จึงสามารถเข้าถึงการบริโภคมากขึ้น

ประการที่สี่... ผู้ประกอบธุรกิจสุรายาสูบคงไม่ยอมรับภาระภาษี แต่ต้องขึ้นราคาและทำการตลาดหนักขึ้น โดยเฉพาะการตลาดแบบการสร้างกิจกรรม (Below- the- line marketing) เพื่อรักษาส่วนต่างของกำไร และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ต้องไม่ลืมว่า ไม่มีธุรกิจใดจะยอมขาดทุน แต่กลับต้องเจริญเติบโตเพื่อขยายธุรกิจและตอบแทนค่าจ้างแรงงานที่ต้องเพิ่มทุกปีจากการขึ้นเงินเดือน อัตราเงินเฟ้อ และอื่นๆ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขัน

จึงอาจสรุปได้ว่า การขึ้นภาษีบาปครั้งนี้ คงไม่มีผลอะไรกับการเข้าถึงการบริโภคสุรายาสูบ นอกจากเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าของรัฐบาลที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดินปกติ และหน่วยงานที่จะได้ประโยชน์ก็เป็นหน่วยงานในกระทรวงศึกษาและกระทรวงสาธารณสุข นอกนั้นก็ไม่น่ามีผลกระทบอะไร

ได้ติดตามเรื่องนี้มาพอสมควรว่า แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อลดการบริโภค หรือถ้าไม่ลดการบริโคแต่จะทำอย่างไรให้การบริโภคมีผลต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนน้อยลง

ได้มีโอกาสอ่านผลงานวิจัยจากต่างประเทศที่สรุปว่า ในเรื่องบุหรี่ยาสูบนั้นอัตราการเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอาจลดลงได้ ถ้าลดสารนิโคตินลง ในรายงานนี้ระบุว่า ประชากรประมาณ 8 ล้านคน ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ อาจหลีกเลี่ยงได้ถ้าปริมาณนิโคตินในบุหรี่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (Eight million deaths can be avoided if slash nicotine)

และถ้าเป็นเช่นนี้ ก็น่าจะตีความได้ว่า ถ้าเราสามารถลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือลดความหวานในเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ก็น่าจะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเสพติดสุรา ติดความหวานที่เกินขอบเขต และด้วยจำนวนแอลกอฮอล์ที่ลดลง ก็อาจมีผลกับการลดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เช่นกัน อันนี้ น่าจะรวมถึงการลดน้ำตาลหรือความหวานในเครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคไม่ติดต่อร้ายแรงอีกมากมายหลายโรคได้ ถ้าจำนวนน้ำตาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

พฤติกรรมการบริโภคสุรายาสูบเครื่องดื่มผสมน้ำตาลของคนไทย อาจไม่เหมือนประชาชนในประเทศอื่น การขึ้นภาษีเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ไม่ใช่มาตรการถาวร มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพก็ดูเหมือนจะลดแรงกระตุ้นที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แม้ในระยะแรกๆเหมือนจะได้ผลอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันเกือบจะไม่มีผลอะไร แม้จะใช้เงินปีละหลายพันล้านทำกิจกรรมต่างๆเรื่องลดละเลิกติดต่อกันมานานหลายปี ประชาชนเริ่มชินชา และไม่ตระหนัก จนกว่าจะถึงวันที่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือในวาระสุดท้ายของชีวิต

รัฐบาลต้องคิดใหม่