“ฟินเทคจีนตัวอย่างที่น่าศึกษา”

“ฟินเทคจีนตัวอย่างที่น่าศึกษา”

กระแสของฟินเทคได้กลายมาเป็นกระแสหลักของภาคธุรกิจในหลายๆประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) 

จากการศึกษาของ Ernst & Young เกี่ยวกับตัวเลขการใช้ฟินเทคทั่วโลกในปี 2016 พบว่ามีฟินเทคโซลูชั่นเปิดตัวในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากปี 2015 และคาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆในอนาคต 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป มีการชำระเงินบนช่องทางดิจิทัลแทนการชำระเงินด้วยเงินสด ตัวอย่างที่โดดเด่นในเวลานี้ย่อมหนีไม่พ้นประเทศจีน ที่มีตัวเลขผู้ใช้บริการฟินเทคที่มากที่สุดในโลก คือ 69% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้จีนได้ก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำฟินเทคของโลก นำหน้าประเทศอื่นๆอย่างขาดลอย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟินเทคจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด เกิดจากการที่มีหลายองค์กรยักษ์ใหญ่ด้านไอทีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนฟินเทคจีน อย่าง Baidu Alibaba และ Tencent หรือที่รู้จักกันในชื่อ “BAT” ซึ่งถือเป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการเทคโนโลยีในจีน ที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างการให้บริการทางการเงินและสนับสนุนตลาดฟินเทคในประเทศ และยังตั้งเป้าไปสู่ระดับโลก การเติบโตของตลาดฟินเทคจีนยังมีแรงผลักดันมาจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งมีตัวเลขมากถึง 710 ล้านคน โดย 92.5% ของผู้ใช้เหล่านี้มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนคิดเป็น 51.7% ของจำนวนผู้บริโภคทั้งประเทศ ถือว่ายังเติบโตได้อีกมาก ขณะที่ในปีที่ผ่านมาจีนมีตัวเลขการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันฟินเทคมากถึง 593 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ถึง 3.4 เท่า และมียอดการทำธุรกรรมออนไลน์ก็มีมูลค่ามากถึง 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันจีนเข้าใกล้ความเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ เห็นได้จากการซื้อขายของตามร้านขายของชำ แผงข้างถนน ไปจนถึงตลาดสดที่ผู้ซื้อสามารถจ่ายเงินค่าสินค้าผ่านทางบริการชำระเงินทางมือถือได้ทันที แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีธุรกิจรายย่อยที่เกิดขึ้นใหม่จากการเติบโตของฟินเทคหลายรูปแบบ อาทิ City Service ใน Alipay ที่ให้ผู้ใช้สามารถหาฟรีแลนซ์ให้บริการงานต่างๆโดยกำหนดตามเขตพื้นที่ที่ต้องการ และสามารถชำระเงินได้ทันที หรือจะเป็นการให้ทิปนักเขียนออนไลน์ผ่าน QR Code ของ WeChat ตลอดจนบริการตู้เช่าสิ่งของต่างๆ เช่น จักรยาน และร่ม  

นอกเหนือจากบริการต่างๆ ที่ถูกพัฒนาและบูรณาการโดยยักษ์ใหญ่อย่าง BAT แล้ว ยังมีฟินเทคอื่นๆอีกมากมายในตลาดที่ทำให้ระบบนิเวศของจีนนั้นแข็งแรงยิ่งขึ้นเช่น การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล (P2P) การบริหารกองทุน การประกันภัย ตลอดจนการวางแผนและช่วยจัดการเรื่องการเงินอีกด้วย จะเห็นได้ว่าภาคเอกชนของจีนในฐานะผู้ให้บริการฟินเทคได้สร้างวิถีชีวิตแห่งความสะดวกสบายขึ้น ผู้คนสามารถใช้ชีวิตตลอดวันผ่านปลายนิ้วด้วยแอพเดียว ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสดของจีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อหันกลับมาดูประเทศไทย แม้เราจะเห็นความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากทั้งฝั่งของรัฐบาลและเอกชน การให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาจไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี ดังนั้น ควรต้องมีการพัฒนาอย่างบูรณาการในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการวางแผนในการขับเคลื่อนระบบนิเวศ และความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อที่จะเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เราสามารถเรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ และนำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบต่อไป