ประเมินเบอร์ 2 ทรู เตรียมชิงคลื่นใหม่ปี 61

ประเมินเบอร์ 2 ทรู   เตรียมชิงคลื่นใหม่ปี 61

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 13.30-14.00 น.

กลุ่มโทรคมนาคมได้ทยอยรายงานผลการดำเนินไตรมาส 3 ปี2560 กันเกือบครบหมดแล้ว โดยเฉพาะรายใหญ่ได้เบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรม เอไอเอส ที่ประกาศกำไรออกมาอยู่ที่ 7,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.38 %จากช่วงเดียวกันปีก่อน และในงวด 9 เดือน กำไรที่ 22,376 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากรายได้ให้บริการข้อมูลเติบโตและลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้ ดีแทค ได้ประกาศผลประกอบการออกมายตัวเลขปรับตัวลดลงทั้งงวดไตรมาส 3 และรอบ 9 เดือน จากกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินที่หายไป และการเสียตำแหน่งกลายเป็นเบอร์สามในตลาด

รายสุดท้ายที่จะประกาศงบ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลังจากที่บริษัทเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยเม็ดเงินที่สูงถึง 116,090 ล้านบาท ทำให้กลายเป็นกลุ่มที่ศักยภาพแข่งขันมากที่สุด

ปัจจุบัน ทรู ฯ เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่มี 4 คลื่นในมือครบทุกสัญญาณ จำนวน 55 เมกะเฮิรตซ์ ประกอบด้วยคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ หมดอายุปี 2568 , คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ หมดอายุ ปี 2573 , คลื่น1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ หมดอายุ ปี 2576 และคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ หมดอายุปี 2570

การเข้าชิงประมูลทุกคลื่นสัญญาณที่มีเมื่อได้มาแล้วก็มาพร้อมกับการลงทุนโครงข่ายสัญญาณ และการตลาดเพิ่มขึ้นทำให้บริษัทมีต้นทุนด้านการขายและบริการ ต้นทุนการเงิน สูงขึ้นนั้นทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุน

จากงบครึ่งปีแรก ปี 2560 ทรูฯ ขาดทุน 2,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.29 %จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการรับรู้ขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 และมีการคาดการณ์ว่ายังรับรู้ขาดทุนต่อไปอีกจนไปถึงปี 2561

ท่ามกลางผลประกอบการที่ขาดทุนแต่ ทรูฯ สามารถขึ้นมาชิงส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ สองจากอันดับ สาม ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการ สิ้นปี 2559 ที่ 24.5 ล้านราย ซึ่งในครึ่งปีแรก ปี 2560 ลูกค้าขึ้นมาอยู่ที่ 26.2 ล้านราย มีจำนวนผู้ใช้บริการระบบเติมเงินที่ 19.7 ล้านราย และระบบรายเดือน 6.5 ล้านราย

สำหรับงวดไตรมาส 3 ปี 2560 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ คาดว่าทรู ฯจะขาดทุนต่อเนื่อง อยู่ที่ 961 ล้านบาท แต่เป็นการขาดทุนที่ลดลงถึง 23 % จากไตรมาสก่อน และลดลง 65%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยสำคัญมาจากการเติบโตของรายได้ อยู่ที่ระดับ 35,406 ล้านบาท โดยมีลูกค้าระบบรายเดือนเพิ่มขึ้น ส่วนลูกค้ากลุ่มเติมเงินลดลง แต่การลดลงของกลุ่มลูกค้าไม่น่ากังวลใจเพราะอัตราค่าใช้จ่ายก็ลดลงตามไปด้วย

โดยมีต้นทุนของสินค้าและบริการลดลงประมาณ 0.7 % จากช่วงไตรมาสก่อนอยู่ที่ 17,209 ล้านบาท รวมไปถึงต้นทุนการขายน่าจะอยู่ที่ 8,282 ล้านบาท ลดลงประมาณ 1 % จากไตรมาสก่อนเช่นกัน

ดังนั้นจึงทำให้ตัวเลขอัตรากำไรก่อนหักภาษีและดอกเบี้ย (EBITDA) ในงวดนี้อยู่ที่ 10,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 7 % จากไตรมาสก่อน และ 39 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน จึงทำให้ในงวดดังกล่าว ทรูฯ จึงมีการรับรู้ขาดทุนลดลง

ด้าน บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า ทรู ฯ ได้ประกาศแผนโอนสินทรัพย์โทรคมนาคม เช่น เสาสัญญาณ 3,088 แห่ง และเคเบิลไฟเบอร์ออปติก 29,693 กิโลเมตร ไปยัง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) มูลค่า 65,000 – 72,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ ลงทุนโครงการใหม่ๆ และซื้อหน่วยลงทุนของ DIF

จากการสมมุติฐานได้แบ่งสัดส่วนใช้ ลงทุนในโครงการใหม่ 15,000 –20,000 ล้านบาท และซื้อหน่วยลงทุน DIF ที่ 12,000 – 24,000 ล้านบาท และเงินชำระหนี้ คาดว่ามีดอกเบี้ยจ่ายที่ 2,800 ล้านบาทต่อปี และยังมีส่วนแบ่งจากการรับรู้รายได้หลังโอนสินทรัพย์ให้ DIF เพิ่มขึ้นประมาณ 1,100 ล้านบาทต่อปี จึงทำให้ฐานะทางการเงินของทรู ฯแข็งแกร่งขึ้นจากการปรับลดงบดุล

ทั้งนี้ยังคาดการณ์ด้วยว่าทรูฯ น่าจะเตรียมการลงุทนใหม่ๆ ในปี 2561 เช่น คอนเทนต์ดิจิทัลและการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วยคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ,850 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์

อย่างไรก็ตามด้วยบริษัทย่อยของทรูฯต้องเช่าช่วงทรัพย์สินจากDIF มูลค่า 94,300 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 16 ปี รวมทั้งขยายเวลาการเช่าสินทรัพย์ 8 ปี มูลค่ารวม 55,200ล้านบาท  ซึ่งตรงนี้จะทำให้อัตรากำไร EBITDA จะลดลง 11.5 %จาก15%ในปี 2561แนะนำ ‘ถือ’ ที่ 6.17 บาท