กนง.ใหม่ ‘สายพิราบ’ นโยบายการเงินต้องจับตา

กนง.ใหม่ ‘สายพิราบ’ นโยบายการเงินต้องจับตา

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันพรุ่งนี้(8พ.ย.) ถือเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ต้องจับตา

เพราะมี “กรรมการใหม่" เข้าร่วมประชุม 2 ท่าน คือ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ และ ดร.สุภัค ศิวะรักษ์

ว่ากันว่า ทั้ง 2 ท่าน เป็น “สายพิราบ” ที่อยากเห็นการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยคนนึงมาจากภาครัฐ อีกคนมาจากฟากสถาบันการเงิน

คนแรก “ดร.คณิศ” ชัดเจนว่าเป็น “พิราบ พันธุ์แท้” เพราะมีมุมคิดที่คมชัดในเรื่องของเศรษฐกิจว่า หากจะเติบโตได้ดี ต้องอาศัยนโยบายการเงินเข้าช่วย ..ที่สำคัญ ดร.คณิศ ยังมองนโยบายการเงินที่ใช้ “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” หรือ Inflation Targeting แตกต่างไปจากคนแบงก์ชาติอย่างชัดเจน

ที่ผ่านมามักได้ยิน ดร.คณิศ พูดบ่อยครั้งว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ยังเป็นความคิดแบบเดิมๆ เพราะวันนี้ไม่มี “เงินเฟ้อ” (Inflation) แล้วจะมี “เป้าหมาย”(Targeting) ได้อย่างไร

การเข้ามานั่งบอร์ด กนง. ของ ดร.คณิศ จึงน่าจะทำให้การประชุมแต่ละครั้งมีสีสันและสร้างปรากฎการณ์มุมมองใหม่ๆ ได้ไม่น้อย

คนที่สอง “ดร.สุภัค” ยังไม่เคยมีใครสัมผัสมุมคิดเชิงนโยบายของเขาอย่างชัดเจน แต่จากการวิเคราะห์ของนักการเงิน-นักเศรษฐศาสตร์หลายๆ คน เชื่อว่า “ดร.สุภัค” เป็น “พิราบ แบบอ่อนๆ" และอาจเป็น “สวิงโหวต” ของการประชุมแต่ละครั้ง

ประเมินกันว่า ดร.สุภัค มาจากสาย “การเงิน” จึงไม่อยากเห็นนโยบายการเงิน หรือแม้แต่เกณฑ์กำกับดูแลอื่นๆ ที่เข้มงวดจนเกินไป ในเวลาเดียวกันหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี สินเชื่อก็น่าจะปล่อยได้คล่องตัวมากขึ้นด้วย

แต่ “ดร.สุภัค” อาจยังมีความเป็น “เหยี่ยว” อยู่บ้าง ตรงที่ให้น้ำหนักกับ “เสถียรภาพ” ในระบบการเงินด้วย เพราะถ้าเศรษฐกิจเติบโตดี โดยที่ไม่ใส่ใจด้านเสถียรภาพ ปัญหาคุณภาพสินเชื่อจะตามมากวนใจได้เช่นกัน

การประชุม กนง. รอบนี้ จึงชวนให้ติดตามยิ่งนัก ..แม้ว่า กนง. ใหม่ทั้ง 2 ท่าน จะมีความเป็น “พิราบ” แต่ตลาดการเงิน เชื่อกันว่าผลการประชุมจะ “ไม่หักมุม” ถึงขนาดโหวตให้ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะเวลานี้เศรษฐกิจไทยถือว่าเติบโตดีขึ้นมาก แม้จะยังไม่กระจายตัวมากนัก

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2561 ที่กระทรวงการคลัง “ตีกลับ” ให้ กนง. นำไปพิจารณาใหม่ หลังเห็นว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อ “หลุดเป้า” มาโดยตลอด

การตีกลับของกระทรวงการคลังรอบนี้ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันมาตั้งคำถามและวิเคราะห์ถึง “ต้นกำเนิด” หรือ “พลวัตร” ของเงินเฟ้อในประเทศ ว่าแท้จริงแล้ว ตัวที่ผลักดันเงินเฟ้อในประเทศมาจาก “ปัจจัย” ใดกันแน่

หากน้ำหนักมาจากปัจจัย “ภายนอกประเทศ” คำถามที่ตามมา คือ การใช้ดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ จะยังได้ผลอยู่หรือไม่ แล้วการดำเนินนโยบายการเงินจะเป็นอย่างไรต่อไป

...เข้าใจว่า “คำถามนี้” เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ