นายก “ซินเดอเรลล่า” อายุ 37 ปี

นายก “ซินเดอเรลล่า” อายุ 37 ปี

ความสามารถ จังหวะของชีวิต และเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมสามารถทำให้ผู้หญิงอายุเพียง 37 ปี ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศพัฒนาแล้วด้วยฝีมือของเธอเอง

Jacinda Ardern เพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เธอเดินตามรอยผู้นำอายุน้อยในปัจจุบัน เช่น Justin Trudeau แห่งแคนนาดา (เป็นเมื่ออายุ 44 ปี คุณอภิสิทธิ์ก็เป็นตอนอายุเท่านี้เหมือนกัน) Emmanuel Macron แห่งฝรั่งเศส (39ปี) Sebastian Kurz แห่งออสเตรีย (31 ปี) Kim Jong-Unแห่งเกาหลีเหนือ (อายุ 28 ปี) ดูเหมือนว่าการมีหน้าตาดีเป็นเงื่อนไขสำหรับชายและหญิงในตำแหน่งนี้ ยกเว้น Kim เพราะแค่ทรงผมก็หล่อเกินขนาดแล้ว

Jacinda Ardern หน้าตาดี พูดเก่งและมีความสามารถ เธอเรียนจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ ด้านสื่อสารการเมืองมาโดยเฉพาะโดยจบจาก University of Waikato ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเกิดของเธอ คือ Hamilton มหาวิทยาลัยนี้ตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อสนับสนุนคนเมารี ซึ่งเป็นคนพื้นเมือง ในจำนวนนักศึกษาเกือบหนึ่งหมื่นคน มีนักศึกษาเมารีถึง 15% อาจารย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากก็ทำงานที่นี่

พ่อของเธอเป็นตำรวจ ส่วนแม่ทำงานในโรงอาหารของโรงเรียน เธอเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน(Labor)อย่างเหนียวแน่นตั้งแต่ยังเด็ก ลงเลือกตั้ง 3 ครั้ง ก็แพ้มาตลอด แต่ก็ได้เป็น ส.ส.รายชื่ออย่างสุดลุ้น พอได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตครั้งแรกได้ไม่ถึง 8 เดือนก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเล่าว่าเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไร ลองดูการเมืองนิวซีแลนด์กันสักหน่อย

นิวซีแลนด์มีประชากร 4.8 ล้านคนแต่มีแกะถึง 30 ล้านตัว มีรายได้ต่อหัวต่อคนมากกว่าไทยประมาณ 6 เท่า (36,000 กับ 6,000 ดอลลาร์)2 พรรคใหญ่ คือ National กับ Labor ผลัดกันเป็นรัฐบาลมายาวนานจนถึงปี 1969 ก็มีการลงประชามติให้มีระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า MMP (Mixed Member Proportional) กล่าวคือ ใน 120 ที่นั่งของ ส.ส. ในรัฐสภาซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แบ่งเป็น 71 ที่นั่ง จาก ส.ส. เขต (1 เขต 1 คน) และ 49 ที่นั่งเป็น ส.ส.จากบัญชีรายชื่อ

ระบบ MMP ตั้งใจให้พรรคเล็กได้มีโอกาสเข้าไปร่วมรัฐบาล ในการเลือกตั้งผู้ลงคะแนนเลือก ส.ส.เขตจากพรรคและเลือกพรรคที่ชอบ สำหรับ ส.ส. เขตนั้นใครได้คะแนนสูงสุดก็ได้เป็น ส.ส. ส่วน 49 ที่นั่งของบัญชีรายชื่อนั้นเอามาจัดสรรให้พรรคการเมืองต่างๆ ตามสัดส่วนที่ได้รับการลงคะแนนให้พรรค

​ ระบบนี้คล้ายกับบ้านเราในสมัยก่อน เพียงแต่พรรคที่ได้คะแนนนิยมจากการเลือกพรรค 5% ขึ้นไปจะได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. ตามสัดส่วนความนิยมพรรค หรือถ้าพรรคใดได้ ส.ส.จากเขต 1 คนขึ้นไป ก็จะได้รับจัดสรร ส.ส. ให้เช่นกันโดยเรียงลำดับตามบัญชีรายชื่อ

นับตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมาถึงแม้ National กับ Labor ผลัดกันเป็นรัฐบาลครั้งละ 6 ปีบ้าง 9 ปีบ้าง (เลือกตั้งทั่วไปทุก 3 ปี) แต่เกือบทุกครั้งพรรคเล็กก็ได้เข้าร่วมรัฐบาล

Jacinda นั้นเมื่อเรียนจบก็เป็นผู้ช่วยวิจัยของ Helen Clark ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค Labor หญิงและเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของนิวซีแลนด์ (คนแรกคือ Jenny Shipley จากพรรค National)และไปทำงานเชิงที่ปรึกษาให้แก่ Tony Blair นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก่อนที่เธอจะกลับมาลงเลือกตั้ง ส.ส. เขตในปี 2008 ผลปรากฏว่าเธอแพ้แต่ก็ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ระบบของนิวซีแลนด์ไม่ห้ามการมีชื่อใน 2 ระบบ) โดยเป็นลำดับที่ 20 ของจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค Labor 20 คน เธอจึงได้เป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาคือ 28 ปี

สมัยเลือกตั้งต่อมาคือ 2011 เธอก็ลงเลือกตั้ง ส.ส. เขตอีกและก็แพ้แต่ก็ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ 13 จากจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13 คนที่พรรคได้ ในสมัยเลือกตั้งต่อมาคือปี 2014 เธอก็ลงเลือกตั้ง ส.ส.เขตอีก และก็แพ้อีก แต่ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกโดยอยู่ในอันดับ 5 จากจำนวน 5 คน ที่พรรคได้

ชีวิตของเธอนั้นเหลือเชื่ออย่างมาก แพ้เลือกตั้งแต่ก็ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับสุดท้ายของพรรคทั้ง 3 สมัยพอมาถึงสมัยเลือกตั้ง 2017 ในเดือนก.พ. คราวนี้โชคชะตาอยู่ข้างเธออย่างไม่คิดไม่ฝัน เธอลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต ครั้งนี้เธอได้รับคะแนนอย่างท่วมท้นเพราะไม่มีคู่แข่ง ถัดมาอีกเดือนเธอก็ได้รับเลือกให้เป็นรองหัวหน้าพรรคอย่างเป็นเอกฉันท์เพราะคนก่อนลาออก

ก่อนเลือกตั้งเพียง 7 อาทิตย์ หัวหน้าพรรค Labor ก็ลาออกเพราะดูไปแล้วพรรคแพ้อย่างแน่นอน ในวันที่ 1 ส.ค. 2017 เธอจึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค Labor เพราะได้รับคะแนนนิยมสูง เป็นกำลังสำคัญที่จะฉุดพรรคให้ได้จำนวน ส.ส.เกินกว่าครึ่งหนึ่งและได้เป็นรัฐบาล เธอก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 23 ก.ย. 2017 พรรค Labor ได้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวม 46 ที่นั่ง แต่ก็ยังน้อยกว่าพรรค National ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี Bill English เป็นหัวหน้า ซึ่งได้รวมทั้งหมด 56 ที่นั่ง (ลดไป 4 ที่นั่ง) จึงเป็นอันว่าเธอไม่ชนะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอแพ้

เวลาผ่านไป 3 อาทิตย์ พรรค Labor ก็ประกาศว่าจะมี 2 พรรค เข้าร่วมรัฐบาล คือ พรรค NZ First (9 ที่นั่งจากบัญชีรายชื่อทั้งหมด) และพรรคGreen(8 ที่นั่งจากบัญชีรายชื่อทั้งหมด) รวมแล้วเธอมีเสียงสนับสนุน 63 ที่นั่ง (46+9+8) เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดคือ 60 ที่นั่ง เธอจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยมีประสบการณ์การเมืองเป็น ส.ส. มา 9 ปี แต่ได้เป็นเพียงรัฐมนตรีเงา

Jacinda ได้รับแรงเชียร์จากสื่อทั้งในและนอกประเทศมากจนเป็นกระแสร้อนแรงทำให้พรรคได้ที่นั่งเพิ่มจากเดิม 14 ที่นั่ง เธอเป็นผู้นำ Women March ตอนต้นปี 2017 ประท้วงการเป็นประธานาธิบดีของ Donald Trump

นโยบายของเธอคือช่วยเหลือเด็กยากจน (1 ใน 3 ของเด็กนิวซีแลนด์ยากจนซึ่งได้แก่ลูกหลานของเมารีและชาวเกาะในแปซิฟิก) เก็บภาษีคนรวย เงินกู้เรียนมหาวิทยาลัยไม่มีดอกเบี้ย ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติซื้อที่ดินและบ้าน ลดจำนวนคนอพยพเข้าประเทศ สนับสนุนการทำแท้ง สนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน ต่อต้านโลกร้อน ฯลฯ เรียกได้ว่าเธอมีความคิด “ก้าวหน้า” เธอเรียกตัวเองว่าเป็น Social Democrat

ในวัย 37 ปี เธอเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยสุดในโลก เธอเป็นพลเมืองของประเทศที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญ ครั้งหนึ่งในปี 2005-2006 ตั้งแต่Governor General (ตัวแทนพระราชินีเสมือนเป็นประมุข) นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จนถึงประธานศาลฎีกาล้วนเป็นผู้หญิงทั้งหมด นอกจากนี้นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ผู้หญิงมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยเริ่ม ในปี 1893 (สหรัฐผู้หญิงมีสิทธิ์ในปี 1920)

ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องบอกว่าดวงชะตาของเธอกำหนดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ รองเท้าแก้วที่มาจากฝีมือของเธออยู่ติดแน่นไม่หลุดไปอีกนานเพราะเราเอาใจช่วย ซินเดอเรลล่าหญิงเก่งวัยละอ่อนคนนี้