Megatrends - เป็นมากกว่าที่คิด

Megatrends - เป็นมากกว่าที่คิด

ปัจจุบันคำว่า Megatrends ได้กลับมาเป็นคำยอดนิยมอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ผมได้ยินคำนี้ครั้งแรกในปี 1982

จากหนังสือขายดีชื่อเดียวกันของ John Naisbitt เมื่อองค์กรต่างๆ จะต้องจัดทำกลยุทธ์หรือทำแผนก็มักจะแสวงหา Megatrends ต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการทำแผนสำหรับปีหน้า

เรามักจะมีความเข้าใจกันว่า Megatrends หรือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่สำคัญนั้นก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากร หรือ พัฒนาการของเทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัล หรือ การให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ข้างต้น (รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Megatrends บอกว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ตัว Megatrends แต่เป็นปัจจัยชี้นำ หรือ ตัวขับเคลื่อนที่นำไปสู่ Megatrends ต่างหาก

องค์กรจะต้องมาพิจารณาว่าจากปัจจัยชี้นำหรือตัวขับเคลื่อนข้างต้น จะส่งผลให้ผู้บริโภค หรือ ประชาชนทั่วไปเกิดการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติ พฤติกรรม วิธีการตัดสินใจอย่างไรบ้าง และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากปัจจัยชี้นำข้างต้นนั้นเองคือตัว Megatrends

คุณสมบัติที่สำคัญของ Megatrends จะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง? Megatrends จะต้องเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภค ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีทางในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อแนวคิดหรือวิธีการในการทำงาน การบริหารองค์กร อีกทั้งยังต้องมีผลต่อหลายๆ อุตสาหกรรม และเป็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะจบหรือสิ้นสุดลงในเวลาสั้นๆ แต่จะต้องใช้เวลานานพอสมควรอาทิเช่นเกินกว่า 5 ปีในการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

ถึงแม้ปัจจุบันจะมีหลายสำนักที่ระบุถึง Megatrends ในอนาคต แต่พบว่า Euromonitor (เป็นบริษัทที่เก็บข้อมูลและทำวิจัยตลาดในระดับโลก) ได้ระบุ Megatredns ที่สำคัญไว้มากที่สุด โดยจากปัจจุบันถึง 2030 ทาง Euromonitor ได้วิเคราะห์และได้กำหนด Megatrends มากถึง 20 ประการที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต อาทิเช่น Experience more, Searching for simplicity, Connected consumers, Healthy living, Generation gaps, Ethical living, Buying time เป็นต้น

อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัตินั้นองค์กรธุรกิจย่อมไม่สามารถนำเอา Megatrends ที่มีอยู่อย่างมากมายมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด องค์กรจะต้องพิจารณาว่า Megatrends ตัวไหนที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและกลยุทธ์ของตนเอง เนื่องจาก Megatrends แต่ละตัวก็ย่อมส่งผลกระทบต่อแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันออกไป

ในกรณีของ Euromonitor นั้นหลังจากที่ได้กำหนด Megatrends ออกมา 20 ประการ ทางบริษัทก็ได้มีการเก็บข้อมูลต่อไปว่าจาก Megatrends ทั้ง 20 ประการนั้น จริงๆ แล้ว Megatrends ตัวไหนที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้บริโภคในวงกว้างที่สุด 8 ประการ และผมเองก็เลือกมา 5 Megatrends จากของ Euromonitor ที่คิดว่าตรงกับประเทศไทยที่สุด

  1. Experience more -เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการเป็นเจ้าของสินค้าเป็นการแสวงหาประสบการณ์ ไม่ว่าจะผ่านการท่องเที่ยว การเข้าร่วมกิจกรรม การรับประทานอาหาร ฯลฯ
  2. Premiumisation -เป็นการที่ผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพดีแต่ราคาสูงมากขึ้น โดยซื้อจำนวนไม่มากชิ้นหรือไม่มากครั้ง แต่เน้นที่ของดีมีคุณภาพ
  3. Shopping reinvented -เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อสินค้าและบริการมาอยู่บนออนไลน์มากขึ้น รวมถึงความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Engagement มากขึ้น
  4. Healthy living -เป็นพฤติกรรมในการดำรงชีวิตของผู้บริโภคที่คำนึงถึงเรื่องของสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพในเชิงองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ
  5. Connected consumers -เป็นการที่ผู้บริโภคสามารถที่จะเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตผ่านทางอุปกรณ์ต่างๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งต่อทั้งด้านการซื้อสินค้า บริการ เรื่องการศึกษา ความบันเทิง การหาข้อมูล การเข้าสังคม ฯลฯ

ลองพิจารณาดูนะครับว่าจากตัวอย่าง Megatrends ทั้ง 5 ประการ จะสามารถนำไปใช้กับการกำหนดกลยุทธ์หรือแผนงานสำหรับปีหน้าได้อย่างไร