ทำ CSR หรือมีความเป็น CSR

ทำ CSR หรือมีความเป็น CSR

เราพูดในภาษาไทยว่า การทำ CSR หรือการทำกิจกรรม CSR แล้วแท้ที่จริง CSR คืออะไรกันแน่

การทำ CSR คือ การช่วยเหลือสังคม หลังจากที่ธุรกิจทำมาค้าขายหากำไรได้ ในรูปของการตอบแทนหรือคืนกำไรส่วนหนึ่งให้แก่สังคม เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากไร้ การบริจาคเพื่อสาธารณกุศล การมอบสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัย ซึ่งถูกต้องเพียงส่วนเดียว เพราะหากเราตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น กิจกรรม CSR จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อธุรกิจต้องมีกำไรก่อนเท่านั้นหรือ” (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 10 ก.ย. 2560)

ในที่นี้ ผมจึงต้องการสร้างความเข้าใจว่า CSR คือสำนึกความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคม เมื่อเป็นดังนี้ องค์กรต่างๆ เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการ ซึ่งต้องกระทำตนให้เป็นมันสมองขององค์กร ต้องสั่งการและสร้างเป็นนโยบายให้ฝ่ายจัดการ (อันองค์กรมักแบ่งแยกกันนักว่า ผู้บริหาร ไล่เรียงลงมาจนถึงผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงาน) ปฏิบัติงานให้เป็นตามแนวนโยบายนั้นๆ และเรียกเสียใหม่ว่า องค์กรของเราจะต้องเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่มีความเกี่ยวโยงใดๆ ว่า องค์กรของเราต้องมีกำไรเสียก่อน จึงจะเริ่มต้นเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้

ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จะต้องให้ความสนใจในการนำเสนอสินค้า หรือบริการของตนเอง ตั้งแต่เริ่มต้นในกระบวนการออกแบบ ไปจนถึงบริหารจัดการในการนำเสนอสินค้าหรือบริการนั้นๆ ต่อลูกค้า ผู้ใช้งานหรือผู้บริโภค ด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือความปลอดภัยที่คาดไม่ถึงที่อาจเกิดขึ้นได้” (เรวัต ตันตยานนท์, 30 ธ.ค. 2558)

คำถามต่อไปมีว่า องค์กรของเรายังเล็กมาก จะอยู่รอดต่อไปในอนาคตหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ แล้วเราจะมีเวลามาคิดเรื่องสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ

เรื่องนี้ ในสถานประกอบการที่มีเจ้าของคนเดียวก็ดี หรือเป็นรูปบริษัทต่างๆ ก็ดี หากคิดเป็นความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นผู้ประกอบการที่มีสำนึกความรับผิดชอบแล้ว เจ้าของคนเดียวหรือคณะกรรมการในรูปบริษัท ย่อมสามารถกำหนดเป็นนโยบายและกำกับดูแลให้ตนเอง หรือฝ่ายจัดการ แล้วแต่กรณี ดำเนินการไปตามแนวทางนั้นๆ ได้ อยู่ที่ว่า ตนเองจะหาข้อแก้ตัวมาบอกว่า ตัวเองไม่ทำ เป็นเพราะอะไรเสียมากกว่า

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจคิดว่า เรื่องนี้ มีความเป็นนามธรรมสูงมาก หรือจะให้สถานประกอบการมีศีลเลยหรือ ขอตอบว่า ผมหมายความเช่นนั้น

เรื่องยากประกอบกับข้อแก้ตัวของคนทั่วไปก็คือ คนธรรมดาแท้ๆ ยังไม่มีศีลเลย แล้วจะให้บริษัทมีศีลได้อย่างไร

ศีลในทีนี้ ขอเริ่มด้วยสำนึกของความรับผิดชอบก่อน ยังไม่ต้องอธิบายถึงคุณธรรม มโนธรรม จริยธรรม อะไรให้วุ่นวายไป เอาเพียงเริ่มต้นด้วยสำนึกที่ดีก่อน สำนึกที่จะเป็นองค์กรที่ดี ประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม ใช้วัตถุดิบที่มีความปลอดภัย ใช้แรงงาน การตั้งราคา และการแข่งขันที่เป็นธรรม ของดีจริง จะต้องตั้งราคาที่สูงขึ้นบ้าง ย่อมมีความเป็นธรรมอยู่ในตัว แต่สินค้าหรือบริการที่มีราคาย่อมเยากว่า ไม่ใช่หมายความว่า ท่านใช้ของไม่ดี แต่ท่านผลิตสินค้าหรือให้บริการ ให้เป็นทางเลือกแก่ชนในระดับต่างๆ ด้วยระดับคุณภาพแตกต่างกัน อาจยกตัวอย่าง เช่น สินค้าหนังแท้ ย่อมมีคุณภาพและราคาสูงกว่าหนังเทียม เป็นอาทิ

“ทุกองค์กรต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าในอดีต ไม่ใช่เพียงเพราะมันถูกต้องตามกฎหมาย หรือจรรยาบรรณ หากแต่มันเหมาะกับความรู้สึกของสังคมเศรษฐกิจด้วย เป็นเวลาหลายปีเหลือเกิน ที่ผมได้ยินประโยคชวนฝันที่ว่า บริษัทจะดีได้ ต้องประพฤติดี แล้วเรื่องของสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เป็นที่แพร่หลาย เพื่อให้ทุกองค์กรมีพฤติกรรมที่ดีต่อสังคม เหตุผลสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จก็คือ มันเป็นการเสแสร้งแกล้งทำ หลายองค์กรประสบความสำเร็จได้ทั้งๆ ที่กระทำตนเลวทราม ตกแต่งบัญชี เอาเปรียบแรงงาน องค์กรซ่อนเงื่อน ผูกขาดตลาด และอีกสารพัด เพื่อช่วยให้ผลประกอบการออกมาดูดี นี่ยังไม่พูดถึงบริษัทที่ตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ แต่ผู้บริหารกลับได้โบนัสสูงลิ่วติดท้องฟ้ากันเลยทีเดียว” (Don Tapscott)

ความเป็นองค์กรที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม จึงสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มแรก ในทุกขั้นตอน และทุกเวลา จะมีกำไรหรือขาดทุนก็มีความสำนึกนี้ได้ ท่านมีสำนึกแล้ว จะป่าวประกาศโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนรู้เห็นก็ทำได้อีกเช่นกัน และคงนับเนื่องว่าเป็นเสริมภาพลักษณ์ของท่าน แต่ในที่นี้ เพียงแต่ขอเน้นย้ำว่า สำนึกที่ดี ไม่ใช่การเป่าแตร ป่าวประกาศไปทั่ว โดยไม่ทราบว่า มีสำนึกรับผิดชอบต่อองค์กรที่แท้จริงหรือไม่ ท่านต้องแยกให้ออกด้วยว่า การทำกิจกรรมต่าง ๆ การบริจาคต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า ท่านมีสำนึกแห่งความรับผิดชอบเสมอไป ท่านอาจต้องการทำประชาสัมพันธ์ก็ได้ แต่ความเรียงนี้ ไม่หมายจะบั่นทอนหรือดูถูกดูแคลนการกระทำของท่านแต่อย่างใด

ข้อเขียนนี้ จึงเป็นการชวนกันคิด มากกว่าการชี้แนะ เพราะผมไม่มีความรู้เช่นนั้น

“เมื่อทรงตั้งโครงการหลวงแล้วไม่นาน เวลาเสด็จประพาสต้นบนดอย ก็ประกอบด้วยการปีนป่ายเขามาก ในเรื่องนี้ ผมถูกพวกในวังที่ต้องเดินตามเสด็จฯนินทามากมายว่า นำเสด็จฯด้วยพระบาทไปเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2-3 ต้น ซึ่งก็จริงอยู่ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จฯไปนั้น ทำให้ชาวเขาเห็นว่า กาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้ กาแฟบนดอยมีมากมายและก็เริ่มต้นจาก 2-3 ต้น นั่นเอง” (หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เล่าเรื่องใน royalprojectthailand.com)

การทำงานด้วยน้ำใจรัก ต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ ใครเห็น ก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้น จะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้ เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็น ก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ก็ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้” (พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร, 25 ก.ค. 2506)

ท่านต้องคิดเองว่า ท่านเริ่มลงมือคิดถึงสำนึกความรับผิดชอบนี้หรือยัง หากท่านเริ่มคิดแล้ว ท่านจะทำอย่างไรต่อไป อย่างน้อยที่สุดในทัศนะของผม จะต้องเริ่มด้วยคำพูดที่ว่า เราจะเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่พูดเพียงสั้นๆ ว่า ทำ CSR ซึ่งท่านอาจจะไม่เข้าใจเลยว่า ท่านกำลังทำอะไรกันแน่

/////

โดย... องอาจ ทองพิทักษ์สกุล