นวัตกรรมยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์:จอร์แดน***

นวัตกรรมยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์:จอร์แดน***

รายงานที่จัดทำโดย VISA และ Oxford Economics ระบุว่า แนวโน้มมูลค่าตลาดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ของโลก

จะพุ่งทะยานจาก 4.39 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 เป็น 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 โดยมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 25 ต่อปี ในอีกเกือบ 10 ปีข้างหน้านี้

รายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ว่า จำนวนคนเดินทางไปรับการบริการทางสุขภาพระหว่างประเทศ จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของประชากรโลก โดยนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุมีกว่าร้อยละ 13 ของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลก ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน

เมื่อกล่าวถึงประเทศชั้นนำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ เราอาจนึกถึงสิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง แต่จากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้ มีหนึ่งประเทศที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ ประเทศจอร์แดน

ธนาคารโลกรายงานว่า จอร์แดนเป็นประเทศผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพดีที่สุดในตะวันออกกลาง ติดอันดับเป็นประเทศชั้นนำที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ทั้งในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ในปี 2007 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์สร้างรายได้ให้กับจอร์แดนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP โดยมีคนไข้เข้ารับบริการมากกว่า 250,000 คน

ประเทศจอร์แดนเป็นประเทศหนึ่งที่มีประสบการณ์ในการเป็นประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งผมได้ถอดบทเรียนออกมาแล้ว ดังนี้

  1. การพัฒนาอย่างครบวงจร

รัฐบาลจอร์แดนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ โดยการพัฒนาอย่างครบวงจร ทั้งด้านคน ระบบ และบริบท

ด้านคน จอร์แดนให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และการส่งออกบุคลากรไปศึกษาหาความรู้เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ทำให้จำนวนแพทย์ในประเทศจอร์แดนมีสัดส่วนสูงถึง 203 คนต่อประชากร 100,000 คน (ข้อมูลในช่วงปี 2000 – 2004) ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนแพทย์เพียง 50 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2016

ด้านระบบ จอร์แดนให้ความสำคัญกับการสร้างโรงพยาบาล การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ และการพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้ทั่วถึง ทำให้ประชาชนจอร์แดนกว่าร้อยละ 70 มีประกันสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ที่จะมีต่อคุณภาพและความเพียงพอของบริการสุขภาพและการแพทย์สำหรับคนในประเทศ

ด้านบริบท จอร์แดนไม่ได้ละเลยด้านการพัฒนาบริบทด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในประเทศ ทำให้จอร์แดนเป็นประเทศที่ประชาชนกว่าร้อยละ 99 เข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ขาดแคลนแหล่งน้ำจืดมากที่สุดในโลก

นอกจากนี้ แม้ประเทศจอร์แดนอยู่ท่ามกลางกลุ่มประเทศที่มีความขัดแย้งภายในประเทศ ทว่าจอร์แดนสามารถรักษาบริบทของประเทศให้เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ และมีความปลอดภัยมากที่สุดในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2016 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศจอร์แดนลดลงถึงร้อยละ 40 ด้วยสาเหตุหลักมาจากปัญหาเรื่องวีซ่าและความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้าน จากปัญหานี้ รัฐบาลจอร์แดนพยายามฉวยโอกาสจากความไม่สงบของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องการขอวีซ่าของผู้ป่วยจากประเทศที่อยู่ในภาวะไม่มั่นคง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้าประเทศมากขึ้น

  1. การสร้างความน่าเชื่อถือและมาตรฐานสากล

รัฐบาลจอร์แดนมีการเปิดเสรีและขยายการลงทุนด้านบริการสุขภาพมากขึ้น และมีการร่วมสร้างข้อตกลงร่วมกับนานาประเทศเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือไปทั่วโลก ไม่เพียงแต่โลกอาหรับเท่านั้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านมาตรฐานของระบบสุขภาพของประเทศ เป็นต้น

จอร์แดนจึงมีสถานพยาบาลที่มีคุณภาพสูง อาทิ โรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางพิเศษ ได้รับการรับรองจากหน่วยงานอิสระที่มุ่งสร้างมาตรฐานระบบสุขภาพของสหรัฐอเมริกา หรือ Joint Commission on Accreditation of Healthcare Organizations (JCAHO) ในปี 2007 ทั้งนี้มาตรฐาน JCAHO เป็นที่ยอมรับในวงการสุขภาพในสหรัฐอเมริกา และเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงคุณภาพของระบบสุขภาพ

  1. การสร้างความแตกต่างและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ด้วยการแข่งขันระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นับเป็นความท้าทายของประเทศจอร์แดน ทำให้การไม่พัฒนาต่อยอดหรือการไม่รักษาคุณภาพเท่ากับเป็นการเดินถอยหลัง และก้าวไม่ทันประเทศอื่นๆ ทั้งอินเดีย ตุรกี ที่เป็นจุดหมายปลายทางเกิดใหม่

จอร์แดนจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนในบุคลากรและทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น รวมถึงกำลังมุ่งสร้างสถานพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น โดยเฉพาะศูนย์รักษามะเร็ง เพื่อเกิดความแตกต่างจะประเทศปลายทางอื่นๆ

ดังตัวอย่าง ศูนย์มะเร็งแห่งกษัตริย์ฮุสเซ็น (King Hussein) ซึ่งเป็นศูนย์การรักษาโรคมะเร็งเฉพาะทางเพียงแห่งเดียวในตะวันออกกลาง และเป็นหนึ่งในสถาบันรักษาโรคมะเร็งชั้นนำของโลก

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพ รวมถึงเป็นประเทศปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ของเอเชีย แต่ไม่ควรประมาทประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมถึงประเทศอินเดียที่กำลังมาแรงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพราะทั้ง 3 ประเทศล้วนมีนโยบายที่เร่งผลักดันให้เป็นศูนย์กลางด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้ ศึกษาบทเรียนแห่งความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อจะได้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดแท้จริง จนไม่มีประเทศใดตามได้

////

*** ชื่อเต็มเรื่อง: นวัตกรรมยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์เพื่อการสร้างชาติ: ประเทศจอร์แดน