โลกความสัมพันธ์กันของเงินเฟ้อในเศรษฐกิจ

โลกความสัมพันธ์กันของเงินเฟ้อในเศรษฐกิจ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการพาดหัวข้อข่าวว่า “คลังสั่งรื้อกรอบเงินเฟ้อปี 2061 “โดยรายงานว่า” ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท)เสนอคงเป้าหมายเดิมที่ 2.5%

(โดยให้ผันผวนได้ บวก-ลบ 1.5% กล่าวคือกรอบของเป้าเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-4%) แต่คลังยันว่าตัวเลขจริงต่ำหลุดกรอบเป้าหมายมา 3 ปี ติดต่อกันแล้ว” ทั้งนี้ เรื่องยังอยู่ในระหว่างการประชุมปรึกษาหารือ กันระหว่างคลังกับ ธปท โดยจะต้องมีข้อสรุปและนำเสนอเป้าเงินเฟ้อในปี 2061 ให้รัฐบาลให้ความเห็นชอบและประกาศออกมาให้สาธารณชนได้รับทราบในปลายปีนี้ 

รายงานข่าวกล่าวว่า คลังอยากให้ ธปท อธิบายอย่างละเอียด ว่าทำไมจึงไม่สามารถดำเนินการให้เงินเฟ้อจริงอยู่ในกรอบของเป้าหมายเงินเฟ้อได้ ธปท ชี้แจงว่าดอกเบี้ยนโยบาย (ที่ 1.5%) นั้น เหมาะสมดีอยู่แล้วในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนอกจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐก็น่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเดือนธันวาคมนี้ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับดอกเบี้ยของไทย จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยให้ลงต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ส่วนเงินเฟ้อก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ประเด็นที่สำคัญในความเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ 2 เรื่องหลักดังนี้

1) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า เงินเฟ้อปรับลดลงทั้งโลก และปัจจุบันนั้น ธนาคารกลางของประเทศหลักเช่น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างเป็นห่วงว่าเงินเฟ้อต่ำเกินไป ไม่ได้ห่วงว่าเงินเฟ้อจะสูงเกินไป ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เงินเฟ้อของไทยตกต่ำลงไปด้วย แต่หากยอมรับแนวคิดดังกล่าว (ซึ่งมีเหตุผลและที่มาที่ไปพอสมควร) ก็ต้องยอมรับด้วยว่าประเทศเล็กที่เศรษฐกิจเปิด (การค้าเท่ากับ 120% ของจีดีพี)เช่น ไทย ย่อมจะไม่สามารถกำหนดเป้าเงินเฟ้อของตัวเองที่เป็นอิสระจากเงินเฟ้อที่ถูกกำหนดมาจากภายนอกคือประเทศหลักของเศรษฐกิจโลกได้ ดังนั้นจึงต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าการตั้งเป้าเงินเฟ้อของไทยนั้นอยู่ในวิสัยที่จะทำได้จริงมากน้อยเพียงใด?

2) การตั้งเป้าเงินเฟ้อของไทยที่สูงเกินกว่าที่เป็นจริงนั้น ในระยะยาวย่อมจะต้องทำให้นโยบายการเงินตึงตัวเกินควร ตัวอย่าง เช่น ปัจจุบันประเทศไทยตั้งเป้าเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 2.5% ต่อปี ซึ่งนักธุรกิจ นักลงทุนและประชาชนที่เชื่อตาม ธปท ก็ต้องนำเอาเงินเฟ้อ 2.5% มาเป็นสมมุติฐานในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน และเชื่อ ธปท ว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันกำหนดเอาไว้ที่ 1.5% นั้นต่ำมาก และเพราะดอกเบี้ยนโยบายจริง (โดยหักเงินเฟ้อคาดการณ์ออกไป) นั้น เท่ากับ 1.5-2.5 = -1.0% แต่หากในความเป็นจริงนั้น เงินเฟ้อของไทยติดอยู่ที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี ข้างหน้า (จากที่เกือบไม่ได้ปรับตัวขึ้นเลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) ก็จะแปลว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% นั้น แท้จริงแล้วมิได้เป็นการผ่อนคลาย(เพราะดอกเบี้ยจริงนั้นเท่ากับ+1.0% มิใช่ -1%) กล่าวโดยสรุปคือหากเราคาดการณ์เงินเฟ้อสูงเกินความจริงย่างต่อเนื่องยาวนาน นโยบายการเงินก็จะตึงตัวเกินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เสี่ยงกับการที่เศรษฐกิจไทย จะเข้าสู่สภาวะเงินเฟ้อต่ำเรื้อรัง ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่นเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา

ในความเห็นของผมนั้น ข้อมูลที่สำคัญที่น่าจะนำมาประกอบในการพิจารณาข้อมูลหนึ่งคือ ความสัมพันธ์กันระหว่างเงินเฟ้อขอไทยและเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกในช่วง 30 กว่าปี ที่ผ่านมา ว่ามีความสัมพันธ์กันมากขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปในประเทศไทย และประเทศเศรษฐกิจหลักแสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อไทย ปรับตัวไปด้วยกันทั่วโลกอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา

โลกความสัมพันธ์กันของเงินเฟ้อในเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ทางสถิติของเงินเฟ้อไทยกับเงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจหลักเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ยกเว้นญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด) สะท้อนเศรษฐกิจที่เปิดมากขึ้นของไทย จริงอยู่ ความสัมพันธ์ทางสถิติอาจมิได้หมายความว่า ตัวแปรตัวหนึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนตัวแปรอีกตัวหนึ่ง (correlation is not causation) แต่น่าจะมีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยมากกว่าเงินเฟ้อของไทยเป็นตัวกำหนดเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก นอกจากนั้น ก็จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ทางสถิติของเงินเฟ้อระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลักเดิมก็เพิ่มขึ้นเช่นกันยกเว้นกรณีของประเทศญี่ปุ่น

โลกความสัมพันธ์กันของเงินเฟ้อในเศรษฐกิจ