การปฏิรูปทางสังคมคืออะไร สำคัญอย่างไร

การปฏิรูปทางสังคมคืออะไร สำคัญอย่างไร

เศรษฐกิจไทยเติบโตมาตลอด ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา แต่การพัฒนาและการให้บริการด้านสังคมยังคงทำได้ไม่ทั่วถึง ทั้งในเชิงปริมาณและด้านคุณภาพ

การที่รัฐบาลไทยชอบคิดว่าต้องพัฒนาเศรษฐกิจก่อน ให้รัฐบาลมีงบมากๆ แล้วจึงค่อยพัฒนาการศึกษาและสังคมอื่นๆ ทีหลังเป็นการคิดที่หลงทาง ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้ ทักษะ จิตสำนึกน้อย ประสิทธิภาพต่ำ มีปัญหาทางสังคมทั้งการศึกษา สุขภาพอนามัยและอื่นๆ สูง ประเทศย่อมไม่อาจพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังได้

การพัฒนาทางสังคมเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่คุณภาพชีวิตมีความสุข ความพอใจนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจสาเหตุของปัญหาที่ต้นตอ รากเหง้า และประชาชนให้ชัด และต้องมีแนวคิดแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่แค่คิดง่ายๆ ว่าเมื่อเศรษฐกิจเติบโตแล้วภาครัฐและภาคประชาชนจะพัฒนาการศึกษาและสังคมให้ดีขึ้นได้ตามมาเอง

ปัญหาทางสังคมส่วนหนึ่งมาจากการที่แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยกระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ การมีงานที่เหมาะสมทำไปสู่ประชาชนอย่างไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม คนส่วนน้อยรวยขึ้นแต่คนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย/ยากจน ดังนั้นเราจึงต้องปฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางการศึกษา การปฏิรูปทางสาธารณสุขและการปฏิรูปทางสังคมอื่นๆ เพื่อทำให้ประชาชนทั้งหมดเป็นพลเมืองที่มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีความรู้และทักษะแบบใช้งานได้ มีความฉลาดแบบมีจิตสำนึกทางสังคม มีสถานะทางสังคมและอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ทำให้สังคมเกิดความสมดุล และพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ดีขึ้น

การปฏิรูปทางสังคมที่สำคัญคือ การปฏิรูปการเลี้ยงดูและการปฏิรูปการศึกษาแบบทำให้เด็กฉลาดทั้งทางปัญญา อารมณ์ และทางจิตสำนึก รู้จักดูแลและพัฒนาตนเองในเรื่องสุขภาพกายและใจ มีค่านิยม วิถีชีวิตที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งในครอบครัว โรงเรียน และในชุมชน เช่น ตระหนักในเรื่องสิทธิเสรีภาพของตนเอง โดยเคารพ ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น รู้จักฟังเสียงส่วนใหญ่ การพัฒนาจิตสำนึกของพลเมืองดี/รับผิดชอบ ในแง่มีความตระหนัก เข้าใจถึงความจำเป็น/ประโยชน์ของการร่วมมือกัน ว่าการทำงานเพื่อส่วนรวม (ชุมชน/ประเทศ) คือการทำเพื่อตนเองและทุกคนอย่างฉลาดกว่าการแก่งแย่งแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน

แนวทางการปฏิรูปทางสังคม การศึกษาและศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญ

  1. ปฏิรูปการเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยเด็กเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงดูเด็กแบบที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ใช้อำนาจ คำสั่ง กฎระเบียบ ข้อบังคับ เป็นการเลี้ยงดูแบบเสรีประชาธิปไตยโดยใช้หลักเหตุผลและความรู้เรื่องจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กวัยต่างๆให้เด็กได้รับความรัก ความอบอุ่น ที่สร้างสรรค์ สม่ำเสมอ ช่วยให้เด็กมีความอยากรู้อยากเห็น รักการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน รู้จักดูแลและพัฒนาสุขภาพกายและใจของตนเอง เช่น เลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงสารที่เป็นอันตราย ฯลฯ

ส่งเสริมให้เด็กได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่ครู ผู้ใหญ่อื่นๆ เรียนรู้ที่จะพัฒนาค่านิยมที่ดีอย่างเข้าใจเหตุผล เรียนรู้วินัยในตัวเอง รู้ว่าวินัยเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเขาเองและต่อคนอื่นทุกคนในสังคมร่วมกัน และมีทัศนะคติแบบเสรีประชาธิปไตย เคารพสิทธิตนเองและสิทธิคนอื่น ไม่รังแกกลั่นแกล้ง เอาเปรียบ หลอกลวงคนอื่น

  1. ปฏิรูประบบบริหารจัดการทางการศึกษาพัฒนาและส่งเสริมให้มีครูอาจารย์ที่ฉลาดและมีจิตใจประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น ใจกว้างที่จะรับฟังนักเรียน นักศึกษา และเพื่อน รู้จักวิธีการสอนแบบชี้แนะ นำการสัมมนาให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ แทนการบรรยายเพื่อท่องจำไปสอบ ช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใจรู้และฝึกการคิดวิเคราะห์ เป็นตัวของตัวเอง กล้าถาม กล้าอภิปราย

ปฏิรูปวิธีการวัดผล (การสอบ) ที่ควรเน้นความสามารถในการเข้าใจวิเคราะห์สังเคราะห์ปฏิบัติได้แทนการท่องจำ ปฏิรูปการบริการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจงบประมาณและความรับผิดชอบไปที่จังหวัดและสถานศึกษาต่างๆ อย่างเป็นธรรม คือช่วยสถาบันการศึกษาที่ด้อยคุณภาพกว่าเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ปฏิรูปคณะกรรมการบริหารระดับท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ที่จะจัดการศึกษาในระดับชุมชนและสถาบันการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพสูงขึ้น พัฒนาผู้เรียนทั้งความฉลาดทั้งทางปัญญา อารมณ์ จิตสำนึก

  1. ปฏิรูปด้านสาธารณสุขรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักดูแลสุขภาพตนเองด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หลีกเลี่ยงสารที่เป็นอันตราย ออกกำลังกาย และปฏิรูปนโยบายเรื่องการผลิตและการสั่งเข้ายา ทำให้ยามีราคาถูกลงและควบคุมการใช้ยาอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลิตแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์เพิ่ม ปฏิรูประบบการให้บริการ ฯลฯ
  2. 3. ปฏิรูประบบห้องสมุดและการสอนภาษาและวรรณกรรมทั่วประเทศส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านหนังสือดีเพื่อความเพลิดเพลิน สนับสนุนให้มีต้นทุนในการผลิตหนังสือได้ราคาต่ำลง คนมีโอกาสเข้าถึงหนังสือดีได้มากขึ้น
  3. ปฏิรูปสื่อสารมวลชนและสื่อทางสังคมแบบออนไลน์ให้เป็นสื่อสาธารณะของประชาชนที่เน้นข้อมูลความรู้และความบันเทิงอย่างมีสาระเพิ่มขึ้น เสนอข้อมูลรอบด้านเชิงวิเคราะห์ ให้ความรู้ ข้อมูล

ข่าวสาร ยกระดับความคิดอ่านที่มีเหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ และรสนิยมทางศิลปวรรณกรรม และศิลปะด้านต่างๆ และค่านิยมที่ดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น

  1. ปฏิรูปการส่งเสริมและการบริหารจัดการทางด้านศิลปวัฒนธรรม การนับถือศาสนา ความเชื่อต่างๆ การสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรมที่ใจกว้าง สร้างสรรค์ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดแนวคิดค่านิยมในเชิงเสรีประชาธิปไตย แบบใจกว้าง อดกลั้น เรียนรู้ยอมรับและชื่นชมความแตกต่างระหว่างกลุ่มชนและความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้สมาชิกในสังคมมีความมั่งคั่งทางศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน ลดความขัดแย้งและพัฒนาสังคมวัฒนธรรมได้อย่างสร้างสรรค์

การจะปฏิรูปทางสังคมทั้ง 5 ด้านนี้ได้ ควรมีแผนงาน โครงการ ยุทธศาสตร์เพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เน้นเรื่องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองแบบกว้างๆ และเป็นเหมือนวาทะกรรมสวยหรูมากกว่า การคิดอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนว่าจะทำให้บรรลุผลจริงได้อย่างไร