ธุรกิจไทยเข้าถึง AI ได้จริงหรือ

ธุรกิจไทยเข้าถึง AI ได้จริงหรือ

หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความ“AI ที่ลึกล้ำแต่ไม่ยาก ธุรกิจไทยก็เข้าถึงได้” 

ในขณะนั้นผู้เขียนได้อาศัยมาตรฐานของบุคคลที่ผู้เขียนมีความคุ้นเคยและอยู่ใกล้ตัว จึงได้ตัดสินใจไปว่า AI เป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับธุรกิจในประเทศไทย ที่จะสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในประเทศไทย

แต่ล่าสุด กลับได้มีบทความบน The New York Times ที่ได้กล่าวว่า บนโลกทั้งใบนี้ มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ที่จะทำงานกับ AI ได้อย่างจริงจังไม่เกิน 1 หมื่นคน

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ต่างพร้อมใจกันทุ่ม เพื่อช่วงชิง ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ โดยผู้ที่เพิ่งจบปริญญาเอก ทางด้าน AI จะมีรายได้ขั้นต่ำ 3-5 แสนดอลลาร์ต่อปี

ในบางครั้งถึงกับเป็นการซื้อตัวทั้งคณะหรือภาควิชาของมหาวิทยาลัย เช่นดังตัวอย่างของ Carnegie Mellon University ที่ถูก Uber ซื้อตัวทั้ง ศาสตราจารย์และนักศึกษาปริญญาเอก รวม 40 คน เพื่อนำไปพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ จนกระทั่งเกิดปัญหา ของความต่อเนื่อง ทั้งในด้านของวิชาการ และ การศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของ Stanford University และ University of Washington ที่ ศาสตราจารย์ จำนวนมาก ได้ถูกซื้อตัว ไปอย่างบริบูรณ์ หรือเหลือเพียงการทำงานที่มหาวิทยาลัยอย่างครึ่งเวลาเท่านั้น

เอกลักษณ์อันมีนัยสำคัญ ที่ทำให้ยุคของ AI นั้นมีความแตกต่างกับ ยุคของ Startup ก็คือ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ที่จะทำงานกับ AI ได้อย่างจริงจัง โดยทั่วไปแล้ว จะต้องจบปริญญาเอกเป็นอย่างน้อย จึงทำให้มีการคาดคะเนว่า บนโลกใบนี้ มีผู้ที่จะทำงานกับ AI ได้อย่างจริงจังไม่ถึง 1 หมื่นคน ในขณะที่ ในยุคของ Startup ผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายคน ยังไม่จบแม้กระทั่ง ปริญญาตรี หรือ ในระดับมัธยมศึกษา

ความแตกต่างประการนี้ ได้ส่งผลอย่างเป็นที่ประจักษ์ ในวงการ Startup ซึ่งแม้แต่ใน Silicon Valley ธุรกิจ Startup ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเข้าถึง AI ได้ ในขณะที่ความได้เปรียบทางด้าน AI กลับได้มากระจุกตัวอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่สามารถทุ่มเพื่อช่วงชิง ผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างเฉพาะทาง มาอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก

หากจะมองถึงธุรกิจขนาดกลาง หรือกระทั่งขนาดใหญ่ ที่ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ ก็ยังคงที่จะไม่สามารถเข้าถึงความได้เปรียบจาก AI เพราะการที่บุคลากร ได้มากระจุกตัวอยู่กับ ยักษ์ใหญ่ ระดับโลก

เมื่อกลับมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ในประเทศไทยแล้ว อาจต้องถามตัวเองว่า จะเป็นไปได้ไหม ที่จาก 1 หมื่นคนนี้ จะมีมากกว่า 100 คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับธุรกิจไทย ที่จะไปช่วงชิงตัวมาได้

เรื่องราวดังกล่าว อาจมีความแตกต่างกับ การขาดแคลน Java Programmer ในยุคเริ่มแรกของอินเทอร์เน็ตและธุรกิจอีคอมเมิร์ซเมื่อราว 20 ปีก่อน ที่ทำให้เกิดการทุ่ม เพื่อช่วงชิงตัว Programmer จนทำให้รายได้ของ Programmer ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคนั้น

แต่ต่อมาไม่นาน ภาคการศึกษา จากทั่วทุกมุมโลก ก็สามารถผลิต Java Programmer ออกมาได้ จนเพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการผลิต Programmer การศึกษาในระดับ ปริญญาตรี หรือกระทั่ง ในระดับมัธยมศึกษา ก็อาจเพียงพอแล้ว แต่การผลิตผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI กลับมีความยากและล้ำลึกยิ่งกว่ามากนัก

หากกลับมาวิเคราะห์ประเทศไทย ภาคการศึกษายังคงไม่มีความพร้อม ที่จะผลิต Programmer ตามความต้องการของตลาด ทั้งนี้ คงไม่ต้องพูดถึง การที่ภาคการศึกษาของไทย จะผลิตผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI เอง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำสูงสุด กลับเป็นการช่วงชิงตัว ศาสตราจารย์และนักศึกษาปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัย ที่ต้องรวมไปถึงการซื้อตัวทั้งคณะหรือภาควิชา เพราะจะทำให้เกิดปัญหาของความต่อเนื่อง และจะทำให้ภาคการศึกษา กลับสามารถผลิตบุคลากรได้ช้าลงอีก และความก้าวหน้าทาง AI ทั้งหมด จะกระจุกตัวอยู่ที่ยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย และขาดการแผยแพร่ผ่านช่องทางวิชาการและการศึกษา

ปัญหาของ AI ในขณะนี้ คือการกระจุกตัวอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้งนี้ คงไม่ต้องพูดถึงประเทศไทย เพราะ Startup และธุรกิจอื่นๆ ในนานาอารยประเทศ ก็ยังยากที่จะเข้าถึง เพื่อให้ได้โอกาสที่จะชิงความได้เปรียบหรือกระทั่งความเสมอภาค