'จีอี' สตาร์ทอัพอายุ 125 ปี

'จีอี'  สตาร์ทอัพอายุ 125 ปี

ผ่านร้อนผ่านหนาวแบบหนักๆ กระดูกของ CEO ของเจฟฟ์ก็แกร่งขึ้น เมื่อถึงยุคของไฮเทคและนวัตกรรม เขาจึงพร้อมในการนำจีอีเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล

จำได้ว่าเมื่อประมาณ 16 ปีมาแล้ว ดิฉันเพิ่งเริ่มเขียนคอลัมน์ให้กับกรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเวลานั้น "แจ็ค เวลช์" อดีต CEO ระดับตำนานของบริษัทยักษ์ใหญ่จีอี เพิ่งก้าวลงจากตำแหน่งแล้วหันไปเปิดสถาบันสอน MBA ทางออนไลน์ และเปิดหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องการบริหารจัดการ การพัฒนาภาวะผู้นำโดยใช้ยี่ห้อแจ็ค เวลช์ ที่สามารถเรียกศรัทธาจากมหาชนได้อย่างดีไม่มีถดถอยจนทุกวันนี้

ตอนที่แจ็คเกษียณจากจีอีใหม่ๆ วงการธุรกิจทั่วโลกต่างจับตามอง "เจฟฟรีย์ อิมเมลต์" CEO ลูกหม้อของจีอีที่ก้าวขึ้นมาสวมตำแหน่งแทนแจ็คด้วยความสนใจว่าเจฟฟ์จะสามารถรักษาความยิ่งใหญ่ของจีอีที่แจ็คสร้างเอาไว้ได้หรือไม่ บอร์ดของจีอีเองแม้จะรู้สึกเป็นห่วงอนาคตขององค์กรอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถพูดได้ว่าพวกเขาเป็นกังวลกับการทำงานของเจฟฟ์ เพราะหนึ่งปีก่อนหน้าที่แจ็คจะเกษียณ เขาได้เตรียมการถ่ายทอดงานให้กับเจฟฟ์เป็นที่เรียบร้อย  

16 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ เจฟฟ์ก็ได้เกษียณจากตำแหน่ง CEO ของจีอีอย่างสง่างามไม่เสียยี่ห้อจีอีแต่อย่างใด แม้ว่าเขาจะไม่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกเหมือนแจ็ค เวลช์ และอาจจะไม่ได้มีวิธีการบริหารที่ออกแนวเข้มดุเดือดอย่างแจ็คที่ได้รับการขนานนามว่า “The Neutron Jack” (หมายความว่าไปถึงไหน พนักงานที่ไร้ผลงานจะถูกปลดจนเรียบเตียนเหมือนโดนระเบิดนิวตรอน) แต่เจฟฟ์ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน CEO ระดับแนวหน้าของโลกยุคดิจิตัลที่มีความสามารถในการนำการเปลี่ยนแปลงได้ดีเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง

ที่สำคัญเจฟฟ์มีภาวะผู้นำและแนวทางบริหารเป็นของตนเองที่แตกต่างไปจากแจ็ค ตลอดระยะเวลาประมาณเกือบ 17 ปีที่ทำหน้าที่ CEO เจฟฟ์ต้องผ่านวิกฤติหนักๆถึง 3 ครั้ง  เหตุการณ์แรกก็คือเพียง 4 วันหลังรับตำแหน่ง CEO ก็เกิดการก่อร้าย 9/11 ที่สั่นสะเทือนขวัญอเมริกันชนและชาวโลก เหตุการณ์ก่อการร้ายในครั้งนั้นมีพนักงานจีอีเสียชีวิต 2 ราย และทำให้ธุรกิจประกันภัยของจีอีต้องสูญเสียเงินไปประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ทำประกัน

หมดเรื่องจาก 9/11 ไม่ทันไร เจฟฟ์ก็โดนหางเลขจากเหตุการณ์ล้มละลายของบริษัทเอนรอนและบริษัทยักษ์ใหญ๋อีกหลายบริษัทที่มีวิธีการทำบัญชีที่มีเงื่อนงำซ้อนเร้น จากกรณีความฉ้อฉลของเอนรอนทำให้ทางการจับตามองบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆอย่างเช่นจีอีด้วย จีอีโดนตรวจสอบอย่างหนักและอย่างละเอียดยิบ แต่เขาก็ฝ่าด่านนี้ไปจนได้โดยต้องเสียเวลาและเสียเงินไปกับเรื่องนี้ไม่น้อย

แล้วก็มาเจอคลื่นยักษ์ลูกที่สาม คือวิกฤตสินเชื่อซับไพร์มหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี ค.ศ. 2008 ที่มีผลทำให้จีอี แคปปิตัลซวนเซจนทรุด เจฟฟ์รีบจับมือกับสถาบันทางการเงินโกลด์แมน แซคส์และมอร์แกน สแตนลีย์ในการแก้ปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้รัฐบาลกลางยังยื่นมือเข้ามาช่วยจีอีอีกด้วย ทำให้จีอีรอดวิกฤตไปได้อีกครั้ง

ผ่านร้อนผ่านหนาวหนักๆมาถึงสามครั้งสามครา กระดูกของ CEO อย่างเจฟฟ์ก็แกร่งขึ้น และเมื่อศตวรรษที่ 21 เป็นยุคของไฮเทคและนวัตกรรม เจฟฟ์ก็พร้อมในการนำจีอีเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เจฟฟ์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับวารสารฮาร์วาร์ด บิสสิเนส รีวิวาฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม นี้ว่า 16 ปีในอดีตที่ผ่านมาที่เขาและทีมงานรักษาความเป็นผู้นำของจีอีไว้ได้อย่างยั่งยืนก็เพราะเขา

“สร้างองค์กรที่เป็นประวัติศาสตร์และเป็นต้นแบบขึ้นใหม่ จากเดิมที่ใครๆรู้จักจีอีว่าเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์เก่าแก่รุ่นคลาสสิค แต่ในปัจจุบันคนเรียกเราว่าเป็นสตาร์ทอัพอายุ 125 ปี

ทั้งนี้สตีฟ แบลงค์ ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งสตาร์ทอัพได้ให้นิยามคำสตาร์ทอัพไว้ว่า “คือกิจการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อค้นหาแบบจำลองธุรกิจ (Business Model) ที่ทำซ้ำได้ (repeatable) และขยายตัวได้ (scalable)” หัวใจของสตาร์ทอัพอย่างจีอีจึงอยู่ที่แบบจำลองธุรกิจที่สร้างรายได้จาก “อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (Internet of things หรือ IOT) ซึ่งเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ในการสร้างรายได้จาก IOT เจฟฟ์กล่าวว่าเป็นเรื่องของการที่ “ต้องมีคำว่าการเปลี่ยนแปลงอยู่ในดีเอนเอ (DNA)ขององค์กร” และ “วันนี้เราทำงานแข่งขันเพื่อเอาชนะความท้าทายของวันพรุ่งนี้” เขายังได้ทำการสรุปบทเรียน 6 ประการจากประสบการณ์ของเขาสำหรับผู้นำที่ต้องบริหารองค์กรฝ่าวิกฤต ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายไว้ดังนี้

  1. ผู้นำต้องมีวินัยและมีจุดเน้นในการทำงาน กล่าวคือ ผู้นำและทีมงานพึงมีความคิดริเริ่มหลายๆประการ แต่หน้าที่ของผู้นำที่มีประสิทธิภาพคือสามารถเชื่อมโยงความคิดริเริ่มที่หลากหลายนั้นเข้าด้วยกันเพื่อมุ่งบรรลุเป้าประสงค์เดียวกัน ไม่ปล่อยให้ความคิดฟุ้งกระจาย อันจะมีผลทำให้การทำงานเป็นไปอย่างสะเปะสะปะไร้ความชัดเจน ยกตัวอย่างของจีอี สำหรับศตวรรษที่ 21 นี้ จีอีมุ่งที่จะเป็นองค์กรธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีคุณค่าสูงเพื่อสร้างผลิตภาพที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้นสำหรับองค์กรและลูกค้า พนักงานที่มีความคิดริเริ่มทั้งหลาย อยากจะคิดอะไรก็คิดได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เขาคิดตอบโจทย์ขององค์กรหรือเปล่า
  2. ผู้นำต้องรู้จักปรับเปลี่ยนวงจรในสมองเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในโลก เพราะถ้าผู้นำไม่มีความเชื่อจากส่วนลึกในหัวสมองว่าโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เขาย่อมไม่สามารถบริหารงานและนำทีมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง
  3. ผู้นำต้องสามารถชักจูงใจและทำให้ทีมงานเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องจำเป็น ประมาณว่า ถ้าไม่เปลี่ยน องค์กรอาจอยู่ไม่รอด สำหรับความสามารถในการจูงใจทีมงานให้มีความเชื่อแบบนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะผู้นำต้องเก่งกาจในการชี้แจงแสดงเหตุผลข้อเท็จจริง ตลอดจนมีศิลปะในการหว่านล้อมจนทีมงานมีความเชื่อเหมือนกับผู้นำว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องเร่งด่วนจริงๆ และถ้าทำได้เช่นนี้ ทีมงานย่อมเทใจทุ่มตัวลงมือดำเนินการเปลี่ยนแปลงร่วมกับผู้นำโดยไม่ชักช้า
  4. ผู้นำต้องมุ่งมั่นกับการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ลดละ ประเภททำงานแบบม้าตีนต้น แล้วตอนกลางเริ่มแผ่ว ตอนปลายย่อง แบบนี้ใช้ไม่ได้ ต้องเสมอต้นเสมอปลายค่ะ
  5. ผู้นำต้องมีความยืดหยุ่น คุณสมบัติข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญของนักบริหารการเปลี่ยนแปลง เมื่อท่านอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ท่านจะอยู่กับความเป๊ะๆตลอดไม่ได้ ระหว่างทำงานต้องคอยปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ
  6. ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ต้องรู้จักฟังและทำงานไปพร้อมๆกัน ข้อนี้จะช่วยส่งเสริมการทำงานในข้อที่ 5 เพราะการที่จะมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาหมายความว่า ผู้นำต้องรู้จักรับฟังความคิด คำวิจารณ์จากคนรอบข้างในระหว่างดำเนินงานเป็นระยะๆ ไม่ใช่ทำงานรวดเดียวจนจบแล้วค่อยเปิดโอกาสให้คนมาวิจารณ์ ซึ่งบางทีมันก็สายเกินไปที่จะปรับเปลี่ยนเสียแล้ว

      โอกาสหน้าเราคงจะได้มาคุยกันต่อว่าจีอีมีวิธีรักษาดูแลพนักงานคนเก่งที่หายากมากในยุคนี้ได้อย่างไร ดีไหมคะ?