ปรับกรอบแนวคิด มุ่งสู่ธุรกิจทศวรรษใหม่

ปรับกรอบแนวคิด มุ่งสู่ธุรกิจทศวรรษใหม่

คนทำงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระโดดออกมาจากพื้นที่ที่คุ้นเคย พร้อมที่จะเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยไม่ต้องเสียดายทักษะเดิมๆที่อาจจะมีคุ

ในทศวรรษก่อนหน้านี้มีผู้นำหลายประเทศประกาศนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายการพัฒนาประเทศเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จัดทำแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริงที่สอดรับกับบริบทใหม่ของโลกในยุคใหม่ในอนาคต โลกที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างที่สุด เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด และมีผลกระทบกับผู้คนบนโลกนี้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม บางประเทศก็ตั้งตัวชี้วัดความสำเร็จไว้ในปี 2020 บางประเทศก็กำหนดไว้ในปี 2025

 โลกที่จะมีเด็กเกิดใหม่น้อยลงตามลำดับ ในขณะที่การแพทย์และสาธารณสุขเจริญก้าวหน้ามาก อายุคนยืนยาวขึ้น จนหลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย วัยที่เกษียณจากการทำงาน ไม่มีรายได้ รายจ่ายด้านการดำรงชีพอาจจะไม่มาก เพราะกินน้อยใช้น้อย แต่รายจ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลจะสูงขึ้นตามอายุ สำหรับคนหนุ่มสาววัยทำงานในปัจจุบัน การออมในระยะยาวและการออมเพื่อใช้จ่ายหลังวัยเกษียณเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ดังนั้นความรู้ทางด้านการบริหารเงินในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างที่สุดเรื่องหนึ่งก็ว่าได้

 ความมั่นคงในงาน (job security) ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งคนทำงานมีความกังวลกันอย่างที่สุด โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ อาจจะเข้ามาทดแทนแรงงานคน โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำ งานเสี่ยงภัย งานที่ต้องการความละเอียดแม่นยำสูง งานที่ต้องการความเร็ว งานที่สามารถทำต่อเนื่องหลายชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก รวมถึงงานคิดวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากๆ ดังนั้นบริบทขององค์กรในยุคสมัยเดิมที่มุ่งเน้นเพียงคุณภาพ (Quality) ผลิตภาพ (Productivity) มาตรฐาน (Standard) ความยืดหยุ่น (Flexibility) และความเร็ว (Speed) ในการผลิตสินค้าและให้บริการอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว

 การหาหนทางใหม่ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (High Value-added) เป็นหัวเรื่องใหม่ที่องค์กรต้องคำนึงถึง ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) จึงเริ่มเข้ามาในองค์กร บางองค์กรกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ถึงขั้นจะเปลี่ยนผ่านองค์กรจากวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม ไปสู่วัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ในแบบ “องค์กรนวัตกรรม” ในขณะที่หลายองค์กรหรือส่วนใหญ่ไม่ได้คิดไกลไปขนาดนั้น แต่ก็บรรจุนวัตกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมองค์กร (Corporate values)

 และแน่นอนเมื่อให้ความสำคัญกันขนาดนี้ การเปลี่ยนกรอบความคิด (Paradigm shift) ของคนในองค์กรจึงเป็นงานหลักงานแรกที่ต้องผลักดันและขับเคลื่อนไปให้ได้ ดังนั้นกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร จึงต้องปรับขยายกรอบความคิด จากการแข่งขันกันด้วยผลิตภาพ (Productivity) ด้วยการเพิ่มเติมแนวคิดด้านนวัตกรรม (Innovation) เข้าไปด้วย ส่งผลให้มิติอื่นๆในองค์กรต้องขยายตามไปด้วยเช่นกัน ดังนี้

 ด้านกระบวนการทางธุรกิจ จากเดิมที่มุ่งเน้นเพียงทำให้ได้ตามข้อกำหนด มาตรฐาน และการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขยายสู่การพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน

 ด้านจุดมุ่งเน้นในการบริหาร จากเน้นที่การปฏิบัติที่ดีและการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ขยายไปสู่วิธีปฏิบัติแบบใหม่ๆและการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า

 ด้านพนักงาน จากเดิมที่เน้นการพัฒนาทักษะอาชีพและการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน ขยายไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และการมีจิตวิญญาณร่วมกันในการพัฒนา

 ด้านปัจจัยในการแข่งขัน จากเดิมให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ขยายไปสู่การแสวงหาคนพันธ์ใหม่และพัฒนาศักยภาพของคนที่มีอยู่เดิมให้สามารถคิดสิ่งใหม่ได้

 ด้านวัฒนธรรมในองค์กร จากวัฒนธรรมการทำซ้ำที่ไม่มีข้อบกพร่อง ผิดพลาด หรือของเสีย ขยายไปสู่วัฒนธรรมการทำใหม่ เปิดให้ค้นคว้าหาสิ่งใหม่ กล้าลองกล้าเสี่ยงอย่างมีเหตุผล

 ด้านความสัมพันธ์ของคนในองค์กร จากการแบ่งงาน ความรับผิดชอบ และไม่ก้าวก่ายกัน ขยายไปสู่ความร่วมมือระหว่างฝ่าย การทำงานข้ามสายงาน ข้ามวัฒนธรรม

 ด้านแนวทางการพัฒนาองค์กร จากการปรับปรุงกระบวนการ พัฒนาคุณภาพ และทำตามมาตรฐาน ขยายไปสู่การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย

 ด้านผลลัพธ์ขององค์กร จากการให้ความสำคัญเฉพาะผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ขยายไปสู่การคิดรูปแบบทางธุรกิจและความร่วมมือทางธุรกิจ

 ด้านการบริหารงานภายใน จากการมุ่งเน้นระบบบริหารคุณภาพ มาตรฐาน และความยืดหยุ่น ขยายไปสู่การจัดการนวัตกรรม การจัดการเทคโนโลยี และการจัดการความรู้

 ด้านเป้าหมายในการทำงาน จากการบริหารตามบทบาทหน้าที่ ที่ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาดูแลตามโครงสร้างของตนเอง ขยายไปสู่การร่วมคิดร่วมสร้างและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ด้วยกัน

 ค่อยๆขยับปรับกรอบแนวคิดเดิมให้กว้างขวางใหญ่ขึ้น สำหรับคนทำงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระโดดออกมาจากพื้นที่ที่คุ้นเคย พร้อมที่จะเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยไม่ต้องเสียดายทักษะเดิมๆที่อาจจะมีคุณค่าน้อยลงไปตามลำดับ