เมื่อ Jack Ma กับ Richard Liu พนมมือ ‘สวัสดีประเทศไทย’

เมื่อ Jack Ma กับ Richard Liu พนมมือ ‘สวัสดีประเทศไทย’

ผู้นำยักษ์ใหญ่ออนไลน์ของจีน 2 เจ้า นำโดย Jack Ma แห่งอาลีบาบาและ Richard Liu ของ JD.com ทำท่าไหว้แบบไทยได้สวยทั้งคู่

คนไทยเราจะทำให้อาการแสดงความเคารพของทั้ง 2 มหาเศรษฐีที่เป็นกำลังสำคัญของจีนยุคอินเทอร์เน็ตนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับไทยเราอย่างไรคือประเด็นที่เราต้องช่วยกันค้นหาและทำให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติให้ได้

เมื่อ Jack Ma กับ Richard Liu พนมมือ ‘สวัสดีประเทศไทย’ เมื่อ Jack Ma กับ Richard Liu พนมมือ ‘สวัสดีประเทศไทย’

 Alibaba และ JD.com เป็นคู่แข่งสำคัญทั้งในตลาดจีนและต่างประเทศ ทั้งสองกำลังขยายกิจการด้าน e-commerce และ finance มาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้โดยมองไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางหรือ hub สำหรับอาเซียน

ทั้งคู่แข่งกันดุเดือดเพราะต่างมีเงินทุนมหาศาล อีกทั้งยังมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถก้าวกระโดดไปสู่การทำธุรกิจที่กว้างไกลและก้าวหน้า

ทั้งแจ็ค หม่าและริชาร์ด หลิวที่ผมได้สัมภาษณ์มายืนยันตรงกันว่าอนาคตของธุรกิจออนไลน์คือการใช้ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) กับหุ่นยนต์ (robotics) ผสมกับเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคผ่าน Big Data และ Analytics ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ตรงกับความต้องการของคนสมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังทำให้ต้นทุนต่ำลง บริการดีขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ได้อีกด้วย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ริชาร์ด หลิว มากรุงเทพฯ เพื่อเปิดตัวการตั้งบริษัทร่วมระหว่าง JD.com กับกลุ่มเซ็นทรัล และถือโอกาสเชิญชวนผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยปิดประตูแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา

ผู้เข้าร่วมวงเสวนาวันนั้นเป็นแถวหน้าของธุรกิจออนไลน์ของไทยไม่ว่าจะเป็นด้าน e-commerce, startups, fintech รวมไปถึงวงการธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทยกับตัวแทนด้าน ICT ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย

(ผมบอกริชาร์ด หลิวว่าผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ไทยประมาณ 30 ท่านที่มาตั้งวงพูดคุยกับเขานั้น ถ้าไปรวมตัวอยู่บนเกาะแห่งใดแห่งหนึ่งในโลก จะสามารถสร้างประเทศใหม่ขึ้นมาแข่งกับจีนได้ทีเดียว!)

เนื้อหาของบทสนทนาวันนั้นชี้ชัดว่าไทยเราจะต้องไล่ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และจะต้องร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง JD.com (ซึ่งมี Tencent เจ้าของ WeChat) เป็นผู้ถือหุ้นด้วย) และ Alibaba เพื่อสร้างประโยชน์กับไทยในฐานะหุ้นส่วน, พันธมิตรและสหายยุคไซเบอร์

เราต้องไม่ใช่เพียงผู้บริโภคที่จับจ่ายสินค้าของเขาเท่านั้น หากจะต้องสามารถร่วมมือกับใช้เทคโนโลยีและ platforms ของเขาในการนำเอาสินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ตลาดจีนและทั่วโลกได้อย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย

ผมเชื่อมั่นในความสามารถส่วนตัวของนักธุรกิจไทยรุ่นใหม่ที่ผมได้สัมผัสและแลกเปลี่ยนความเห็น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการสามารถรวมตัวกันระหว่างเอกชนและรัฐบาลเพื่อสร้างพลังต่อรองและสานประโยชน์ทั้งในระดับชาติและผนึกกำลังกับเพื่อนๆ ในอาเซียนให้เกิดความแข็งแกร่งในภูมิภาคพร้อมกันอีกด้วย

ผู้ประกอบการจีนก็ตระหนักว่าพวกเขาจะต้องไม่ถูกมองว่ามาเอารัดเอาเปรียบประเทศเล็กกว่าในย่านนี้ ทั้งแจ็ค หม่าและริชาร์ด หลิว รับทราบถึงความห่วงกังวลของไทยเราว่าหากเขาเล่นเกม “กินรวบ” ในประเทศเพื่อนบ้านที่อ่อนแอกว่า, ปรากฏการณ์ต่อต้านจีนและทัศนคติด้านลบต่อพวกเขาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ในโลกยุคใหม่แห่งเทคโนโลยี ปรากฏการณ์ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก จะเกิดขึ้นได้หากปลาเล็กไม่ตื่นตัว ไม่ปรับตัว และไม่แสวงหาความร่วมมือกับผู้ร่วมเดินทาง

ท้ายที่สุด “ปลาเล็ก” อย่างไทยจะต้องอยู่รอดและขี่ยอดคลื่นได้ด้วยการทำตัวเป็นเปราดเปรียว, คล่องแคล่ว, ปรับตัวและเรียนรู้ตลอดเวลา

ผมเชื่อว่าในโลกยุคใหม่นี้ปัจจัยตัดสินความอยู่รอดไม่ได้อยู่ที่ความใหญ่หรือเล็ก หากแต่อยู่ที่ความเร็วและความปราดเปรียวมากกว่า!