รฦก ๑๐๐ ปี ซีมะโด่ง หนึ่งในหนังสือดีของปี

รฦก ๑๐๐ ปี ซีมะโด่ง หนึ่งในหนังสือดีของปี

รฦก ๑๐๐ ปี ซีมะโด่ง หนึ่งในหนังสือดีของปี

วันนี้ดิฉันจะขอแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่ดิฉันมีส่วนร่วมจัดทำ โดยเป็นกองบรรณาธิการค่ะ

ในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มาวิทยาลัย หอพักนิสิตจุฬาฯ ก็ครบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งด้วย เนื่องจากผู้เข้าเรียนทุกคนตั้งแต่สมัยที่เริ่มสถาปนามหาวิทยาลัย ต้องพักอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จึงเรียกผู้เข้าศึกษาว่า “นิสิต”​ ซึ่งแปลว่า “ผู้อาศัย” ดังนั้น หอพักนิสิตจุฬาฯ จึงมีการก่อตั้งมาครบหนึ่งร้อยปีในปี 2560 นี้ด้วย

สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำหนังสือ “รฦก๑๐๐ ปี ซีมะโด่ง” เพื่อเป็นที่ระลึกการเฉลิมฉลองในวาระที่หอพักนิสิตจุฬาฯ ครบรอบ 100 ปีโดยกรรมการสมาคมฯ เห็นว่าในวาระที่มีความสำคัญยิ่งเช่นนี้ ควรจะมีการจัดทำหนังสือ เพื่อเป็นที่ระลึก โดยรวบรวมประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประวัติของหอพักนิสิตจุฬาฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 เมื่อครั้งที่นิสิตยังพำนักที่ “หอวัง” หอพักแห่งแรกของนิสิตจุฬาฯ ที่เคยตั้งอยู่บริเวณวังวินเซอร์ ซึ่งเป็นวังของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย จนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป

ศูนย์การค้า เอ็มบีเค ในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหอพักนิสิตหญิง ซึ่งก่อสร้างขึ้นด้วยเงินประเดิมจากเจ้าจอมสมบูรณ์ ในรัชกาลที่ห้า และใช้เป็นหอพักนิสิตชายในช่วงปี 2518 ถึงปี 2525 ก่อนจะถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างศูนย์การค้า มาบุญครอง หรือ เอ็มบีเค ในปัจจุบัน

หนังสือหนา 430 หน้าเล่มนี้ เน้นการบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคสมัย ผ่านการบอกเล่าของคนที่อยู่ในสมัยนั้นๆ โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.​ 2495 เป็นต้นมา โดยได้รับความกรุณาจากพี่ๆชาวหอในยุคนั้น เล่า หรือเขียนเรื่องให้อ่านด้วยตนเอง จึงเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต หรือ Living History ซึ่งผู้อ่านจะสามารถติดตามเรื่องราวของประวัติหอพัก ชีวิตความเป็นอยู่ ค่านิยมและทัศนคติ ของคนในแต่ละยุค จากเรื่องเล่าเหล่านี้ ซึ่งมีถึง 60 กว่าเรื่อง

หนังสือแบ่งออกเป็น 9 ส่วน คือ ร้อยสารเปิดตำนาน ร้อยกาลผ่านรำลึก ร้อยจารึกซีมะโด่ง ร้อยจรรโลงวิถีนิสิต ร้อยกิจกรรมพัฒนาชีวิต ร้อยข้อคิดความรู้สึก ร้อยรฦกคุณูปการ ร้อยปณิธานความภูมิใจ และ ร้อยดวงใจปัจฉิมบท

นอกจากนั้น ภาพประกอบที่ทางกองบรรณาธิการเสาะหาและคัดเลือกมาลง ก็เป็นภาพที่สวยงาม หลายๆภาพเป็นภาพที่หายาก อาจไม่เคยปรากฏแก่สายตาของคนทั่วไป เพราะนิสิตในยุคต่างๆเหล่านั้น ให้ความร่วมมือในการส่งมาให้กองบรรณาธิการคัดเลือก

ดิฉันชอบทุกส่วนของหนังสือเล่มนี้ แต่มีสามส่วนที่ชอบมากเป็นพิเศษ คือ “ร้อยกาลผ่านรำลึก” เป็น ประวัติย่อในลักษณะ Timeline ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และของหอพักนิสิตจุฬาฯ และในส่วนของ “ร้อยจรรโลงวิถีนิสิต” เป็นเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของนิสิตชาวหอพักจุฬาฯตั้งแต่ยุค หอใหม่ หอเจ้าจอม มาจนถึงยุคก่อร่างสร้างตึก และยุคที่หอพักนิสิตมารวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน หลังการจัดสรรที่ไปให้เช่าสร้างศูนย์การค้ามาบุญครอง หรือ เอ็มบีเค และยุคดินแดนแห่งดอกไม้ทั้งห้า ซึ่งตึกต่างๆของหอพัก ถูกเรียกชื่อเป็นดอกไม้

นอกจากประวัติและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวหอพักแล้ว ยังมีข้อคิดดีๆผ่านบทความ คำคม หรือบทสัมภาษณ์ ที่พี่ๆน้องๆชาวหอพักร่วมกันเขียน และจากการค้นคว้าของกองบรรณาธิการ

ในเล่ม มีชีวิตและประวัติอย่างย่อของพี่ๆอดีตนิสิตหอพักทั้งชายและหญิง ในสาขาต่างๆ ที่มาจากทุกภาคของประเทศไทย อาทิ คุณสันติ วิริยะรังสฤษฎ์​(ไต้ฝุ่น / ลมเปลี่ยนทิศ) คุณสันติ วิลาสศักดานนท์ คุณประชา เตรัตน์ คุณเอนก นาวิกมูล คุณนันทพร ศานติเกษม (ปิยะพร ศักดิ์เกษม) ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ คุณบวร วงศ์สินอุดม ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล เป็นต้น

กองบรรณาธิการได้ไปเจาะลึกถึงคติในการดำรงชีวิตของท่านเหล่านั้น โดยเล็งเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยในชนบทที่อ่าน ให้สัมผัสได้ว่า พี่ๆเยาวชนชาวชนบทในสมัยก่อน ก็ลำบากไม่ต่างกับสมัยนี้ กว่าจะได้เล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย และให้เยาวชนมีความฝัน และความพยายามที่จะทำตามความฝัน เพื่อสักวันหนึ่ง เยาวชนเหล่านั้น จะมีโอกาสเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา มีโอกาสยกระดับความรู้และฐานะของตนเอง ให้อยู่ในแนวหน้าของประเทศได้

หนังสือ “รฦก ๑๐๐ ปี​ซีมะโด่ง” พิมพ์สี่สีทั้งเล่มด้วยกระดาษอาร์ตมันอย่างดี จัดทำในจำนวนจำกัด โดยทุกเล่มหุ้มปกสีชมพูสดใส มีหมายเลขกำกับบนใบหุ้มปก จำหน่ายในราคาเล่มละ 1,000 บาท ทั้งนี้ สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาฯ จะเปิดขายหนังสือในงาน “มหัศจรรย์ ๑๐๐ ปีซีมะโด่ง” เพื่อเฉลิมฉลองวาระแห่งการครบรอบ 100 ปี ในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2560 เวลา 10.00-21.30 น. หลังจากวันงาน ติดต่อซื้อได้ที่สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาฯ โทร. 0-2218 3640

ไม่ได้เป็นชาวหอพักจุฬาฯก็อ่านได้ หรือจะซื้อเพื่อนำเข้าห้องสมุดของโรงเรียนก็ได้นะคะ