‘เด็กดื้อ’ ของ พาวเวิล คูโรดา & คาร์นีย์

‘เด็กดื้อ’ ของ พาวเวิล คูโรดา & คาร์นีย์

หากพิจารณาจากประธานธนาคารกลางสหรัฐท่านใหม่ หลายท่านคงนึกว่าการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยจะทำได้ไม่ยาก

 อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง นโยบายการเงินก็มิได้เป็นไปตามที่ตัวประธานต้องการเสมอไป เนื่องจากมักจะมีผู้มีความเห็นที่แตกต่างจากตัวประธานและกรรมการท่านอื่นๆ สำหรับเรื่องสำคัญในธนาคารกลางแทบทุกแห่ง ผมขอเรียกผู้เห็นต่างเหล่านี้ว่า ‘เด็กดื้อ’ โดยตอนนี้ ที่ฮอตติดชาร์ทมีอยู่ด้วยกัน 3 ท่าน ดังนี้

  1. ท่านแรกนามว่า นาย คาทาโอก้า โกชิ ผมขอตั้งฉายาว่า ‘น้องใหม่รั้นบริสุทธิ์’ ที่เป็นสมาชิกใหม่ของธนาคารกลางญี่ปุ่น แม้เพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกใหม่ไม่ถึง 6 เดือน ทว่าทำสถิติเป็นหนึ่งเดียวจากสมาชิกทั้งหมดที่โหวตคัดค้านแพ็คเกจนโยบายการเงินฉบับ Yield Curve Control ที่มีการซื้อพันธบัตร 80 ล้านล้านเยนต่อปี ของนายฮิเรอิโกะ คูโรดา ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นถึง2 ครั้ง2 คราวติดต่อกัน หลังจากก็เพิ่งเข้าประชุมมาเพียง 2 ครั้งเท่านั้นเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่าหากคูโรดาทำเพียงแค่นี้ อย่างไรเสีย อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นก็ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ 2% เสียที

ผู้ว่าฯคูโรดา คงจะปวดหัวกับนายโกชิน่าดู เพราะก่อนเข้ามานายโกชิซึ่งเคยเป็นนักวิจัย ที่แบงก์มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ได้ชื่อว่าแฟนพันธุ์แท้ "เบอร์นันเก้’ เนื่องจากชื่นชอบการทำ QE เป็นพิเศษ นายคูโรดาเลยนึกว่าเป็นคอเดียวกันที่ชอบกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำไปทำมา ท่านผู้ว่าฯเองกลับได้คนที่ชอบกระตุ้นด้านการเงินมากกว่าท่านเสียอีก เลยโหวตสวนตลอดว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นยังใช้นโยบายการเงินน้อยเกินไป ดราม่าน้องใหม่คงทำให้นายคูโรดาต้องปวดขมับไปอีกสักพักใหญ่ ที่น่าจับตาคือในช่วงที่นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น อาจจะขึ้นภาษี sales tax ในอีก 2 ปีข้างหน้า

มาถึงน้องใหม่ท่านที่ 2 สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินจากธนาคารกลางอังกฤษ นามว่า นายไมเคิล ซอนเดอร์ส อดีตหัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ในญี่ปุ่นและออสเตรเลียของ Citi เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินแบงก์ชาติอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด ก็เป็น 1 ใน 2 เสียงที่โหวตค้านการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษถึง 2 ครั้งติดต่อกัน โดยเขามองว่าไม่ว่าจะมองจากเหลี่ยมไหน ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจนตัวเขาเองคาดว่าจะชน 3% ในระยะเวลาอันใกล้ หรือผู้อพยพที่ยกเว้นบัลแกเรียและโรมาเนียก็แทบไม่มีใครสนใจที่จะอพยพมาอังกฤษ เนื่องจากงานหายากมากๆ นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจแทบไม่มี slack ให้เห็นแล้ว เขาเลยฟันธงว่า อย่างไรเสีย แบงก์ชาติอังกฤษก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยในทันที ตรงนี้ ถือว่า ไม่เกรงใจรุ่นพี่อย่างนายแอนดริว ฮาร์เดน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แบงก์ชาติอังกฤษที่อยากจะขึ้นดอกเบี้ยมานาน แต่ไม่กล้าโหวตสวนลูกพี่อย่างนายคาร์นีย์

มาถึงท่านสุดท้าย นามว่านายนีล แคชคาริ ประธานเฟดสาขามินาโพลิส เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ปีกว่าๆ หากใครได้ติดตามข่าวช่วงหลังวิกฤติซับไพร์ม คงจะคุ้นหน้าคุ้นตาสมาชิกเฟดท่านนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุนที่ไว้ช่วยเหลือแบงก์ ที่มีปัญหาจากวิกฤติดังกล่าวที่เรียกกันว่า TARP สมัยนายเบน เบอร์นันเก้ เป็นประธานเฟด ก่อนหน้านั้นเขาเคยทำงานที่ธนาคารโกลด์แมนซัคส์กับนายจอห์น พอลสัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเขาโหวตแบบสวนทางเพียงคนเดียวในการประชุมเฟดที่ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อช่วงกลางปีนี้

โดยในครั้งนั้น นายแคชคาริตัดสินใจไปเพราะข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด ในการที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งในมุมของอัตราเงินเฟ้อให้เข้าใกล้ 2% และอัตราการว่างงานในระดับที่ดีต่อชาวอเมริกันโดยรวมให้มากที่สุด

ขอเริ่มจากประเด็นเงินเฟ้อกันก่อน นายแคชคาริได้ยกตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่มาจากการใช้จ่ายส่วนตัวของบุคคลหรือ PCE ที่วัดโดยปราศจากผลกระทบราคาอาหารและน้ำมันหรือ Core PCE ที่เขาชอบอัตราเงินเฟ้อตัวนี้เพราะสะท้อนความจริงได้ดี โดยเขามองว่าหากมองย้อนกลับไป 1 ปีตัวเลขขึ้นแค่จาก 1.71% ขึ้นมาเป็น 1.74% จุดที่นายแคชคาริย้ำคือการที่อัตราเงินเฟ้อไม่เคยแตะระดับอัตราเป้าหมายที่ 2% นั่นหมายความว่าเฟดยังไม่บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ โดยคำว่า เป้าหมายกับ เพดานไม่เหมือนกัน เขาเห็นว่าเฟดในตอนนี้มองจุด ณ อัตราเงินเฟ้อที่ 2% เป็นเหมือน เพดานไม่ใช่ เป้าหมาย

หากพิจารณาระดับค่าแรงของชาวอเมริกันนั้น จะพบว่าค่าจ้างรายชั่วโมงยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติซับไพร์มเสียด้วยซ้ำ ซึ่งคงจะไม่ไปกดดันอัตราเงินเฟ้ออย่างแน่นอน โดยสรุป คือ อัตราเงินเฟ้อยังไม่มีสัญญาณว่าจะขึ้นมาแบบให้เห็นกัน

ประเด็นที่ 2 มาถึงประเด็นการจ้างงานกันบ้าง นายแคชคาริบอกว่าให้ดูตัวเลขอัตราการว่างงานแบบ U-6 ที่รวมเอาชาวอเมริกันที่กำลังหางานอยู่และผู้ที่ทำงานแบบ Part-time อยู่ จะพบว่าอยู่ที่อัตรา 9.2% ในปัจจุบัน แม้จะต่ำกว่าช่วงปี 2010 ที่ 17.1% ทว่ายังสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤติซับไพร์มอยู่ราว 1% โดยจากตัวเลขอัตราการว่างงานแบบ U-6 แสดงว่ายังมีคนที่พร้อมจะกลับเข้ามาในตลาดแรงงานอีกเยอะ

โดยเขามองว่าถ้ารีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ อาจจะพลาดโอกาสที่นำแรงงานดังกล่าวที่กำลังกลับมาตลาดแรงงาน ยกตัวอย่างว่าหากในปี 2012 เฟดขึ้นดอกเบี้ยตอนอัตราการว่างงานที่ 5.6% ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าดีพอที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ ก็จะพลาดที่จะทำให้อัตราการว่างงานลดเหลือ 4.7% เหมือนในตอนนี้ ซึ่งนายแคชคาริไม่อยากให้เฟดพลาดในตอนนั้น ที่สำคัญอัตราการว่างงานของชาวสหรัฐ เชื้อสายแอฟริกันและสเปนยังคงสูงอยู่ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า หากวัดจากอัตราการว่างงานแบบ U-6

ในการประชุมธนาคารกลางสำหรับปี 2018 ท่านผู้อ่านอาจจะต้องระวังเด็กดื้อเหล่านี้แผลงฤทธิ์ในการประชุมทุกครั้ง และขอยินดีกับประธานเฟดท่านใหม่ที่ผมคาดการณ์ไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนด้วยครับ