อันเนื่องมาจากเรื่องรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์2560 (จบ)

อันเนื่องมาจากเรื่องรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์2560 (จบ)

ตอนที่แล้วพูดถึงสมมติฐาน 3ประการของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคือ (1)มนุษย์เราตัดสินใจทำอะไรในชีวิตด้วยเหตุผลเสมอ (2)มนุษย์เราแสวงหาค่าตอบแทนสูงสุด

(3) มนุษย์เราเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทัดเทียมกัน และนักเศรษฐศาสตร์ผู้บุกเบิกหลักวิชาจากการปรับเปลี่ยนสมมติฐานประการแรกเพิ่งได้รับรางวัลโนเบล หลักวิชาที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนสมมติฐานนั้นเรียกกันว่า “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

สมมติฐานประการที่ 2 มองจากทั้งในระดับบุคคลและในระดับองค์กรแสวงหากำไร ในระดับบุคคล สมมติฐานนี้มองว่าคนเราตัดสินใจทำอะไรเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตนเองเป็นที่ตั้ง ในปัจจุบัน เกิดข้อสงสัยว่าสมมติฐานนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป ทั้งนี้เพราะมีบุคคลที่ทำอะไรต่อมิอะไรให้ผู้อื่นโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน การทำทานเป็นหลักหมื่นล้านดอลลาร์ของบิล เกตส์และวอร์เรน บัฟเฟตต์ในช่วงสิบกว่าปีมานี้เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุด อย่างไรก็ดี ณ วันนี้ยังไม่มีหลักวิชาอันเกิดจากการปรับเปลี่ยนสมมติฐานประการนี้จนผู้บุกเบิกได้รับรางวัลโนเบลเช่นเดียวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

สมมติฐานประการที่ 3 น่าจะมีความโดดเด่นเป็นพิเศษเนื่องจากยุคนี้มีชื่อว่า ยุคข่าวสารข้อมูล ข่าวสารข้อมูลมีความสำคัญอย่างไรคงไม่ต้องเน้นย้ำนอกจากจะบอกว่า มหาเศรษฐีที่มีสมญาว่าพ่อมดการเงินจอร์จ โซรอส สร้างความร่ำรวยมหาศาลได้จากการมีข้อมูลมากกว่าผู้อื่น วิธีเข้าถึงข้อมูลก่อนยุคโลกไร้พรมแดนของเขามีอยู่คร่าวๆ ในหนังสือชื่อ “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com) นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำการวิจัยเรื่องการเข้าถึงข้อมูลได้ไม่ทัดเทียมกันและผลของมันที่มีต่อสังคมได้แก่ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างไรก็ดี หลักวิชาที่เกิดจากการวิจัยของเขาไม่ได้แยกออกมาจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่นเดียวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

หลังศาสตราจารย์สติกลิตซ์ได้รับรางวัลโนเบลจากการวิจัยเรื่องความไม่ทัดเทียมกันของการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล 4 ปี โธมัส ฟรีดแมนพิมพ์หนังสือขายดีแบบเทน้ำเทท่าออกมาชื่อ The World Is Flat หรือ โลกแบน (มีบทคัดย่อภาษาไทยซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน) ผู้แต่งมิได้เป็นสมาชิกสมาคมโลกแบนที่ต้องการสื่อความเชื่อของเขาตามชื่อของหนังสือ หากต้องการสื่อว่าในโลกยุคไร้พรมแดนเช่นปัจจุบัน มนุษย์เราเข้าถึงข้อมูลได้อย่างกว้างขวางและทัดเทียมกันแล้ว 

นัยของหนังสือเป็นเสมือนการยืนยันสมมติฐานประการที่ 3 ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและอาจตีความหมายต่อไปได้ว่า โลกจะพัฒนาต่อไปได้อย่างราบรื่นพร้อมกับความเหลื่อมล้ำจะลดต่ำลง ณ วันนี้ ย่อมเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า แทนที่จะราบรื่น โลกกลับไม่ค่อยพัฒนาแต่มีการรบราฆ่าฟันกันอย่างกว้างขวาง และแทนที่จะลดลง ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มขึ้น

นอกจากสมมติฐาน 3 ประการนั้นแล้ว ยังมีสมมติฐานแฝงและความจริงพื้นฐานที่ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังอีกด้วย สมมติฐานแฝงที่คอลัมน์นี้อ้างถึงหลายครั้งได้แก่ ยิ่งมีรายได้สูงขึ้นเท่าไร มนุษย์เรายิ่งมีความสุขกายสบายใจอันเป็นเป้าหมายของชีวิตมากขึ้นเท่านั้น การวิจัยจำนวนมากได้พิสูจน์แล้วว่าสมมติฐานนี้ไม่มีความจริงสนับสนุนอย่างมั่นคงและปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขมีอีกมากนอกจากรายได้ ฉะนั้น การมุ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องเพียงด้านเดียวมิใช่คำตอบ รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

อนึ่ง เนื่องจากโลกมีปัญหามายาวนานรวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ จึงเกิดการประณามระบบตลาดเสรีที่ทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบันพร้อมกับการเสนอให้มองหาระบบใหม่ที่ดีกว่า ขอเรียนว่า ระบบที่ดีกว่าระบบตลาดเสรีไม่มีเพราะระบบตลาดเสรีสะท้อนสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์เรา นั่นคือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่แลกเปลี่ยนกันและเราต้องการทำอะไรๆ ได้อย่างเสรี อย่างไรก็ดี ระบบตลาดเสรีมีข้อจำกัดซึ่งประวัติศาสตร์มีบทเรียนให้ดูอยู่มากมายแล้ว ข้อจำกัดของตลาดเสรีมีทางแก้ไขด้วยการใช้หลักความพอประมาณและทางสายกลางซึ่งเป็นแก่นของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่เราชาวไทยจะทำความเข้าใจและปฏิบัติตามแนวคิดอันประเสริฐนี้อย่างจริงจังทั้งในระดับบุคคลและในระดับรัฐบาล