ดอกเบี้ยนโยบายไทยมีไว้ทำอะไร?

ดอกเบี้ยนโยบายไทยมีไว้ทำอะไร?

ดอกเบี้ยนโยบายไทยมีไว้ทำอะไร?

หลังจากที่มีเสียงจากหลายภาคส่วน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อจะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นมา และช่วยลดภาระการกู้เงินของผู้ประกอบการ จึงเกิดคำถามตามมาขึ้นมากมายว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ที่จริงแล้วมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ใด แล้วใครได้ หรือ เสียประโยชน์อย่างไร หากมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

“อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ เพื่อดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 1-4% โดยเมื่อเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จึงมีการคาดการณ์ว่า ธปท.จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น

แต่หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องพิจารณาว่าผู้กู้จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือไม่

สำหรับผู้กู้รายย่อยส่วนใหญ่ใช้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่เกือบทั้งหมด อีกทั้งสินเชื่อบ้านยังเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำกว่าปกติ (Teaser Rate) ในช่วง 3 ปีแรก จึงไม่ได้รับผลจากการปรับดอกเบี้ยในแต่ละครั้งมากนัก

ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ก็สามารถกู้ที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงMLR ขึ้นกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งมักเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่แล้ว และยังสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จากหลายสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศ จึงทำให้การปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงนี้ ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจกู้เพิ่มเพื่อขยายกิจการ แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะยอดขายและแผนธุรกิจเป็นหลัก

ในขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs จะกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารประกาศ เช่น MLR และ MRR เมื่อมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายลง ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็จะได้อานิสงส์บ้าง แต่การปรับดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ส่งผลกับสถานะการเงิน ของ SMEs อย่างมีนัยะสำคัญ เนื่องจากสินเชื่อปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 7-10% ทำให้การปรับดอกเบี้ยทีละ 0.25-0.5% มีผลน้อยมากเมื่อเทียบกับฐาน หนำซ้ำ เนื่องจากความเสี่ยงของ SMEs สูง ทำให้ต้องตั้งสำรองสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ จึงเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าความเสี่ยงให้แก่ธนาคาร ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการพยายามลดดอกเบี้ยให้กับ SMEs ก็จะยิ่งทำให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้น้อยลง เราจึงเห็นว่าปัญหาที่ SMEs เจอในปัจจุบัน เป็นเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่าเรื่องดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือผู้ฝากเงิน เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายกับดอกเบี้ยเงินฝาก มักจะวิ่งไปด้วยกัน เมื่อดอกเบี้ยต่ำ จะเป็นการให้ผู้ออมต้องมองหาทางเลือกในการออมการลงทุนมากขึ้นเพราะสภาพคล่องที่ยังล้นระบบ และในปัจจุบันทางเลือกในการออมมีจำกัด ซึ่งบางครั้งก็ไปโผล่ในรูปแบบการลงทุนที่มีความเสี่ยงที่ผู้ออมไม่เข้าใจ เนื่องจากการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมักมากับความเสี่ยงที่ซับซ้อนและยากที่จะเข้าใจ

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบายยังสามารถส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยพบว่าในช่วงที่มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้ค่าเงินบาทขยับบ้าง แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางค่าเงินบาทได้ เนื่องจากเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยว ในขณะที่เงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทย (Portfolio Investment) ซึ่งถูกกระทบโดยตรงจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นเพียงส่วนน้อย ดังนั้น ในช่วงนี้ ดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่สามารถคานทิศทางค่าเงินได้ง่ายๆ และอาจต้องเสริมด้วยเครื่องมืออื่นๆ ที่ดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง

โดยสรุปแล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยยังคงมีความสำคัญ การปรับนโยบายการเงินจะส่งผลกระทบในวงกว้างแต่แตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ เพราะการใช้กระสุนแต่ละครั้ง ผลลัพธ์อาจจะแตกต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในอดีต