เชื่อมั่นในตนเอง ... เชื่อถือจากคนอื่น

เชื่อมั่นในตนเอง ... เชื่อถือจากคนอื่น

การใช้เวลาโต้แย้งกันด้วยหลักการและเหตุผลจนกระทั่งได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดเพื่อไปดำเนินการต่อ

ผมชอบคนที่มี 'ความเชื่อมั่นในตนเอง' เพราะผมเชื่อว่าคนประเภทนี้จะไม่ยอมจมปลักอยู่กับที่ จะไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และจะทำงานที่รับผิดชอบอยู่โดยไม่ย่อท้อจนกว่างานจะสำเร็จลุล่วง เพราะสำหรับผม 'ความเชื่อมั่นในตนเอง' ไม่ใช่การเชื่อว่าตนมีความรู้หรือประสบการณ์สูงกว่าคนอื่น จนเกิดการยึดมันถือมั่นแต่ในความคิดของตนเอง (ซึ่งเป็นลักษณะของคนหลงตัวเอง) แต่หมายถึงการไม่กลัวความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจหรือดำเนินการใดๆ ของตนเอง เพราะเชื่อมั่นว่าตนจะสามารถเรียนรู้และแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นได้ หรือแม้กระทั่งยอมรับที่จะอยู่กับความผิดพลาดนั้นได้ในระหว่างที่ยังทำการแก้ไขไม่สำเร็จ

ผมได้ยินว่าคนจำนวนมากไม่ชอบทำงานกับคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะเห็นว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของคนประเภทนี้เป็นไปได้ยากมาก แต่ผมเชื่อว่าคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองที่ไม่ใช่คนหลงตัวเองจะยอมรับความคิดต่างเห็นต่างได้เสมอ หากมีข้อโต้แย้งที่อยู่บนหลักการและเหตุผลที่ดีกว่าหลักการและเหตุผลที่เขาใช้เป็นพื้นฐานในความคิดเห็นเดิมของเขา ภาระของคนที่ต้องทำงานกับคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง (ไม่ว่าเขาจะเป็นลูกน้องหรือเจ้านาย) จึงอยู่ที่การใช้เวลาโต้แย้งกันด้วยหลักการและเหตุผลจนกระทั่งได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดเพื่อไปดำเนินการต่อไป ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายและจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดด้วย แต่คนที่จะโต้แย้งบุคคลอื่นเช่นนี้ได้ก็จะต้องเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองเช่นเดียวกัน

ผมได้พบและได้มีโอกาสทำงานกับคนเก่งและคนที่มีความมั่นใจในตนเองมาจำนวนไม่น้อย และทุกครั้งที่ผมหวนระลึกถึงบุคคลเหล่านี้ ผมจะต้องนึกถึง ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ด้วยเสมอ

ปัจจุบัน ดร.วิชิต ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการธนาคารของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยได้เข้าดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 ซึ่งก่อนหน้านั้น ดร.วิชิต ก็ได้ทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ มามากมาย รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย

แม้ว่าผมจะได้ทำงานในบทบาทที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์และลูกค้าของธนาคารมาตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังจากที่ ดร.วิชิต เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหารของธนาคารแล้ว แต่ผมเพิ่งมีโอกาสได้พบกับ ดร.วิชิตเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2550 เมื่อผมได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บริษัท อินทัชโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า ชินคอร์ปอเรชั่น) ซึ่งมีทีมงานของบริษัทในกลุ่มของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาอยู่ด้วย

ผมได้ทราบประวัติการทำงานและได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับความสามารถ วิสัยทัศน์ และความมั่นใจในตนเองที่โดดเด่นของ ดร. วิชิตมาจากแหล่งต่างๆ แล้วก่อนที่จะมีโอกาสได้พบ ดร. วิชิต เป็นครั้งแรกนั้น ซึ่งเมื่อมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน ผมพบว่าเรื่องที่ผมได้รับฟังมาทั้งหมดนั้นไม่เกินความเป็นจริงเลย และผมก็สามารถทำงานให้กับ ดร.วิชิต ได้เป็นอย่างดี โดยท่านได้เปิดโอกาสให้ผมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง รวมทั้งยอมรับให้ดำเนินการตามความคิดเห็นของผมในบางเรื่องที่แตกต่างจากแนวทางที่ท่านคิดไว้หลังจากที่ได้ฟังหลักการและเหตุผลที่ผมชี้แจงโดยละเอียดแล้วด้วย

แต่การที่ ดร.วิชิต สามารถเป็นผู้นำที่ทำให้ผู้บริหารและพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ดังเช่นที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันนั้น ผมเชื่อว่าจะต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ 'ความเชื่อถือจากคนอื่น' (ทั้งคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน) เพิ่มเติมจาก 'ความเชื่อมั่นในตนเอง' ด้วย

ในความเห็นของผม (จากประสบการณ์ในบทบาทกรรมการธนาคารของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งผมได้รับการแต่งตั้งเมื่อในปี พ.ศ. 2557) ความสำเร็จของ ดร.วิชิต ในการบริหารจัดการที่ผ่านมา

นั่นมาจากความสามารถในการทำให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีความเข้าใจและเห็นด้วยใน 'เป้าประสงค์' (Purpose) ตามวิสัยทัศน์ของท่าน และเมื่อ ดร. วิชิต ทำการขับเคลื่อนด้วย 'ความเชื่อมั่นในตนเอง' ไปตาม 'เป้าประสงค์' ร่วมกันนั้น จึงทำให้ได้รับ 'ความเชื่อถือจากคนอื่น' อย่างสูงทำให้เกิดพลังในการเดินไปข้างหน้าตามแนวทางที่วางไว้ ไม่กลัวความผิดพลาด ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง

... We all have our jobs but that has to come from a deeper sense of purpose. You have to be driven by something. Leadership is not just about giving energy; it’s unleashing other people’s energy, which comes from buying into that sense of purpose… (จากหนังสือ The Power of Purpose เขียนโดย John O’Brien และ Andrew Cave)