Forever Leadership

Forever Leadership

I came so far yet the answer is so near เดินทางค้นหามาแสนไกล คำตอบที่ได้อยู่ใกล้นิดเดียว

“Dr Thun, can you help?” ผมได้รับคำขอให้ไปช่วยโค้ชทีมผู้จัดการรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง

วันจัดหลักสูตรนั้นตรงกับวันพฤหัสที่ 26 ต.ค. 2560 ซึ่งผมลงปฏิทินล่วงหน้าไว้หลายเดือนแล้วว่า “King’s Royal Cremation” พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เคลียร์ไว้สำหรับหน้าที่สุดท้ายของลูก

หนึ่งในภารกิจการเดินทางออกมา Leading Out of Thailand ของผมคือเล่าเรื่องในหลวง ร.9 ให้คนที่ไม่ใช่คนไทยเข้าใจ ว่าเหตุใดเราจึงรักพ่อของเรายิ่งนัก และเหตุใดโลกจึงควรรักผู้นำท่านนี้เช่นกัน

เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ผู้จัดการชาวสิงคโปร์คนหนึ่งเขียนคอมเมนท์ถึงผมหลังคลาสจบ “ขอบคุณที่เล่าเรื่องของ The King ให้ฟัง เป็นปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ผมรับรู้แล้วว่าทำไมคนไทยจึงรักในหลวงยิ่งนัก และผมเพิ่งเข้าใจอย่างชัดเจนในวันนี้เองว่า การเป็นผู้นำที่ดีนั้นเป็นอย่างไร”

ในเดือนต.ค. หนึ่งปีให้หลัง ผู้จัดการชาวสิงคโปร์คนเดียวกัน ส่ง WhatsApp มาหาผม

“สวัสดีครับ ดร.ธัญ ผมติดตามข่าวในหลวง ร.9 ตั้งแต่เซสชั่นวันนั้น ขอส่งใจมาร่วมถวายอาลัย my thoughts go to you and the other beautiful people of Thailand. He will always be the people’s king. ท่านจะเป็นพระราชาในใจคนไปตลอดกาล”

ในวีดิโอคลิปพระราชกรณียกิจ และพระราชปณิธาน ที่ผมแชร์กับผู้เรียน ลงท้ายด้วยพระราชดำรัส ซึ่งผมคิดว่าสรุปทุกอย่างเกี่ยวกับการเป็นผู้นำในแบบที่ทุกคนสามารถเป็นได้

“I do things that I think will be useful. And that is all.”

ผมตัดสินใจรับงานสอนตามคำขอ แม้จริงๆ อาจหาคนอื่นไปแทน หรือกระทั่งปฏิเสธก็ได้เพราะเป็นเพียงหลักสูตรผู้จัดการไม่ใช่ซีอีโอ หากประโยคข้างต้นคือสิ่งเตือนถึงหน้าที่ที่ควรกระทำ พระองค์ท่านเสด็จทุกหนทุกแห่งบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นยอดดอย ป่าพรุ หรือพระราชวัง มิเคยทรงเกี่ยงว่างานหลวงสำคัญกว่าการราษฎร์

พ่อสอนให้เราพิจารณาว่าสิ่งใดสร้างประโยชน์ และลงมือทำในส่วนเล็กๆ ที่สามารถทำได้

ผมเชื่อพ่อ แม้จะต้องสอนทั้งน้ำตา

ข้อคิดของผู้นำสมอง
1. Forever Leadership อาจเป็นเพียงเหตุบังเอิญ แต่เดือนต.ค.ปี 2560 เป็นเดือนเดียวกับที่หนังสือ Open Source Leadership ของ Iclif Leadership Centre เปิดตัวสู่โลก

เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของยุค 4.0 และวิธีการเป็นผู้นำที่เหมาะกับ 21st Century เพียงไม่กี่วัน หนังสือเล่มนี้ก้าวขึ้นเป็น #1 bestselling leadership book ใน Amazon.com เมื่อผม และราจีฟเดินทางมาประเทศไทย เพื่อจัดเวทีเล็กๆ กับผู้บริหารองค์กรหนึ่ง รองซีอีโอกล่าวปิดงานว่า “Open Source Leadership พูดได้ตรงประเด็น เกาถูกที่คันตรงปัญหาการเตรียมผู้นำในปัจจุบัน และที่สำคัญยังสามารถให้คำตอบและทางออกสำหรับการเริ่มก้าวสู่อนาคตอีกด้วย”

2. Be Autocratic สิ่งที่กระชากใจตลาดโลกของหนังสือเล่มนี้คือผลงานวิจัย ซึ่งคนส่วนใหญ่บอกตรงกันว่าผู้นำต้องเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็น Nelson Mandela, Steve Jobs, Jack Ma มหาตมะคานธี ล้วนเป็นผู้นำแบบ

Autocratic ทั้งสิ้น และโลกวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินการนั่งรอประชุมให้เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยก่อนจะลงมือทำอะไร ในยุค 4.0

ข้อมูลบอกว่าคนต้องการผู้นำที่กล้าตัดสินใจ เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นโดยไม่หวั่นไหวกับคำตัดสินของผู้อื่น ตราบใดที่เขาเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ควรกระทำ

3. Keys to Positive Autocracy แต่การจะเป็น Autocratic Leader ที่ยั่งยืนได้ ต้องประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ

1) Earn the right to be autocratic ต้องเป็นผู้นำซึ่งครองหัวใจของผู้ตาม เป้าหมายที่ทำนั้นเพื่อความเป็นอยู่อันดีขึ้นของเขา และมีธรรมเป็นหลักในการตัดสินใจ 2) Autocratic about values and purpose, but compassionate about people มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในปณิธาน แต่เข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของคน 3) Provide freedom within framework ให้แนวทางการปฏิบัติ แต่ไม่บังคับวิธีการเดินตาม

4) Listen, learn, and reflect มีนิสัยแห่งการฟัง หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ และไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ และ 5) Forgive more often ฝึกการให้อภัย มีขันติต่อการโกรธ

หลังจบงานสอน ผมรีบขับรถตรงไปที่วัดพุทธไทยเชตวันแห่งเมืองเคแอล พระปรมาภิไธย ภปร สถิตชัดยิ่งอยู่ท่ามกลางหัวใจของคนไทยมากมาย ณ ที่นั้น ผมตรงเข้าไปต่อท้ายแถวที่กำลังจะปิด

ผมเดินทางออกมาสู่เวทีโลกเพื่อค้นหานิยามของผู้นำที่แท้จริง ซึ่งคำตอบนั้นชัดเจนกระจ่างเมื่อผมบรรจงวางดอกไม้จันทน์ในพาน ใต้แสงจากจันทร์ดวงเดียวกับที่ลอยอยู่เหนือพระเมรุมาศในทีวี

#ForeverOurKing ครับ!