พลังศรัทธาคน 20 ล้านกับอนาคตใหม่(พรรค)การเมืองไทย

พลังศรัทธาคน 20 ล้านกับอนาคตใหม่(พรรค)การเมืองไทย

คนไทยมีพลังถ้าไม่มีใครบังคับ ให้ผลงานเป็นสิ่งจูงใจ

ผู้เข้าร่วมวางดอกไม้จันทน์ทั่วประเทศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 วันที่ 26 ต.ค.มีจำนวน 19,126,740 คน นับว่าก็เกือบ 20 ล้านคน โดยในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีผู้เข้าร่วม 2,896,482 คน จุดที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดคือ พระเมรุมาศจำลอง ที่ไบเทค บางนา จำนวน 90,699 คน

มิน่าเล่าที่เวลาบ่ายสามเมื่อผู้เขียนถึงไบเทคทางเข้าทั้งด้านหน้าถนนบางนา-ตราดและทางเข้าด้านถนนสุขุมวิท บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบางนา มีประชาชนเข้าแถวยาวมากจนเต็มและล้นฟุตปาธ

ปัจจุบันภาพที่จะเห็นคล้ายกันนี้ที่มีคนมากขนาดนี้ออกจากบ้านมาทำกิจกรรมหนึ่งพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ก็เห็นจะมีแต่การเลือกตั้งเท่านั้นเองกระมังซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถนำ 2 เหตุการณ์นี้มาเปรียบเทียบกันได้เพราะฐานที่มาต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี ในแง่ที่ว่าไม่มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดกำหนดว่าเป็น “หน้าที่” ของประชาชนที่จะต้องเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯนี้ ไร้คุณหรือโทษแบบเดียวกับการไปออกเสียงเลือกตั้ง จำนวนผู้มาวางดอกไม้จันทน์และจำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อปี 2557 ที่ใกล้เคียงกันมากเป็นตัวเลขที่น่าวิเคราะห์ทีเดียว โดยเฉพาะในระดับทั่วประเทศที่มีประมาณ 20 ล้านคน และเหลื่อมกันบ้างเล็กน้อยในกทม.โดยอยู่ช่วงระดับ 2-3 ล้านคนแล้วแต่การเลือกตั้งปีไหน

เกือบ 20 ล้านคนที่มาร่วมวางดอกไม้จันทน์ถือว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ที่ประชาชนแต่ละคนตั้งใจและเลือกทำเองโดยพึ่งตนเองเป็นหลัก ไม่มีสิ่งใดบังคับ ไม่มีแรงกดดัน ไม่ทำก็ไม่บกพร่องหรือมีโทษ ผู้มารู้ดีว่าต้องพึ่งตนเองไว้ก่อนทุกด้าน ปัจจัยช่วยเรื่องการเดินทาง อาหารและน้ำ เป็นเรื่องรอง ต้องมีความอดทนสูงยอมทนแดดทนฝน ยอมเสี่ยงเจ็บไข้ได้ป่วย เรียกได้ว่าต้องมีศรัทธามีความพอใจมีความรู้สึกในทางบวกอย่างสูงยิ่งต่อกิจที่กำลังตั้งใจรอเท่านั้น จึงจะทำได้

ประจักษ์แก่ตาว่าคนไทย(ยัง)มีพลังมีแรงทรัพย์แรงกายแรงใจมีสติปัญญาความสามารถทักษะที่มากมายพร้อมรออยู่ เมื่อมีโอกาสตัดสินใจเลือกใช้และมีส่วนร่วมแสดงออกทำสิ่งใดให้บุคคลและในสิ่งที่ตนศรัทธา พลังมหาศาลนั้นก็แสดงตัวแสดงตนอย่างบริสุทธิ์เสรี ต่างสู้กับข้อจำกัดของตนและทำให้ได้มากและไกลกว่าที่เงื่อนไขของตนจะอำนวยในยามปกติ

การแสดงพลังในการให้และเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนอย่างบริสุทธิ์เสรีได้อย่างงดงามพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้เป็นพลังบวกที่ยิ่งใหญ่มาก

จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีปัจจัยจูงใจสูงยิ่งที่สามารถขับให้พลังบวกในหมู่ประชาชนได้เคลื่อนสนองตอบ เป็นพลังแสดงเจตนารมณ์ร่วมของคนในสังคมซึ่งทุกสังคมที่จะอยู่รอดก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้จะต้องมี จะต้องช่วยกันมองหาและรักษาเจตนารมณ์ใดร่วมกันที่จะผูกกันยึดเหนี่ยวกันไว้ เพราะ สังคมใดที่ไม่อำนวยให้ประชาชนแสดงออกเจตนารมณ์ร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งและหลายๆ อย่างได้ชัดเจนอย่างเสรีในความสงบ แสดงว่าอาการน่าเป็นห่วงแล้ว สังคมไทยแม้ไม่ได้ตกอยู่ ณ จุดนี้แต่ต้องไม่ประมาท

กล่าวได้ว่าระบอบประชาธิปไตยเท่าที่สังคมต่าง ๆ สถาปนามาใช้ในโลกปัจจุบันทั้งที่มีและไม่มีพระมหากษัตริย์ ไม่มีของสังคมใดที่สมบูรณ์แบบหยุดนิ่งอยู่กับที่ ต่างต้องแสวงหาเปลี่ยนปรับแก้ไขอยู่ตลอดเวลาตามปัจจัยเศรษฐกิจสังคมนานัปการโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเจตนารมณ์ร่วมของปัจจัยมนุษย์ซึ่งก็คือพลเมืองทั้งหลายนั่นเอง

ในรอบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นพลเมืองโลกเสื่อมความนิยมที่มีต่อการเมืองระบบพรรคในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาในช่วง 100-200 ปีได้อย่างชัดเจน

กล่าวคือพรรคและนโยบายยังมีความสำคัญอยู่แต่อ่อนกำลังลง ใช้ศรัทธาที่มีต่อตัวบุคคลมากขึ้นเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะกรณีประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนล่าสุด นายเอ็มมานูแอล มาครง ที่เข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างยังไม่มีพรรคการเมืองของตนเองด้วยซ้ำไป โดยขณะนี้เมื่อเข้าอยู่ในระบบพรรคการเมืองแบบเดิม ก็เห็นชัดว่านายมาครงอยู่ในสถานการณ์ลำบากมาก แต่จะอย่างไรฝรั่งเศสก็ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาไปเป็นเปลาะๆ แม้แต่ในเยอรมันนี นางแองเกลา แมร์เคิล ที่ถ้าหากพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครตไม่มีตัวบุคคลอย่างเธอเป็นตัวเลือก ก็ใช่ว่าส่งใครลงก็จะได้ผลอย่างเดียวกัน

ในวันนี้ที่ประชาชนทั่วโลกต้องการและแสวงหาทางเลือกให้การเมืองการปกครองการบริหารสร้างความเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพให้เกิดขึ้นจริง สังคมไทยก็เช่นกัน เราต้องการมากกว่าแค่มีระบบพรรคที่แข็งแรงและการปฏิรูป รัฐบาลทั้งมาจากการเลือกตั้งและไม่ได้เลือกตั้งต่างก็ได้ “ปฏิรูป”ด้วยวิธีตั้งคณะกรรมการปฏิรูปร้อยแปดคณะเหมือนๆ กัน มีเป้าแค่ปรับยกเครื่องเล็กๆ น้อยๆ และมักจำกัดอยู่ในภาคราชการ เช่น ระบบราชการ ตำรวจ ซึ่งไม่เป็นมรรคผลอะไรนัก

หลังจากที่เรามีเลือกตั้ง 27 ครั้ง มีรัฐประหาร 19 ครั้ง เป็นโจทย์ร่วมของคนไทยทั้งชาติ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่จะต้องมีจินตนาการใหม่ แสวงหา(นัก)การเมืองการปกครองที่ตอบสนองเจตนารมณ์ร่วมของคนในสังคมเพื่อปรับแก้ไขเปลี่ยนสร้างการเปลี่ยนทางคุณภาพเกิดสิ่งใหม่(transform) ในทุกมิติการเมืองการเศรษฐกิจ ซึ่งด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนพลเมืองมีเจตนารมณ์ร่วมกันอย่างลึกซึ้งเท่านั้นที่จะทำได้ถึงขั้นนี้

การเลือกตั้งครั้งหน้าที่น่าจะในปี 61 นี้ ผู้เขียนเชื่อว่าการสร้างสรรหาปัจจัยตัวบุคคลและขบวนการที่สร้างความเชื่อมั่นสร้างศรัทธาได้ในหมู่ประชาชนพลเมืองโดยเฉพาะสามารถผนวกสร้างช่องทางให้ประชาชนพลเมืองระดับปัจเจกฐานรากได้ใช้พลังบวกที่มีอยู่ในตัวมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์จะสำคัญเสมอกันหรืออาจจะมากกว่าระบบพรรคและนโยบายของพรรคที่ แข็งแรงและ ที่ดีตรงสเปครัฐธรรมนูญใหม่ด้วยซ้ำไป