อสงไขย

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” นี่คือคำกล่าวของไอสไตน์ ถ้าประโยคนี้ถูกต้อง คนโบราณย่อมเก่งกว่าคนปัจจุบัน เพราะแม้ไม่มีความรู้มากมาย

แต่จินตนาการของท่านยิ่งใหญ่ไพศาล โหราศาสตร์คือบทพิสูจน์สำคัญ

อสงไขย

สำหรับคนธรรมดาสามัญ โหราศาสตร์เป็นวิชาแห่งการพยากรณ์ แต่ในมุมโหราจารย์ มันคือศาสตร์แห่งกาลเวลา แก่นสารของโหราศาสตร์คือการทำความเข้าใจอิทธิพลของกาลเวลาที่มีต่อสรรพสิ่งทั้งปวง

คนโบราณไม่รู้จักหลักวิทยาศาสตร์ ท่านอยู่กับธรรมชาติ จึงเข้าใจและยอมรับในพลังอำนาจของธรรมชาติ แม้ไม่รู้ว่าคืออะไรและมาจากไหน พลังอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดอยู่บนฟากฟ้า เป็นอำนาจที่ทำให้เกิดกลางวันกลางคืนและฤดูกาล ท่านเชื่อว่า มีทวยเทพสถิตย์อยู่ในธรรมชาติและดลบันดาลให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น

เมื่อ 25,000 ปีก่อน คนโบราณค้นพบวัฏจักรดวงจันทร์ อีก 13,000 ปีต่อมา ท่านค้นพบความสัมพันธ์ของฤดูกาลกับวัฏจักรดวงอาทิตย์ ท่านเข้าใจแล้วว่า ทวยเทพบนสรวงสวรรค์แสดงพลังอำนาจผ่านดวงดาวบนท้องฟ้า ดวงดาวคือผู้ควบคุมกาลเวลา โหราศาสตร์ศึกษาอิทธิพลของกาลเวลาผ่านวิถีโคจรของดวงดาว

ในอารยธรรมโบราณ เช่น บาบิโลเนีย กรีก อินเดีย ฯลฯ เวลาเดินทางเป็นวงรอบหรือ “วัฏจักร” ซึ่งสอดคล้องกับการโคจรของดวงดาว ต่างจากความเชื่อของคริสเตียนและอิสลามที่เวลาเดินทางเป็นเส้นตรงและมีทิศทางชัดเจน คือเริ่มตั้งแต่พระเจ้าสร้างโลกไปจนถึงวันสิ้นโลก

เมื่อเวลาเดินเป็นวงรอบ จุดเริ่มและจุดจบย่อมเป็นจุดเดียวกัน การสิ้นสุดคือการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ภพชาติและการเกิดใหม่ (Reincarnation) จึงไม่อาจหลีกเลี่ยง สรรพชีวิตเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวงจรเวลา (วัฏสงสาร) อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ความไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ และนับไม่ถ้วน สะท้อนถึงจินตนาการของคนโบราณ ไทยใช้คำ (จากรากศัพท์สันสกฤต) ว่า “อสงไขย” ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่ยาวนานมากจนไม่อาจคำนวณได้ อุปมาดั่งจำนวนเม็ดฝนที่เกิดจากฝนตกใหญ่ทั้งวันทั้งคืนนาน 3 ปี บางตำราตีความว่า 10 ยกกำลัง 140

ในพุทธศาสนา อสงไขยหมายถึงระยะเวลาที่พระโพธิสัตว์สั่งสมบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมบารมีด้านปัญญา (พระปัญญาธิกพุทธเจ้า) ใช้เวลา 20 อสงไขย 1 แสนมหากัป พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมบารมีด้านศรัทธา (พระสัทธาธิกพุทธเจ้า) ใช้ 40 อสงไขย 1 แสนมหากัป พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมบารมีด้านความเพียร (พระวิริยาธิกพุทธเจ้า) ใช้ 80 อสงไขย 1 แสนมหากัป

มโนทัศน์เรื่องความไม่มีที่สิ้นสุด / นับไม่ถ้วน ยังปรากฏในคำว่า “กัป (บาลี)” หรือ “กัลป์ (สันสกฤต)” ในพระไตรปิฏก-ปัพพตสูตร พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาความยาวนานของกัปไว้ว่า “...เปรียบเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบลูกใหญ่ มีความยาว 1 โยชน์ กว้าง 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีลูบภูเขานั้น 100 ปีต่อครั้ง ภูเขาศิลาลูกใหญ่นั้นพึงหมดสิ้นไปเพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่งยังไม่หมดสิ้นไป...

ตามคติของศาสนาฮินดู ระยะเวลา 1 กัปเท่ากับช่วงกลางวันของพระพรหม ซึ่งเท่ากับ 4,320 ล้านปี ดังนั้น 1 วันคือ 8,640 ล้านปี และ 1 ปีของพรหมคือ 3,110,400 ล้านปี ตัวเลขมากมายขนาดนี้ชี้ถึงจินตนาการที่ยิ่งใหญ่สุดประมาณ ปราชญ์โบราณที่คิดค้นสิ่งเหล่านี้ ต้องเข้าถึง “สภาวะรู้แจ้ง” ความจริงของสรรพสิ่ง

หน่วยเวลาของฮินดูปรากฏในคัมภีร์ตั้งแต่โบราณ เช่น พระเวท ภควัทคีตา วิษณุปุราณะ มนูสังหิตา ฯลฯ มาตรเวลาที่น่าสนใจที่สุดคือยุค ยุคคือการแบ่งเวลาเป็นส่วน ๆ แต่ละส่วนคือ 1 ยุค ซึ่งมี 4 ยุคได้แก่ สัตยยุค เตรตายุค ทวาปรยุค และกลียุค หรือยุคที่ 4, 3, 2, 1 ตามลำดับ แต่ละยุคมีระยะเวลาและคุณสมบัติไม่เหมือนกัน การแบ่งยุคเช่นนี้สอดคล้องกับแนวคิดของกรีกที่แบ่งเป็น 4 เหมือนกัน คือยุคทอง เงิน ทองแดง และโลหะ

มนูสังหิตากำหนดระยะเวลาของแต่ละยุคเป็น 4,000, 3,000, 2,000 และ 1,000 ปีตามลำดับ บวกกับช่วงเปลี่ยนผ่านอีก 1/10 หน้าหลัง ดังนั้น สัตยยุคกินเวลา 4,800 ปี เตรตายุค 3,600 ปี ทวาปรยุค 2,400 ปี กลียุค 1,200 ปี 1 วงจรเวลาแบ่งเป็น 2 ส่วน ขาขึ้นกับขาลง ขาขึ้นเริ่มจากกลียุคไปสัตยยุค 12,000 ปี ขาลงเริ่มจากสัตยยุคไปกลียุคอีก 12,000 ปี รวมเวลา 1 วงจรคือ 24,000 ปี ใกล้เคียงกับ Great Year หรือระยะเวลาที่จุดวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) โคจรครบรอบจักรราศี ซึ่งกินเวลา 25,800 ปี

ประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคใกล้เริ่มจากสัตยยุคในขาลงตั้งแต่ 11,501 – 6701 ปีก่อนค.ศ. เตรตายุค 6701 – 3101 ปีก่อนค.ศ. ทวาปรยุค 3101 – 701 ปีก่อนค.ศ. กลียุค 701 ปีก่อนค.ศ. – ปีค.ศ. 499 และเริ่มขาขึ้นใหม่ในกลียุคปี 499 – 1699 ทวาปรยุคปี 1699 – 4099 เตรตายุค 4099 – 7699 และสัตยยุค 7699 – 12,499 ถ้าเชื่อตามนี้ อารยธรรมของมนุษยชาติยังเป็นขาขึ้น และเราอยู่ในทวาปรยุคที่ปัญญาและความดีงามอยู่ที่ 50 % ของระดับสูงสุด (สัตยยุค)

ฮินดูแบ่งวงจรเวลาเป็น 2 วง วงจรเล็กของโลกและวงจรใหญ่ของสวรรค์ เวลา 1 วันบนสวรรค์เท่ากับ 1 ปีบนโลก สัตยยุคจึงเท่ากับ 4800X360 = 1,728,000 ปี เตรตายุค 1,296,000 ปี ทวาปรยุค 864,000 ปี กลียุค 432,000 ปี รวมเป็น 1 มหายุค 4,320,000 ปี โลกทุกวันนี้อยู่ในกลียุคที่เริ่มตั้งแต่ 3102 ปีก่อนค.ศ. หลังจากเสร็จสิ้นสงครามมหาภารตะยุทธที่ทุ่งกุรุเกษตร เราสรุปได้ว่า ถ้ามองจากมุมของสวรรค์ โลกเข้าสู่ยุคมืด ถ้ามองจากสายตามนุษย์ โลกยังคงเจริญรุ่งเรืองต่อไป

วัฏสงสารยาวไกลไม่สิ้นสุด แต่ชีวิตแสนสั้น มนุษย์ก่อกรรมทำเข็นไปเพื่ออะไร ขอให้ทำความดีเพื่อถวายเป็นปฏิบัติบูชาแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้ประเทศชาติบ้านเมืองและโลกหล้าสงบสุขอย่างแท้จริง

สวรรค์ 1 วันเท่ากับโลก 1 ปี ทำดีได้ผลตอบแทน 360 เท่า พวกเรามาเป็นนักลงทุนข้าม (ภพ) ชาติกันเถิด