หมดเวลาเกรงใจ รัฐบาลคสช.?

หมดเวลาเกรงใจ รัฐบาลคสช.?

การ“ปลดล็อก”ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเป็นเรื่องที่ถูกเรียกร้องเรื่อยมา

เช่นเดียวกับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ก็ปฏิเสธมาอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กลับมาจากเหยียบทำเนียบขาว ได้ประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.2561

จึงตามมาด้วยท่าทีที่อ่อนลงของทั้งนายกฯ และรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่รับปากจะปลดล็อกให้เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม

ทำให้พรรคการเมืองตีความว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธีสำคัญของชาติบ้านเมือง

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคสช.ที่บอกว่าในช่วงปลายเดือนต.ค.จะพูดคุยกันว่าจะมีการปลดล็อกอย่างไร

ขณะเดียวกันแหล่งข่าวคสช.ก็ยังมาสำทับว่าการปลดล็อกจะเกิดขึ้นในวันนี้

ดังนั้นเมื่อถึงเวลาดังที่หลายฝ่ายเข้าใจตรงกัน แต่ผู้เกี่ยวข้องยังอ้ำอึ้ง

ทั้งพล.อ.ประวิตร ที่ปฏิเสธห้วนๆ ว่ายังไม่ปลดล็อก

ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ ที่โยนให้คสช. (ที่มีตัวเองเป็นหัวหน้า) เป็นผู้ตัดสินใจ

ก็คงอดไม่ได้ที่พรรคการเมืองจะโอดครวญว่าไม่เป็นไปตามสัญญา และคอการเมืองจะกล่าวหาว่ารัฐบาลเบี้ยว

สุดท้ายก็จะย้อนกลับไปสู่ข้อครหาต่างๆ นานา ทั้งที่เป็นจริง และเป็นเพียงข้อสงสัยหรือการคาดเดา

ไม่ว่าจะเป็นการหวงอำนาจหรือชิงความได้เปรียบ

โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่าเป็นกลเกมในการต่ออำนาจ

เพราะแม้ว่าทั้งพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และอีกหลายคนในคสช.จะหมดสิทธิ์ลงสู่สนามเลือกตั้ง เพราะไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองภายใน 90 วัน นับแต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้

แต่ก็ยังสามารถตั้งพรรคการเมืองได้ ยังเปิดช่องให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯคนนอกได้

ข้อกล่าวหาต่างๆ จึงฟังดูพอมีเหตุผล และสังคมก็พร้อมที่จะเชื่อ

ขณะเดียวกันเมื่อกำหนดวันเลือกตั้งออกมาชัดเจนเช่นนี้ ก็คงห้ามยากที่พรรคการเมืองจะพยายามแสดงบทบาท และต้องไม่“หงอ”ให้รัฐบาลทหารเหมือนอย่างที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับคสช.ที่อำนาจบารมีก็จะถดถอยไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในยามที่ข้าราชการเริ่มสอดส่ายสายตา มองดูทิศลม ทางฝน ว่าใครจะมาเป็นนายใหม่” !!?