รู้จักกับ ICO และประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแล ***

รู้จักกับ ICO และประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแล ***

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา หลาย ๆ ท่านคงสังเกตได้ว่าในวงการฟินเทคกำลังมีกระแสการระดมทุนในรูปแบบใหม่คือ Initial Coin Offering (ICO)

หรือการเสนอขายเหรียญดิจิตอล (ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์) ที่ออกโดยบริษัทฟินเทคต่อประชาชนเป็นครั้งแรก และนำเงินที่ได้จากการเสนอขายเหรียญดิจิตอล (เงินตราตามกฎหมายหรือเหรียญดิจิตอลสกุลอื่น เช่น Bitcoin) ไปพัฒนาโครงการของตนต่อไป เช่น แพลตฟอร์มดิจิตอล หรือโครงการอื่น ๆ

การระดมทุนด้วย ICO นี้กำลังเป็นที่นิยมมากในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากบริษัทผู้ออกเหรียญดิจิตอลสามารถระดมทุนได้เป็นจำนวนเงินที่สูงมากภายในระยะเวลาอันรวดเร็วแม้ยังไม่มีโครงการที่ขอระดมทุนเป็นตัวตนเลยก็ตาม(เคยมีกรณีการเสนอขาย ICO ที่สามารถระดมทุนได้ถึงกว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลาเพียง 30 วินาที!) และทางฝั่งผู้ลงทุนเองก็หวังว่าจะสามารถนำเหรียญดิจิตอลที่ตนได้มาจาก ICO ไปแลกเป็นเงินดิจิตอลสกุลอื่นได้ทันทีในราคาที่สูงขึ้น

เมื่อผลตอบแทนและมูลค่าของการเสนอขายล่อตาล่อใจทั้งนักลงทุนและบริษัทฟินเทค ก็เริ่มเกิดปัญหาที่ตามมาจาก ICO เพราะยังไม่มีกฎเกณฑ์กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ เช่น บุคคลและบริษัทที่อาศัย ICO เพื่อหลอกลวงนักลงทุน โดยบางประเทศ เช่น จีน และเกาหลีใต้ ประกาศอย่างชัดเจนว่าการเสนอขายเหรียญดิจิตอลนั้นผิดกฎหมาย (เนื่องจากไม่ใช่เงินที่มีกฎหมายรองรับ) และออกคำสั่งห้ามการเสนอขายแบบ ICO เป็นการทั่วไป ในขณะเดียวกันก็มีบางประเทศที่สนับสนุนการพัฒนาของการระดมทุนรูปแบบใหม่นี้ดังที่จะกล่าวต่อไป ดังนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐมีความสำคัญเพราะจะเป็นผู้วางกติกาให้การเสนอขายแบบ ICO มีความโปร่งใส และสามารถคุ้มครองเยียวยานักลงทุนแบบเรา ๆ ท่าน ๆ ค่ะ

ที่ผ่านมาการเสนอขายเหรียญดิจิตอลในต่างประเทศในรูปแบบของ ICO มีลักษณะหลักอยู่สองประเภทคือ (ก) เสนอขายเฉพาะเหรียญดิจิตอล และ (ข) เสนอขายเหรียญดิจิตอลโดยนักลงทุนได้รับสิทธิบางอย่างด้วย ดังนั้น คำถามคือเหรียญดิจิตอลที่เสนอขายใน ICO ถือเป็นหลักทรัพย์ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์หรือไม่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลควรจะเป็นใคร เนื่องจากลักษณะของเหรียญดิจิตอลนี้แตกต่างกันไปในแต่ละ ICO เป็นต้นว่า

(1) เหมือนเงินตราทั่วไปแต่เป็นเงินสกุลใหม่ เช่น การเสนอขายเฉพาะเหรียญดิจิตอล

(2) เป็นตราสารทางการเงิน เช่น ตราสารอนุพันธ์ เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องผลตอบแทนในอนาคตเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือ

(3) เป็นหลักทรัพย์ เนื่องจากในการเสนอขาย ICO บางรายการนักลงทุนอาจได้สิทธิบางอย่างในบริษัทผู้ออกเหรียญดิจิตอล เช่น สิทธิออกเสียงในบริษัทผู้เสนอขาย

ดังนั้น ความยากจึงอยู่ที่นิยามความหมายของเหรียญดิจิตอลว่าควรกินความกว้างเพียงใดเพื่อควบคุมการทำ ICO ในรูปแบบต่าง ๆ นั่นเอง ซึ่งในประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนฟินเทค เช่น สวิสเซอร์แลนด์ ก็มีมุมมองว่าเหรียญดิจิตอลที่เสนอขายใน ICO มีลักษณะเป็นทรัพย์สินมากกว่าหลักทรัพย์ แต่ทั้งนี้หน่วยงานกำกับของสวิสเซอร์แลนด์เองยังต้องดำเนินการศึกษาการระดมทุนรูปแบบใหม่นี้ต่อไป

ในส่วนของหน่วยงานที่ควรจะเป็นผู้เข้ามากำกับดูแลคงหนีไม่พ้นธนาคารกลาง เนื่องจากการเสนอขายเหรียญดิจิตอลในการเสนอขาย ICO บางรายการเป็นการเสนอขายเหรียญดิจิตอลเป็นเงินสกุลใหม่เพื่อใช้ชำระราคากันเองในกลุ่มเฉพาะ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับและอาจผิดกฎหมายได้ เช่น พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 มีบทลงโทษผู้ที่ทำวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เป็นต้น ถ้าหากเหรียญดิจิตอลนั้นมีสภาพเข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์ หน่วยงานที่ต้องเข้ามารับผิดชอบกำกับดูแลก็ต้องเป็นหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง ฉะนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการกำกับดูแล ICO ไม่ควรให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้เริ่มการทดสอบการกำกับดูแลธุรกรรมฟินเทค (Regulatory Sandbox) ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เองก็มีแนวโน้มไปในทางบวกว่า ICO สามารถเป็นกลไกที่ช่วยตอบโจทย์การระดมทุนของกลุ่มธุรกิจประเภทเทคสตาร์ทอัพได้ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. กำลังพิจารณาและรับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจเพื่อหาแนวทางกำกับที่เหมาะสมต่อไป จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีจากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทยที่มีนโยบายเปิดรับการระดมทุนแบบ ICO คะ

ในระหว่างที่ยังไม่มีการกำกับดูแลเป็นรูปธรรม ผู้ลงทุนเองก็ต้องอาศัยความระมัดระวังในการลงทุนโดยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนอย่างละเอียดและระมัดระวังคำโฆษณาชี้ชวนที่น่าสงสัย (เช่น รับประกันผลตอบแทนการลงทุนในมูลค่าสูงเกินไป) เนื่องจากการลงทุนในเหรียญดิจิตอลยังไม่มีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานใด ทำให้ตอนนี้หากผู้ลงทุนได้รับความเสียหายจากกลุ่มมิจฉาชีพจะทำให้การคุ้มครองเยียวยาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

พบกันใหม่คราวหน้าคะ

//

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่

 

////

*** ชื่อเต็มเรื่อง : รู้จักกับ ICO และประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแล (Getting to Know ICOs and Its Contemplated Supervision)

โดย... วิภาวัส ยิ่งศักดิ์มงคล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]