ไปรษณีย์ถึงทีวีไทย

ไปรษณีย์ถึงทีวีไทย

การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในประเทศไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังคงมีสีสันและกรณีศึกษาให้เรียนรู้มากมาย

ส่วนหนึ่งเพราะอยู่ในช่วงรอยต่อที่เทคโนโลยีดิจิทัลยังคงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ทั้งผลสะท้อนกลับนั้นรุนแรงเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

ตัวอย่างในแวดวงสื่อและโทรทัศน์น่าจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด จากเดิมที่เห็นการผูกขาดของช่อง 7 สี ซึ่งครองตลาดโฆษณาในโทรทัศน์มายาวนานนับสิบๆ ปี โดยเพิ่งจะมีช่อง 3 เริ่มทำคะแนนได้เหนือกว่าในเขตกรุงเทพฯ เพราะอาศัยรายการข่าวและละครโทรทัศน์ใหม่ๆ เป็นตัวสร้างเรตติ้ง

การห้ำหั่นกันของช่อง 7 และช่อง 3 ถือเป็นการประลองกลยุทธ์ที่น่าจับตามองที่สุดเพราะไม่มีใครยอมใคร แต่สงครามดังกล่าวดำเนินไปได้ไม่นานก็ถูก “ตาอยู่” เข้ามาแทนที่อย่างเงียบๆ นั่นคืออินเทอร์เน็ต ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ให้เสพสาระ ข่าวสาร และบันเทิงผ่านสมาร์ทโฟนกันมากขึ้นเรื่อยๆ ปล่อยให้โทรทัศน์เป็นตลาดสำหรับกลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุเท่านั้น

รายได้โฆษณาเปลี่ยนเส้นทางจากที่เคยใช้งบมหาศาลไปกับโฆษณาทางโทรทัศน์มาเป็นการใช้โลกออนไลน์ทั้งโฆษณาทางตรงและทางอ้อม การทำคลิปหนังสั้น การรีวิวสินค้าฯลฯ แถมเคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่โทรทัศน์ดิจิทัลทำให้มีคู่แข่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งโฆษณาเพิ่มขึ้นเป็น 20 กว่าช่องทันที

คู่แข่งรายสำคัญของทีวีดิจิทัลไม่ใช่ช่อง 7 สี และช่อง 3 ที่ครองตลาดอยู่เดิมแต่เป็นอินเทอร์เน็ตนี้เอง ที่แย่งลูกค้าไปจากอุตสาหกรรมโฆษณาทางโทรทัศน์มากที่สุด จนทำให้ทีวีดิจิทัลหลายช่องต้องพบกับภาวะวิกฤติเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดคิด 

กระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ส่งผลบวกเฉพาะกับธุรกิจไฮเทคเท่านั้น กิจการโบราณที่อยู่คู่ประเทศไทยมานับร้อยปีสามารถเติบโตสวนกระแสโดยมีรายได้และผลกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องนั่นคือ บริษัท ไปรณีย์ไทย จำกัด ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานตั้งแต่เป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข มาสู่การสื่อสารแห่งประเทศไทย และบริษัทไปรษณีย์ไทยในทุกวันนี้

ตัวเลขผลประกอบการเมื่อปี 2559 ที่มีรายได้กว่า 25,000 ล้านบาทและผลกำไรถึง 3,500 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นการปรับตัวอย่างเฉียบคมและทันท่วงทีของไปรษณีย์ไทยที่มองเห็นบทบาทของตัวเองในการตอบรับกระแสความร้อนแรงของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในบ้านเราได้เป็นอย่างดี

เพราะการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของบ้านเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าตลาดอย่างลาซาด้า 11 สตรีท หรือเจ้าอื่นๆ ในตลาดที่มีบริการจัดส่งสินค้าเป็นของตัวเอง แต่ยังมี “กองทัพมด” ซึ่งก็คือแม่ค้าออนไลน์ ขายของผ่านเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ฯลฯ ที่ต้องใช้บริการจัดส่งของไปรษณีย์ไทยเป็นหลัก

ประมาณคร่าวๆ ว่านักศึกษาจบใหม่ในบ้านเราราวๆ 1 ใน 3 ปฏิเสธที่จะเข้าทำงานในรูปแบบเต็มเวลาไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัท เพราะเล็งเห็นว่าสามารถใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซหารายได้ให้กับตัวเองได้ หลายๆ คนก็เป็นพ่อค้าแม่ขายมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงไม่ลังเลที่จะยึดอาชีพขายของออนไลน์เป็นหลักโดยมีรายได้ไม่แพ้คนที่ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ แถมยังไม่ต้องเข้างานตามเวลาที่กำหนด ได้หยุดงานไปเที่ยวเมื่อไรก็ได้ จึงมีอิสระมากกว่า 

คนกลุ่มนี้กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไปรษณีย์ไทยจนทำมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์สูงถึง 42% เพราะมองเห็นว่าต้องรองรับธุรกิจสตาร์ทอัพและอีคอมเมิร์ซของบ้านเราที่ถือว่าเติบโตสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน 

ไม่จะธุรกิจเก่าหรือใหม่ ธุรกิจรายใหญ่หรือรายเล็ก หากรู้จักปรับตัวก็ย่อมหาช่องทางเติบโตและก้าวต่อไปได้เสมอ