อยู่กับผู้บริหารรู้ดีทุกเรื่อง

อยู่กับผู้บริหารรู้ดีทุกเรื่อง

ผู้บริหารที่ทำท่าทางว่าฉันรู้ดีไปหมดทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรื่องใกล้เรื่องไกล พอมีใครอ้าปากพูดเรื่องไหน

ท่านผู้บริหารจะแสดงความรอบรู้ไปหมดทุกเรื่อง บางคนก็เลยใช้วิธียกยอปอปั้นไปทุกครั้งทุกเรื่องไป จนได้ดีเพราะยิ่งยอยิ่งถูกใจนายใหญ่แสนรู้มากเท่าใด โอกาสใหม่ๆ จากนายใหญ่ก็ตามมาเท่านั้น แต่ถ้าที่ทำท่าว่ารู้ทุกเรื่องนั้น จริงๆ แล้วคือรู้ผิด รู้ไม่จริงแทบทุกเรื่อง จะทำอย่างไรกันดี ถึงจะรอดทั้งตัวเรา ทั้งองค์กร

ในองค์กรที่เชื่อมั่นมากๆ ในเรื่องความแตกต่างของอำนาจ ใครเป็นนายใหญ่มักถือกันว่ารู้ดีหมดทุกเรื่อง นายใหญ่คิดอะไร ใครๆ ก็ว่าถูกไปหมด ในองค์กรแบบนี้ไม่อาจเบื่อหน่ายความรู้ดีของนายใหญ่ได้ เพราะวัฒนธรรมองค์กรยอมรับในเรื่องนั้น ทางเลือกเดียว คือต้องปรับตัวให้อยู่กับความรู้ดีของนายใหญ่ให้ได้ หนทางหนึ่งคือให้ปรับความเชื่อใหม่ว่าเราคิดได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่นายใหญ่บอกมา คือไม่ว่าสิ่งที่นายใหญ่บอกมานั้นจะถูกหรือผิดไปจากตำรา ไม่ต้องใส่ใจคิดค้นหาความจริง เพราะถ้าเจอว่าผิดไปจากที่เล่าเรียนมา วันหน้าเราจะเบื่อหน่ายที่ต้องได้ฟังได้ยินเรื่องผิดๆ นั้นซ้ำซาก ดังนั้นไม่รับรู้ว่าผิด หรือถูกเพื่อให้ไม่ว่าได้ฟังสักกี่สิบรอบก็จะไม่รู้สึกอะไร ระลึกไว้เสมอว่าระดับอำนาจต่างกัน หมายถึงรู้มากรู้น้อยต่างกันด้วย

ถ้าเป็นองค์กรที่เชื่อในระดับอำนาจไม่มากนัก แต่เน้นการทำงานที่มีระบบชัดเจน มีการบริหารโดยใช้ข้อมูล และสารสนเทศเป็นเข็มทิศชี้ทาง ซึ่งก็ยังมีโอกาสที่จะพบเจอผู้บริหารที่ชอบอวดรู้ไปหมดทุกเรื่องเหมือนกัน แต่คราวนี้เรามีโอกาสมากกว่าในการรับมือกับนายใหญ่แสนรู้ โดยคำแนะนำพื้นฐานก็คือถ้าไม่จำเป็นสุดขีด อย่าไปขัดอกขัดใจท่าน ท่านว่าอย่างไรมา ถ้าที่ท่านว่านั้นไม่ถึงขั้นทำให้การงานเราล้มเหลวลงไป ก็ปล่อยให้ท่านว่าของท่านต่อไป โดยไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถใดเพื่อการขัดคอท่าน แม้ว่าจะรู้เต็มอกว่าที่ท่านอวดรู้นั้นผิดทั้งเพ และเบื่อหน่ายเต็มที่กับความอวดรู้ที่ผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ขอแนะนำว่าให้เก็บเรี่ยวแรงไว้ทำเรื่องอื่นดีกว่า

แต่ถ้าที่ท่านอวดรู้นั้นผิดพลาด และจะมีผลให้การงานของเราเละเทะ คราวนี้ทนรับฟังเฉยๆ ไม่ได้เสียแล้ว และก็บอกกันตรงๆ ไม่ได้อีกด้วย นายใหญ่คือนายใหญ่ ไม่ว่าองค์กรจะมีระบบดีแค่ไหน จึงอาจต้องลองใช้หลายๆ เทคนิคที่จะช่วยเปลี่ยนรู้ผิดให้กลายเป็นรู้ถูก ทางหนึ่งคือใช้ประสบการณ์ของนายใหญ่ที่เราเคยทราบ และเป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วันนี้นายใหญ่ท่าท่างจะรู้ผิด มาช่วยเปลี่ยนให้รู้ผิด กลายเป็นรู้ถูก ซึ่งนายใหญ่แสนรู้ชอบยกตัวอย่างประสบการณ์ที่ผ่านมาของตนเพื่อแสดงความรอบรู้ และนี่แหละคือโอกาสที่จะนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ปรับความคิดของนายใหญ่แสนรู้ ไม่มีใครเปลี่ยนความคิดของนายใหญ่ได้ ยกเว้นประสบการณ์ของนายใหญ่เอง ลองเทียบเคียงเรื่องที่เรารู้ว่านายใหญ่รู้ผิด เข้ากับประสบการณ์ของนายใหญ่ที่เราทราบ ลองให้นายใหญ่เล่าให้ฟังอีกสักครั้งว่าครั้งนั้นที่เจอะเจอเรื่องคล้ายๆ กัน นายใหญ่ใช้วิธีการใดในการจัดการกับเรื่องนั้น ซึ่งถ้าไม่หลงตนขนาดหนัก ได้คิดทบทวนจากประสบการณ์ที่เคยเจอะเจอ มักจะได้คิดและรู้ตัวว่าเรื่องที่คิดว่ารู้ดีนั้น จริงๆ แล้วคือรู้ผิด

อีกทางหนึ่งที่จะบอกว่านายใหญ่รู้ผิด คือใช้ข้อมูลสารสนเทศเป็นตัวบอก ลองขอเวลารวบรวมข้อมูลสารสนเทศในเรื่องที่เชื่อว่านายใหญ่รู้ผิดสักระยะหนึ่ง แม้ว่าตอนนั้นจะมีข้อมูลสารสนเทศที่เถียงกลับไปได้ทันทีว่าที่ท่านรู้นั้นผิดแน่ๆ แต่ไม่เกิดประโยชน์อะไรที่จะใช้ความจริงตอบโต้ความรู้ผิดของนายใหญ่ในทันที ยิ่งเสียหน้าจากการตอบโต้มากเท่าใด ความมีเหตุมีผลก็ลดลงมากเท่านั้น ขอเวลาสักหน่อย แล้วให้ข้อมูลสารสนเทศเป็นตัวเปลี่ยนรู้ผิด ให้กลายเป็นรู้ถูก

อยู่กับผู้บริหารที่รู้ดีไปหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่มีแต่ข้อเสีย แต่มีข้อดีอย่างน้อยเรื่องหนึ่งคือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ที่ใช้เตือนตนเองไว้ว่าวันหน้าถ้าฉันเป็นใหญ่เป็นโต ฉันจะไม่อวดรู้เกินกว่าที่ฉันรู้