สื่อในศตวรรษที่ 21 (6): เดอะอีสานเรคคอร์ด ****

สื่อในศตวรรษที่ 21 (6): เดอะอีสานเรคคอร์ด ****

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึง Texas Tribune สื่อออนไลน์ที่ใช้ข้อมูล “เป็น” อย่างน่าทึ่งในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบผู้มีอำนาจในมลรัฐเท็กซัส

ซึ่งนอกจากจะสร้าง “หางยาว” ให้ข่าวของตัวเองมีอายุยืนยาวกว่ากระแสชั่ววูบตามวัฏจักรการรายงานข่าวแล้ว ยังดึงดูดชาวเท็กซัสนับแสนให้ติดตามเป็นกองเชียร์และกำลังใจ หลายคนบริจาคเงินสนับสนุนให้สำนักข่าวเดินหน้า เงินบริจาคจากผู้อ่านรายย่อยเหล่านี้รวมกันคิดเป็นเงินกว่าหนึ่งในห้าของแหล่งรายได้ทั้งหมด

พอพูดถึงสื่อระดับภูมิภาคในต่างประเทศ คำถามต่อไปก็คือ แล้วในไทยมีสื่อออนไลน์ระดับภูมิภาคเจ้าไหนหรือไม่ที่น่าสนใจ และกำลังทำงานอย่างขมักเขม้นเพื่อตีแผ่เรื่องที่เราควรรู้แต่ไม่เคยรู้ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสื่อมวลชน

ไม่ใช่มัวแต่หมกมุ่นกับการคิดสร้าง “คอนเท้นท์” (content ที่จริงผู้เขียนไม่ชอบคำคำนี้เลย แต่เห็นใช้กันเกลื่อนกลาด) เท่ๆ ที่ดึงดูดให้คนคลิกไลก์หรือกดแชร์เยอะๆ ในโซเชียลมีเดีย แต่กลับไม่มีคุณค่าข่าวใดๆ เลย

แน่นอนว่า คอนเท้นท์ยิ่ง โดนยิ่งดี แต่คอนเท้นท์นั้นก็ควรจะ ดีด้วย โดยเฉพาะถ้าออกมาจากค่ายที่อ้างตัวว่าเป็น สำนักข่าว

เดอะอีสานเรคคอร์ด (The Isaan Record, เว็บไซต์ http://isaanrecord.com/) เว็บข่าวออนไลน์ที่ตีแผ่เรื่องราวต่างๆ จากภาคอีสานของไทย วันนี้เป็นสื่อภูมิภาคในประเทศที่ผู้เขียนชื่นชมและชอบที่สุด เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์หนึ่งในบรรณาธิการ เขาเป็นชาวต่างชาติผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม แต่ใช้ชีวิตในภาคอีสานของไทยมานานปี

บรรณาธิการท่านนี้ท้าวความว่า เดอะอีสานเรคคอร์ดเริ่มต้นประมาณ 6 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2011) ด้วยเงินสนับสนุนประเดิมจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

////

*** ชื่อเต็มเรื่อง: สื่อในศตวรรษที่ 21 (6): เดอะอีสานเรคคอร์ด ยอดคลื่นสื่อภูมิภาค

กลุ่มผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เห็นตรงกันว่า สื่อมวลชนไทยนำเสนอเรื่องราวจากภาคอีสานน้อยลงเรื่อยๆ ประกอบกับที่กระแส “ต่อต้านประชาธิปไตย” ก็โหมพัดแรงขึ้น (ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องโทษสื่อเลือกข้างบางค่ายเช่นกัน) ส่งผหลให้หลายคนกลายเป็นต่อต้านคนอีสาน ฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทย เหมารวมว่าพวกเขา “โง่” “ขายเสียง” ไปโดยปริยายอย่างน่าตกใจ

เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนตั้งแต่แรก คือ นำเสนอข่าวคราวจากอีสาน โดยเฉพาะมุมมองและความรู้สึกนึกคิดของคนอีสานจริงๆ (ไม่ใช่มุมมองที่ถูกกรองผ่านแว่นอันอาจมีอคติของนักข่าวจากเมืองหลวง) รวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวพิทักษ์ประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ด้วย

ปีแรกๆ เว็บไซต์ยังไม่เคลื่อนไหวมากนัก เพราะคนทำส่วนใหญ่ทำเป็นงานอดิเรก แต่พอมาปี 2015 หรือหนึ่งปีหลังรัฐประหาร ก็เริ่มพยายามปรับปรุงอย่างจริงจัง โดยจ้างนักข่าวไทยมาเขียนข่าวดั้งเดิมเป็นครั้งแรก (ตลอดสี่ปีก่อนหน้านั้นเขียนข่าวภาษาอังกฤษเป็นหลัก ข่าวไทยคือเนื้อหาที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษอีกทอดหนึ่ง)

วันนี้ทีมงานมีพนักงานประจำทั้งหมด 5 ชีวิต บวกบรรณาธิการวัฒนธรรมอีสานพาร์ทไทม์ 1 คน ข่าวภาษาไทยกับอังกฤษไม่เหมือนกัน ข่าวภาษาอังกฤษจะยาวกว่า เป็นข่าวเชิงลึกมากกว่า ข่าวภาษาไทยจะเป็นข่าว “ประเด็นร้อน” ขนาดสั้นกว่า นอกจากนี้ยังมีบทความภาษาไทยเกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสานซึ่งบรรณาธิการท่านนี้มองว่า ไม่น่าจะ “ม่วน” ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษ

คนอ่านเดอะอีสานเรคคอร์ดวันนี้มีทั้งไทยและเทศ ผู้อ่านเนื้อหาภาษาไทยคิดเป็นสองในสาม อีกหนึ่งในสามอ่านภาษาอังกฤษ ที่น่าสนใจคือ หกเดือนที่ผ่านมามีผู้อ่านจากลาวเข้ามามากขึ้น ทั้งเสพเนื้อหาบนเว็บไซต์และเขียนความเห็นบนเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าว

เมื่อถามถึงชิ้นข่าวที่ชอบที่สุด บรรณาธิการท่านนี้บอกว่า ชอบข่าวเกี่ยวกับ “มลทิน” ของการป่วยเป็นโรคเอดส์ที่ชุมชนผู้ป่วยในร้อยเอ็ดแห่งหนึ่งต้องเผชิญ (http://isaanrecord.com/2017/04/05/hiv-stigma-roi-et/) และข่าวประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมของชาวอีสานในขบวนการต่อต้านรัฐ นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น (http://isaanrecord.com/2016/08/07/from-rice-fields-to-rebellion-untold-stories-of-northeastern-thailands-armed-struggle/) เพราะทั้งสองชิ้นจับประเด็นน่าสนใจ ตีแผ่เรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ และถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของคนอีสานจริงๆ

ตรงตามเจตนารมณ์ของสำนักข่าวแห่งนี้

เมื่อถามถึงแหล่งรายได้ บรรณาธิการท่านนี้บอกว่ายังเป็นเรื่องยากและท้าทายไม่ต่างจากสื่ออิสระค่ายอื่น ปัจจุบันสำนักข่าวยังไม่ขายข่าว ดำเนินการด้วยเงินอุดหนุนจากมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนสื่ออิสระ รวมถึงต้องเขียนโครงการหาทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการฝึกอบรมนักข่าวภาคอีสานหน้าใหม่ โดยประสานงานกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ อาทิ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น

ในเมื่อเดอะอีสานเรคคอร์ดตั้งใจจะเป็นปากเสียงให้กับชาวอีสาน ซึ่งเป็นภาคที่มีผู้นิยมขบวนการ เสื้อแดงและคนรักพรรคเพื่อไทยคิดเป็นสัดส่วนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ข่าวหลายชิ้นจึงสะท้อนเสียงจากคนเสื้อแดง หรือคนที่ต่อต้านเผด็จการทหาร ส่งผลให้หลายคนมองว่า สำนักข่าวค่ายนี้ ลำเอียงเข้าข้าง เสื้อแดงเขาคิดอย่างไรกับเสียงสะท้อนแบบนี้?

บรรณาธิการท่านนี้ตอบว่า ยากมากที่จะหลีกเลี่ยงการถูกแปะป้ายว่าเป็นเสื้อแดง ในเมื่อเราเลือกรายงานข่าวจากภูมิภาคที่อยู่ใจกลางของความขัดแย้งทางการเมือง และประเด็นต่างๆ ถูกปั่นให้เป็นการเมือง (politicized) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เขาเชื่อว่า “ความเป็นภววิสัย” ของสื่อนั้นเป็นอุดมคติที่ไม่มีทางเป็นจริงได้ชนิดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่เดอะอีสานเรคคอร์ดให้ความสำคัญมาก คือ การแยกแยะให้ชัดเจนระหว่าง “ความเห็น” กับ “การรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาแบบดั้งเดิม” (hard news reporting)

บรรณาธิการท่านนี้มองว่า สื่อมวลชนไทยโดยรวมไม่แยกแยะระหว่าง “ข้อเท็จจริง” กับ “ความเห็น” ให้ดีพอ ทำข่าวแบบ “ชุ่ย” และ “มักง่าย” ขึ้นเรื่อยๆ เขาบอกว่า เดอะอีสานเรคคอร์ดพยายามยึดมั่นในมาตรฐานวิชาชีพของสื่อ และเชื่อต่อไปว่า สื่อที่ทำงานอย่างหนักและเคร่งครัดกับการเป็นมืออาชีพนั้น มีบทบาทสำคัญที่จะ ปิดช่องว่างความเข้าใจ เช่น ช่องว่างความเข้าใจระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนอีสาน คนกรุงเทพฯ ไม่เข้าใจคนอีสานหลายเรื่อง ยังมองชนบทแบบโรแมนติก และมองว่าคนอีสานถ้าไม่ โง่อย่างน้อยก็ ซื่อบื้อ

ถามต่อว่าอนาคตอยากพัฒนาสื่อภูมิภาคเจ้านี้ไปในทิศทางใด บรรณาธิการท่านนี้ตอบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะประสานงานกับสำนักข่าวระหว่างประเทศ และก็อยากพัฒนารูปแบบสื่อใหม่ๆ เช่น ทำพอดคาสท์สารคดีหรือวิทยุออนไลน์ และจับมือกับสื่อภูมิภาคค่ายอื่นๆ เพื่อรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีพลังพอที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้สื่อมวลชนไทยมองอีสานอย่างที่อีสานเป็น

ไม่ใช่อีสานอย่างที่คนเมืองคิดไปเองว่าเป็น.