รีไซเคิลลิเทียม จุดประกายธุรกิจ Startups

รีไซเคิลลิเทียม จุดประกายธุรกิจ Startups

รีไซเคิลลิเทียม จุดประกายธุรกิจ Startups: สร้างงานดูแลสิ่งแวดล้อม

ช่วงนี้ตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium Ion Battery) มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ราคาต่อหน่วยลดลงจาก 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมงเมื่อสามปีที่แล้ว มาเป็นต่ำกว่า 250 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าเมื่อราคาแบตเตอรี่อยู่ที่ประมาณ 100 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมงแล้วจะทำให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต  ส่งผลให้ปริมาณความต้องการลิเทียมซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว  ประมาณการณ์ว่าภายในปี 2025 ความต้องการลิเทียมจะสูงขึ้นกว่า 4 เท่าตัวจากปัจจุบัน 

นอกจากนี้ ราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตลิเทียมหลายรายก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน  โดยราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น2-3 เท่าตัว ตามแนวโน้มของตลาดลิเทียมที่ขยายใหญ่ขึ้น มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุหลักที่อุปสงค์ของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้มาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle) ทำให้เกิดปัญหาคอขวด เนื่องจากบริษัทเร่งผลิตแบตเตอรี่อย่างรวดเร็วให้เพียงพอต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า  ซึ่งแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน จะมีขนาดใหญ่กว่าแบตเตอรี่ที่ใช้ในโทรศัพท์ Smartphone ประมาณ 5,000 เท่า  

ขณะเดียวกันธุรกิจกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ (Energy Sotrage) ที่กักเก็บพลังงานเพื่อลดพีคในการใช้ไฟฟ้า หรือป้องกันไฟฟ้าดับ (Black out หรือ Brown out) นั้น  ก็เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ต้องการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมเพิ่มสูงขึ้น  โดยดูได้จากโครงการของเทสล่าร์ที่กำลังติดตั้งแบตเตอรี่ที่มีขนาดรวม 129 เมกะวัตต์ชั่วโมง ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก การเติบโตอย่างรวดเร็วของทั้งสองอุตสาหกรรมนี้ทำให้คาดว่าจะมีแบตเตอรี่จำนวนมาหาศาลในโลกในอีก 20-30 ปีข้างหน้า  สำหรับอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ประมาณ 10 ปี จึงคาดว่าจะมีขยะแบตเตอรี่จำนวนหลายล้านตันใน 15 ปีข้างหน้า

การนำแบตเตอรี่ลิเทียมลิเทียมไอออนไปรีไซเคิลอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ  อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดของการรีไซเคิลแบตเตอรี่คือ ความแตกต่างของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนซึ่งมีสารที่เป็นส่วนประกอบหลายๆ แบบที่แตกต่างกันไป ทำให้รีไซเคิลยาก ต้องอาศัยกระบวนการที่ซับซ้อนและต้นทุนสูง  

ทุกปัญหามีทางออกครับ เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า บริษัท OnTo Technology ซึ่งเป็น Startup รายหนึ่งที่ให้ความสนใจและได้พัฒนาการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมคิดค้นกระบวนการพิเศษที่ทำให้สามารถรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมได้ทุกประเภทแม้ว่าจะมีส่วนผสมของขั้วแบตเตอรี่แตกต่างกันก็ตาม  เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมานี้ช่วยให้เราสามารถทำการสังเคราะห์ขั้วแบตเตอรี่ขึ้นมาใหม่ได้โดยตรงจากแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพไม่ต้องแยกส่วนประกอบปลีกย่อยของแบตเตอรี่แบบรีไซเคิลแบตเตอรี่ทั่วๆไป  และทำให้มีต้นทุนการรีไซเคิลต่ำ  

การรีไซเคิลแบตเตอรี่นอกจากจะช่วยลดขยะแล้ว  ยังเป็นการช่วยลดปริมาณความต้องการทรัพยากรจากธรรมชาติด้วย  เพราะจะทำให้เราสามารถนำโลหะต่างๆ รวมทั้งลิเทียมกลับมาใช้ใหม่อีกรอบ  เป็นการลดปริมาณความต้องการลิเทียมที่จะต้องสกัดออกมาจากธรรมชาติลงได้ อีก 10 กว่าปีข้างหน้าประมาณปี 2030 เราจะต้องจัดการขยะแบตเตอรี่มากถึง 11 ล้านตัน  เมื่อเทียบกับกำลังการรีไซเคิลแบตเตอรี่ของ Startup ข้างต้นแค่ 250,000 ตันต่อปี จะเห็นว่าในปัญหายังมีหนทางอีกมากที่สามารถขจัดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการจัดการ เหรียญมีสองด้านครับ เพียงแต่จะมองมุมไหนเท่านั้น

ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่จะจัดการกับปัญหาแบตเตอรี่ คือ บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่มีความคิดที่จะรวบรวมเอาแบตเตอรี่ที่ไม่สามารถใช้ได้แล้วมารวมศูนย์ไว้ด้วยกัน  แล้วจัดให้มีระบบบริหารจัดการเพื่อให้กลายเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรองหรือเป็นโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) เพื่อทำหน้าที่เก็บและจ่ายพลังงานให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยตามบ้านเรือนหรืออาคารพาณิชย์  ซึ่งโดยทั่วไปแบตเตอรี่ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วในรถยนต์มักมีคุณภาพด้อยลงกว่าที่จะใช้ขับเคลื่อนเครื่องยนต์ในรถได้  แต่จะยังมีความสามารถเก็บและจ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วๆ ไปได้อยู่

เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีที่หลายคนมีความเป็นห่วง มีทางออกด้วยการแปลงสภาพแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพมาใช้ประโยชน์ดังตัวอย่างข้างต้น และสามารถผลักดันให้เป็นธุรกิจ Startup "แปลงขยะให้เป็นทอง" ได้ทั้งมูลค่าและคุณค่า สร้างงานดูและสิ่งแวดล้อมคู่กันไป