ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนกันยายน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนกันยายน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนกันยายน

ในเดือนนี้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของหลายประเทศสำคัญ เริ่มที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินตามคาด ประธานธนาคารกลางยุโรปให้ความเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะเริ่มพิจารณาเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และไม่ได้แสดงความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินยูโรซึ่งในปีนี้แข็งค่าขึ้นมาแล้วประมาณ 15%

โดยประเมินว่าเป็นผลของเศรษฐกิจยูโรโซนที่ฟื้นตัวดี ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษก็มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน แต่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าต่อมาในช่วงกลางเดือนธนาคารกลางสหรัฐ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) มีมติคงกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.00-1.25% และประกาศจะเริ่มลดการถือครองพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในเดือนตุลาคมปีนี้ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน และการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ 0%

จากการที่กลุ่มประเทศสำคัญเช่น สหรัฐและยูโรโซนส่งสัญญาณที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐที่กรรมการบางท่านแสดงความเห็นในเชิงการเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศสหรัฐอื่น ๆ เช่น ความเสียหายของเฮอร์ริเคนไม่มากเท่าที่ประเมินไว้เบื้องต้น, การคาดหวังต่อมาตรการด้านการคลังของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะแผนปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ตลอดจนการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นในเดือนนี้ หลังจากอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่ามาตลอดทั้งปีส่งผลให้มุมมองของนักลงทุนในตลาดกลับมาปรับเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เช่น 10-Year US Treasury Yield กลับปรับตัวขึ้นมาปิดที่ 2.33% ณ สิ้นเดือน หลังจากแตะระดับต่ำสุดของปีที่ 2.04% ตอนต้นเดือน

ทางด้านการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนนี้ปรับตัวลดลง 0.01-0.10%จากหลายปัจจัยเช่น ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ โดยในช่วงต้นเดือนมีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี, ในช่วงปลายเดือนจากความคาดหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลัง และกระแสเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งในเดือนนี้เป็นเดือนที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยสูงที่สุดในรอบปี โดยซื้อสุทธิจำนวน 82.7 พันล้านบาท แม้หักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วยังคงเหลือซื้อสุทธิ 50.8 พันล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทต่อ1 ดอลลาร์สหรัฐแตะระดับ 33.02 ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบปีนี้

ผลจากการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ ทำให้พันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงอายุ 2-7 ปีให้ผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในขณะที่รุ่น 10 ปีขึ้นไปยังคงให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอยู่ (แสดงดังตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและไทย)ในเดือนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยถูกกดดันด้วยเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐได้รับอิทธิพลจากการที่ตลาดกลับมาให้ความสำคัญกับการลดขนาดงบดุลของเฟดที่จะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้และการปรับเปลี่ยนการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ยังคงเป็นการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องดังนั้นในระยะสั้นคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มจะปรับขึ้นตามตลาดต่างประเทศ แต่จะถูกจำกัดด้วยนโยบายการเงินในประเทศ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ภายใต้กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย