สื่อในศตวรรษที่ 21 (5): Texas Tribune แกร่งเพราะเข้าใจ***

สื่อในศตวรรษที่ 21 (5): Texas Tribune แกร่งเพราะเข้าใจ***

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึง The Matter สื่อใหม่ขวัญใจวัยรุ่นไทย และทิ้งท้ายด้วยความเห็นของ ทีปกร ‘แชมป์’ วุฒิพิทยามงคล บรรณาธิการบริหารว่า

 ในปีหน้าคือ พ.ศ. 2561 The Matter จะผลิตเนื้อหาที่ขับดันด้วยข้อมูลเป็นหลัก (data-driven) และเนื้อหาที่เป็นคลิปวีดีโอ ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าปัจจุบัน

ฟังแล้วหลายคนอาจไม่เห็นภาพว่า ข่าวที่ใช้ “ข้อมูล” เป็นฐาน และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลชุดนั้นเป็นหลักนั้น จะช่วยเพิ่มทั้ง “คุณค่า” และ “มูลค่า” ของข่าวได้อย่างไร แตกต่าง (หรือแม้แต่ดีกว่า) การทำข่าวแบบ “ปิงปอง” ที่คนไทยคุ้นเคย (คือใช้ “คน” เป็นหลัก ไม่ใช่ข้อมูล เช่น นักข่าวเอาไมค์ไปจ่อปากนาย ก. แล้วนำประเด็นไปถามนาย ข. แล้วถ่ายทอดการโต้ตอบระหว่าง ก. กับ ข. ออกมาเป็นชิ้นข่าว) อย่างไร?

น่าเสียดายที่ในประเทศไทย ผู้เขียนยังไม่เห็นสื่อค่ายไหนที่เน้นการศึกษาวิเคราะห์ ข้อมูลเป็นหลักในการทำข่าว ยังไม่ต้องพูดถึงวิธีการนำเสนอผลการวิเคราะห์แบบใหม่ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจในโลกออนไลน์ ซึ่งผนวกทักษะการจับประเด็นและการวิเคราะห์ของนักข่าว เข้ากับทักษะการออกแบบของกราฟฟิกดีไซเนอร์ และทักษะการจัดการและประมวลผลข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

การทำข่าวที่เน้น “ข้อมูล” เป็นหัวใจ ตั้งแต่การคิดประเด็น ไปจนถึงรูปแบบการนำเสนอนั้น นับวันจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในศตวรรษนี้ เนื่องจากภาครัฐและเอกชนจะเปิดเผยข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น (เพื่อความสะดวก ลดต้นทุนในการทำงาน และเผชิญกับแรงกดดันจากสังคมให้โปร่งใสมากขึ้น) อีกทั้งการทำข่าวที่เน้นข้อมูลจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการหารายได้สำหรับสื่อ ไม่ว่าจะผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ หรือการทำให้ข่าวมี “อายุ” ยืนยาวมากขึ้น

ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบมากของการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดโดยสื่อ คือ เว็บไซต์สำรวจเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ Government Salaries Explorer (https://salaries.texastribune.org/) ของ Texas Tribute สำนักข่าวเจาะออนไลน์ มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของมลรัฐเท็กซัส นำข้อมูลเงินเดือนและผลตอบแทนอื่นๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับกว่าห้าแสนคนที่เงินเดือนจากเงินภาษีประชาชนในมลรัฐ มาขึ้นเป็นเว็บไซต์ค้นง่าย และอัพเดทข้อมูลทุกปี

ทุกคนที่เข้าเว็บนี้สามารถค้นชื่อ นามสกุล หรือตำแหน่ง (เช่น “อัยการสูงสุด”) แล้วระบบจะแสดงชื่อเต็มให้ดูว่าคนคนนี้ได้รับค่าตอบแทนเท่าไร แถมยังสามารถค้นตามหน่วยงานได้ด้วย เช่น ถ้าใครอยากรู้ว่ากรมตำรวจทั้งมลรัฐเท็กซัสจ้างตำรวจกี่คน แต่ละคนได้ค่าตอบแทนแต่ละคนเท่าไร เงินเดือนมัธยฐาน (ค่ากลางของเงินเดือนทั้งหมด) อยู่ที่เท่าไร เพียงพิมพ์คำว่า “ตำรวจ” คำตอบก็อยู่แค่ปลายนิ้ว

นอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนชาวเท็กซัส ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว เว็บสำรวจเงินเดือนนี้ยังสร้างรายได้ให้กับสำนักข่าวโดยนักข่าวอาวุโสจาก Texas Tribune คนหนึ่งบอกกับผู้เขียนตอนที่ได้พบกันในปี พ.ศ. 2556 ว่า เว็บไซต์นี้มีคนเข้ามาดูราวหนึ่งในสี่ของเว็บ Texas Tribune ทั้งเว็บ และเมื่อไรที่มีข่าวดังเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐเท็กซัส สถิติคนเข้าชมก็จะพุ่งสูงเป็นเงาตามตัว

นักข่าวบอกผู้เขียนว่า สำหรับ Texas Tribune แล้ว โครงการข้อมูลที่สร้างประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจนแบบนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่ายสามารถดึงดูดเงินอุดหนุนจากมูลนิธิต่างๆ ภาคเอกชน และประชาชนคนเสพข่าวได้อย่างต่อเนื่อง อีกโครงการที่ค่ายภูมิใจคือ “เว็บสำรวจศีลธรรมนักการเมืองเท็กซัส” หรือ Ethics Explorer (https://www.texastribune.org/bidness/explore/) ซึ่งให้ผู้ใช้สามารถค้นชื่อนามสกุลของนักการเมือง รวมถึงผู้พิพากษาในมลรัฐเท็กซัส (กฎหมายมลรัฐเท็กซัสระบุว่า ผู้พิพากษาทุกระดับต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน เช่นเดียวกับนักการเมือง) เพื่อตรวจสอบดูว่า “ประโยชน์ส่วนตัว” ของเขาหรือเธอสุ่มเสี่ยงว่าจะขัดกับ “ประโยชน์สาธารณะ” มากน้อยเพียงใด โดยผู้เข้าชมจะสามารถดาวน์โหลดแบบแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวที่เขาหรือเธอต้องยื่นตามกฎหมาย และอ่านบทวิเคราะห์ผลประโยชน์ทับซ้อนที่จัดทำโดยทีมข่าวของ Texas Tribune

ชัดเจนว่า เว็บข้อมูลทำนองนี้มีอายุยืนนานกว่าเนื้อหา ข่าวธรรมดา เพราะใครๆ ก็เข้ามาสืบค้นข้อมูลได้ทุกเมื่อ สำนักข่าวไม่ได้มีรายได้แต่เฉพาะตอนที่เขียนข่าวไม่กี่ชิ้น เช่น “ท๊อปเทนข้าราชการที่มีเงินเดือนสูงสุด” หรือ “เปิดหน่วยงานราชการที่จ่ายเงินเดือนแพงสุด” ซึ่งอย่างมากก็เขียนได้ปีละครั้งสองครั้งเท่านั้น

เว็บ Government Salaries Explorer และ Ethics Explorer สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ความเข้าใจในความสำคัญของ “ข้อมูล” ความสามารถในการจัดการและวิเคราะห์ “ข้อมูล” ตลอดจนความสามารถในการนำเสนอ “ข้อมูล” อย่างเป็นระบบและน่าสนใจ ล้วนแต่ขาดไม่ได้ในการยกระดับการทำข่าวในยุคออนไลน์

การผลิตเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อประชาชนคนเสพข่าว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Texas Tribune ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น ในบรรดาสื่ออิสระในอเมริกาทั้งหมดที่เน้นการทำข่าวสืบสวนสอบสวนหรือ “ข่าวเจาะ” Texas Tribune แทบจะเป็นเจ้าเดียวเท่านั้นที่มีความยั่งยืนทางการเงินและกำลังเติบโตอย่างมั่นคง ภายในเวลาเพียง 7 ปี นับจากก่อตั้งในปี 2010 ทีมงานเพิ่มจาก 12 เป็น 51 คน ในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่งหรือ 23 คน เป็นนักข่าวภูมิภาค เน้นทำข่าวการเมืองและข่าวอื่นที่เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะในมลรัฐเท็กซัส

ในขณะเดียวกัน รายได้ของค่ายก็เพิ่มจาก 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (เงินทุนตั้งต้นมาจากเงินบริจาคจากเศรษฐีใจบุญ ค่ายนี้จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร หักภาษีได้) เป็นกว่า 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 โดยในจำนวนนี้มาจากห้าแหล่งในสัดส่วนเท่าๆ กัน ได้แก่ เงินสนับสนุนจากภาคธุรกิจ เงินอุดหนุนจากมูลนิธิต่างๆ เงินบริจาคก้อนใหญ่จากปัจเจก เงินอุดหนุนจากประชาชนคนเสพข่าว (ข่าวทุกชิ้นบน Texas Tribune อ่านฟรี แต่ทุกสามสี่ชิ้นจะเด้งป้ายขึ้นมาถามว่า อยากบริจาค 10 เหรียญสหรัฐหรือมากกว่าให้กับสำนักข่าวหรือไม่) และรายได้จากการจัดอีเว้นท์ อย่างเช่น Texas Tribune Festival ประจำปี งานสามวันเต็ม (https://www.texastribune.org/festival/) ซึ่งชาวเท็กซัสหลายพันคนยินดีจ่ายเงินเพื่อมาฟังผู้มีอิทธิพลในด้านต่างๆ พูดบนเวที และสนับสนุนสำนักข่าวเจาะมือฉมัง

สื่อซึ่งเป็นที่รักของประชาชน และคนจำนวนมากทุกภาคส่วนในเท็กซัสอยากสนับสนุน เพราะพิสูจน์ตัวเองว่ากำลังสร้างประโยชน์สาธารณะที่ชัดเจน และมุ่งหน้าเพิ่มพลังประชาชนในการตรวจสอบผู้มีอำนาจทางการเมือง

โดยมีรากฐานมาจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงพลังของ “ข้อมูล” ในศตวรรษที่ 21

 ////

*** ชื่อเต็มเรื่อง: สื่อในศตวรรษที่ 21 (5): Texas Tribune แกร่งเพราะเข้าใจและใช้ “ข้อมูล” เป็น