ตลาดหุ้นตก เพราะอะไร?

ตลาดหุ้นตก เพราะอะไร?

ตลาดหุ้นตก เพราะอะไร?

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทย (SET Index) ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 23 ปีที่ 1,729.80 จุด เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา ถ้านับจากวันที่ 25 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา วันที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้มาปรากฎตัวฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว กับคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จะพบว่าดัชนี SET Index บวกขึ้นมาในระยะเวลาเกือบๆ 2 เดือน ถึง 200 จุด หรือมากกว่า 9% ทีเดียว

เหตุผลของการปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง ภายในระยะเวลาอันสั้น นักวิเคราะห์หลายสำนัก ก็ให้ความเห็นว่า อาจเป็นเพราะความตึงเครียดทางการเมืองน่าจะไม่กลับมารุนแรง หลังมีข่าวว่า อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้ออกนอกประเทศไปแล้ว รวมถึง การประกาศกำหนดการเลือกตั้งด้วยตนเองของพลเอก ประยุทธ์ นายกฯคนปัจจุบัน

แต่ในเชิงมุมมองทางเศรษฐกิจ และตัวเลขที่ทยอยประกาศออกมาเรื่อยๆ เราก็จะพบว่า เศรษฐกิจประเทศไทย ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน รวมถึงปรับเป้าการขยายตัวของ GDP ในปีนี้ และปีหน้าเพิ่มขึ้น ซึ่งผมมองว่า ปัจจัยนี้ ดูจะมีความยั่งยืน และทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี และปีหน้า น่าจะยังเป็นปีที่สดใส

อ้าว! แล้วทำไม สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงมีนักลงทุนขายหุ้นไทย ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลงมา เศรษฐกิจมันจะไม่ดีแล้วหรือ?

SET Index ใช้เวลา 3 วันทำการ ในวันที่ 17-19 ต.ค. 2560 ปรับตัวลดลงมามากกว่า 50 จุด และวันศุกร์ที่ผ่านมาลงไปต่ำสุดที่ 1,673.01 จุด ก่อนดีดกลับขึ้นมาปิดบวกได้ที่ 1,692.58 จุด ตอนท้ายตลาดตลาด คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า ที่ SET Index บวกขึ้นมาแรงๆในช่วงเวลาสั้นๆนี้ เป็นฟองสบู่ในตลาดหุ้นรึเปล่า แล้วแรงขายมาจากไหน?

ผมขออนุญาตอธิบายในมุมของพฤติกรรมตลาด เพื่อที่ผู้อ่านจะได้เข้าใจความเคลื่อนไหวในอนาคตนะครับ

อย่างแรกเลยก็คือ ในแนวโน้มขาขึ้น จะการปรับฐานซ่อนอยู่ และในแนวโน้มขาลง ก็มีการรีบาวน์ (ปรับตัวขึ้น) ระหว่างทางเช่นกัน

คราวนี้ ในแนวโน้มขาขึ้น เมื่อราคาหุ้น หรือ ราคาตลาด วิ่งขึ้นไปรวดเร็ว อุปสงค์ และอุปทานในตัวหุ้นก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน ตามนี้ครับ

ในฝั่งอุปสงค์ (Demand) จะลดลง เพื่อเมื่อราคาขึ้นไปแล้ว จะพบเจอนักลงทุนอยู่ กลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่ไม่ได้ซื้อไว้ตั้งแต่แรก และไม่พยายามไล่ราคาตามขึ้นไปด้วย ในช่วงขาขึ้น นักลงทุนกลุ่มนี้ แทบจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดมากนัก ที่มีอยู่ในพอร์ตก็ถือไป ที่ยังไม่ได้ซื้อ ก็รอไปก่อน หลักๆ ก็คือ เมื่อราคาเคลื่อนตัวออกจากค่าเฉลี่ยในระยะสั้น (ปรับตัวขึ้น) รวดเร็วเกินไป Demand ในการซื้อหุ้นก็จะลดลง อันนี้เป็นเรื่องปกติครับ

มาดูฝั่งของอุปทาน (Supply) กันบ้าง ซึ่งในที่นี้คือ นักลงทุนที่มีหุ้นสะสมอยู่ในพอร์ตอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อราคาปรับตัวขึ้นมา เราจะพบกลุ่มนักลงทุนที่ขายลดพอร์ต หรือ ขายทำกำไรออกมาเช่นกัน

ตราบใดที่ Demand ยังมากกว่า Supply ก็จะทำให้แนวโน้มขาขึ้นยังคงอยู่ต่อไป

แต่สมมติ ในกรณีที่ สภาพคล่องส่วนเกินมีสูง หรือ นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด ยังถือเงินสดอยู่ในสัดส่วนที่สูง ขณะที่ราคาหุ้น หรือ ราคาตลาดปรับตัวขึ้นไปแล้วระดับหนึ่ง ผู้ที่มีอำนาจของเงิน และไม่อยากตกรถไฟขบวนนี้ ก็จะเข้ามามีอิทธิพลต่อราคาในช่วงหลังจากการปรับตัวขึ้นรุนแรงผ่านไปไม่นาน

ตั้งสมมติฐนแบบนี้นะครับ ว่า นักลงทุนที่ขายหุ้นออกจากพอร์ต และถือครองเงินสดในสัดส่วนที่มกา เวลาขายทำกำไร ความต้องการของขาคือ เมื่อขายแล้ว ก็ยากเห็นราคาปรับตัวลงมา เพื่อที่จะสามารถซื้อกลับได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่ขายไป

ดังนั้น นักลงทุนรายใหญ่ ที่มีอำนาจเงิน จะทำการทดสอบแรงรับ (ทดสอบ Demand) ของตลาดในช่วงนั้นๆ ว่ามีปริมาณมากแค่ไหน ถ้ายังมากอยู่ ก็จะยังไม่ขายหุ้นออก หรือ อาจจะซื้อกลับอย่างรวดเร็วด้วยซ้ำ แต่ถ้าแรงรับมีปริมาณน้อย ในขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ยังเชื่อว่าตลาดยังเป็นขาขึ้นในระยะกลาง หรือระยะยาว ภาวะแบบนี้ จะเป็นโอกาสให้นักลงทุนเหล่านี้ ได้กลับมาซื้อสะสมหุ้นในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

วิธีการก็คือ ขายหุ้นออกมาในปริมาณมากๆ ซ้ำ เพื่อให้เกิดการปรับฐานของราคาที่รุนแรง ซึ่งวิธีการนี้ เป็นวิธีการทำให้นักลงทุนที่มีหุ้นในพอร์ต ที่ไม่ได้มั่นใจในแนวโน้มตลาด สามารถปล่อยหุ้นออกมาได้ด้วย

และก็ถึงเวลาของการที่นักลงทุนรายใหญ่ กลับมาซื้อสะสมที่ราคาต่ำลง และได้ปริมาณหุ้นเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

ถ้าตรงแนวรับ มีอุปสงค์ปริมาณมากเฝ้ารออยู่ เราก็จะรู้ว่า ยังมีนักลงทุนกลุ่มอื่นในตลาดที่เชื่อว่าหุ้นตัวนั้น หรือตลาดมีแนวโน้มขาขึ้น แต่ถ้าตรงแนวรับ ไม่มีอุปสงค์เพียงพอ ก็จะเป็นโอกาสของนักลงทุนรายใหญ่ที่จะเก็บสะสมหุ้นได้ในปริมาณที่มากขึ้น ด้วยการขายหุ้นออกมาให้ราคาต่ำกว่าแนวรับ รีดนักลงทุนที่ตั้ง Stop Loss (จุดตัดขาดทุน) คายหุ้นออกมาเช่นกัน

พฤติกรรมแบบนี้ จะเกิดซ้ำๆในตลาดหุ้นนะครับ จนกว่าจะมีปัจจัยอื่นใดของตลาด หรือ ของราคาหุ้นนั้นๆที่มากระทบ และเปลี่ยนแปลงไป Demand Supply ก็จะเข้าสู่จุดสมดุลใหม่อีกครั้ง