คำแนะนำที่ศักดิ์สิทธิ์?

คำแนะนำที่ศักดิ์สิทธิ์?

ในชีวิตของเราไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน สิ่งหนึ่งที่หลีกหนีไม่พ้นคือเรื่องเกี่ยวกับ “คำแนะนำ” เมื่อเราเป็นเด็กก็มักจะได้รับคำแนะนำหรือ

คำสั่งสอนในเรื่องต่างๆ จากผู้ใหญ่ตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากขึ้นเราก็กลับบทบาทกลายเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้อื่นแทน

ยิ่งเมื่อก้าวขึ้นไปสู่ระดับบริหารหรือเป็นผู้นำ สิ่งหนึ่งที่ผู้นำจะต้องทำคือการพัฒนาบุคคลรอบข้าง และวิธีการหนึ่งที่ผู้นำส่วนใหญ่ใช้ในการพัฒนาบุคคลรอบข้างก็คือการให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ขณะเดียวกันในฐานะของผู้นำเองก็มักจะไ้ด้รับคำแนะนำจากคนรอบข้างในเรื่องต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมหลายๆ ครั้งที่เราได้รับฟังคำแนะนำที่ดี แต่กลับเหมือนกับเข้าหูซ้ายแล้วทะลุออกหูขวา เหมือนกับเสียงลมที่พัดผ่านไป แล้วก็ไม่ได้นำสิ่งที่ได้ฟังมาปรับใช้ หรือ เมื่อสลับบทบาทกันและเราเป็นผู้ให้คำแนะนำ (ที่คิดว่ามีประโยชน์) ให้กับบุคคลต่างๆ ไม่ว่าคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือ ลูกน้อง ผู้รับฟังเหล่านั้นก็เหมือนจะตั้งใจรับฟังดี แต่เมื่อไปปฏิบัติจริงกลับไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราแนะนำ

จะพบว่าเมื่อได้ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะใดๆ ไป โดยส่วนใหญ่ผู้รับจะแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรก คือ รับฟังด้วยดี แต่เพียงแค่รับฟังตามมารยาท แต่ขณะเดียวกันอาจจะเตรียมที่จะโต้กลับถ้าสิ่งที่ได้รับฟังขัดกับความเชื่อหรือความคิดของตนเอง กลุ่มที่สอง คือ รับฟังด้วยดี และคิดว่าสิ่งที่ได้รับฟังนั้นมีประโยชน์ แต่ไม่เคยนำสิ่งที่รับฟังนั้นไปทำอะไรต่อ และสามารถที่จะหาข้ออ้างที่ดูแล้วน่าเชื่อถือที่จะไม่นำคำแนะนำนั้นไปปฏิบัติ และ กลุ่มที่สาม เป็นผู้ที่รับฟัง คิดและวิเคราะห์ตาม แล้วนำคำแนะนำดังกล่าวไปปฎิบัติ โดยอาจจะไม่ปฏิบัติตาม 100% หรือนำไปคิดต่อ ขยายต่อจากสิ่งที่แนะนำ โดยได้มีการปรับให้เข้ากับบริบทของตนเอง

ซึ่งก็ไม่แปลกใจ เนื่องจากมีงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่าคนเราจะเลือกรับฟังในสิ่งที่สอดคล้องหรือสนับสนุนต่อความคิดหรือความเชื่อของตนเองเป็นหลัก

หลายครั้งที่ผู้แนะนำ มีเจตนาที่ดี เพราะอยากจะเห็นการพัฒนา การปรับปรุง หรือ อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ของตนเอง แต่เขาหารู้ไม่ว่ามีอีกงานวิจัยที่ค้นพบว่า คนโดยส่วนมากแล้ว เมื่อมีผู้มาแนะนำว่าควรจะทำอะไร และ ควรจะทำอย่างไรนั้น คนโดยส่วนใหญ่จะมีปฏิกริยาต่อต้านและป้องกันตนเองขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้เนื่องจากการแนะนำหรือสั่งสอนจากผู้อื่น เป็นการแสดงให้เห็นว่าคนผู้นั้นยังมีจุดอ่อนหรือจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุง อีกทั้งปฏิกริยาต่อต้านก็ยังมาจากความต้องการพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการมีความเป็นอิสระในการคิดและการตัดสินใจ

ดังนั้นอย่าแปลกใจว่าหลายๆ ครั้งที่เมื่อให้คำแนะนำใดไป ผู้ฟังอาจจะรับฟังอย่างสุภาพและมีมารยาท แต่สีหน้าและแววตานั้นบ่งบอกมาอย่างชัดเจนว่าเป็นการรับฟังตามมารยาท แต่ในใจนั้นไม่เห็นด้วย (และเผลอๆ อาจจะต่อต้านด้วยซ้ำไป)

มีข้อแนะนำจากนักวิชาการในต่างประเทศว่า ถ้าเราอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและความเชื่อของบุคคลอื่น แทนที่จะเน้นในเรื่องของการให้คำแนะนำเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะเน้นการทำตัวเป็นแบบอย่าง (modeling) มากกว่า นั้นคือจะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีได้ ไม่ใช่ให้แต่คำแนะนำเพียงอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้ก็มีงานวิจัยมาสนับสนุนอีกเหมือนกันว่าคนส่วนใหญ่จะปฏิเสธหรือต่อต้านต่อคำแนะนำ แต่จะประพฤติและปฏิบัติตามพฤติกรรมของผู้อื่นมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี

ดังนั้นสิ่งที่น่าจะเห็นผลที่สุดสำหรับผู้นำในการให้คำแนะนำแก่ผู้อื่นก็คือ นอกเหนือจากการให้คำแนะนำแล้ว ตัวผู้นำเองยังจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้เป็นที่น่าเชื่อถือด้วย เพื่อที่จะไ้ด้ทำให้คำแนะนำนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์