‘แม่เมาะ’ต้นกำเนิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองไทย

‘แม่เมาะ’ต้นกำเนิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองไทย

กิจการเหมืองลิกไนต์ในเมืองไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2460 ในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ

ให้เข้ามาสำรวจเหมืองถ่านหินในประเทศไทย กระทั่งมีการสำรวจพบถ่านลิกไนต์ ที่อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และที่ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

ในช่วงนั้นรัฐบาลไทยอนุญาตให้บริษัทเอกชนเปิดการทำเหมืองลิกไนต์ที่ อ.บ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อประทานบัตรหมดอายุลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อให้ทางราชการเป็นผู้ดำเนินงานเท่านั้น

ต่อมาในปี 2493 กรมโลหกิจ หรือกรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน จึงได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง โดยการสำรวจได้ดำเนินไปจนถึงปี 2496 จึงพบแหล่งถ่านลิกไนต์มีแนวชั้นติดต่อกันยาวไปตามลำห้วยในแอ่งแม่เมาะ และต่อมาในปี 2497 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ขึ้น เพื่อดำเนินกิจการลิกไนต์อย่างจริงจัง  ‘แม่เมาะ’ต้นกำเนิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองไทย

จากนั้นจึงเปิดการทำเหมืองแม่เมาะขึ้น และสามารถผลิตถ่านลิกไนต์ออกจำหน่ายให้แก่โรงบ่มใบยาสูบ โรงงานต่าง ๆ รวมทั้งโรงไฟฟ้าวัดเลียบ และโรงไฟฟ้าสามเสนได้ในปีต่อมา ซึ่งถ่านลิกไนต์ที่แอ่งแม่เมาะนี้พบว่ามีปริมาณถึง 120 ล้านตันและสามารถขุดขึ้นมาใช้งานได้คุ้มค่า 43.6 ล้านตัน

ถือได้ว่าเป็นก้าวในการพัฒนาทางด้านพลังงานของประเทศที่สำคัญ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเขื่อนภูมิพล เนื่องจากได้มีการส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะไปใช้งานก่อสร้างเขื่อนที่จ.ตาก จนการก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดใช้งานในปี2507 สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาตินานัปการ

ที่สำคัญลิกไนต์ที่แม่เมาะ มีปริมาณเทียบเท่ากับไม้ฟืน 3 ล้านลูกบาศก์เมตร หมายถึงลดการตัดไม้ลงได้ 30,000 ไร่ และลดการสั่งนำเข้าน้ำมันเตาจากต่างประเทศได้กว่าปีละ 35 ล้านลิตร

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2503 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งการลิกไนต์โดยโอนกิจการและทรัพย์สินขององค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์มาเป็นของการลิกไนต์ กำหนดให้มีหน้าที่ผลิตและจำหน่ายถ่านลิกไนต์ วัตถุเคมีจากลิกไนต์ และพลังงานไฟฟ้าจากลิกไนต์ มีอำนาจดำเนินการในเขตท้องที่ จ.ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และตาก และเขตท้องที่ในภาคใต้ ตั้งแต่จ.ชุมพรลงไปทั้งหมด

กระทั่งเมื่อรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยรวมกิจการของการลิกไนต์ การไฟฟ้ายันฮี และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าด้วยกัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 กฟผ. จึงได้รับโอนภาระหน้าที่ของทั้ง 3 องค์การมาดำเนินการทั้งหมด

รวมทั้งได้วางแผนพัฒนาถ่านลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยได้วางโครงการขยายแหล่งผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงเมื่อรัฐบาลอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ 2 เครื่อง ขนาดเครื่องละ 75,000 กิโลวัตต์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2515 กฟผ. จึงทำการขยายเหมืองแม่เมาะในปีต่อมาเพื่อเพิ่มกำลังผลิตถ่านลิกไนต์จากปีละแสนกว่าตัน เป็นนับล้านตัน

จากนั้น เหมืองแม่เมาะได้ขยายพื้นที่กว้างขั้นเรื่อย ๆ เพื่อผลิตถ่านลิกไนต์รองรับโรงไฟฟ้าที่สร้างขึ้นใหม่ที่แม่เมาะ ในขณะที่น้ำมันมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ กฟผ. จึงได้เร่งสำรวจถ่านลิกไนต์ที่แอ่งแม่เมาะ เพื่อให้รู้ปริมาณถ่านลิกไนต์ทั้งหมด และปริมาณที่สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะได้ทำการขุดขนถ่านหินประมาณ 15-17 ล้านตัน ส่งให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ 13 หน่วย กำลังผลิต 2,625,000 กิโลวัตต์ ซึ่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือตอนบนและล่าง เชื่อมต่อไปยังภาคกลางจนถึงกรุงเทพฯ และเชื่อมโยงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 20 % ของกำลังผลิตของทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างโรงไฟฟ้าคือ การดูแลและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่นติดตั้ง เครื่องดักจับฝุ่นที่โรงไฟฟ้า ที่มีประสิทธิภาพระหว่างร้อยละ 89.5-99.7 เพื่อกรองฝุ่นจากการเผาไหม้ถ่านลิกไนต์ ติดตั้งจุดตรวจวัดค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไว้ตามหมู่บ้านต่างๆรวม 12 จุด ที่จะรายงานผลไปยังห้องควบคุมในโรงไฟฟ้า และระบบออนไลน์ไปยัง โรงพยาบาลแม่เมาะ และกรมควบคุมมลพิษ

นอกจากนี้ ยังมีการดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้านในบริเวณการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด เช่น น้ำ ไฟ ถนน โรงกรองน้ำ โรงเรียนโรงพยาบาล ศูนย์ราชการ รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ จนได้รับการชมเชยจากธนาคารโลก ว่าเป็นชุมชนตัวอย่างของโลกเพราะมีความสมบูรณ์ ในทุกด้าน

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรฐานการดำเนินงานและการดูแลสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัลมากมาย เฉพาะในปี 2560 ประกอบไปด้วย

รางวัล Green Mining Awards 2016 (รางวัลเหมืองแร่สีเขียว) ประเภทรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

รางวัล EIA Monitoring Awards 2016 จากโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์ จังหวัดลำปาง จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รางวัล Thailand Coal Awards 2017 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

- รางวัลชนะเลิศ ด้านการดำเนินงานด้านถ่านหินที่เป็นเลิศ จากเหมืองแม่เมาะ

- รางวัลชนะเลิศ ด้านหัวข้อพิเศษ จากผลงานเครื่องเคลียร์ถ่านติดสะสม ของเหมืองแม่เมาะ

- รางวัลชนะเลิศ ด้านการมีส่วนร่วมต่อชุมชนและสังคม จากผลงานความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

รางวัล ASEAN Energy Awards 2017

- รางวัลชนะเลิศ ประเภทการปฏิบัติที่เป็นเลิศ ด้านการทำเหมืองเปิด จากเหมืองแม่เมาะ

- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม จากผลงานการร่วมมือกับชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านลิกไนต์ศึกษา มีความทันสมัยและใหญ่ที่สุดในเมืองไทย สวนพฤกษชาติ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ประดับด้วยพรรณไม้สวยงาม จุดชมวิวและทุ่งบัวตอง เป็นภูเขาเทียมที่เกิดจากการนำดินในเหมืองมากองเก็บไว้จนสูงพอที่จะเป็นจุดชมวิว ลานสไลเดอร์ เป็นลานหญ้าที่เทลาดลงสู่สนามกอล์ฟ เป็นที่นิยมของการท่องเที่ยวแบบผจญภัยตื่นเต้น

หากนึกย้อนไปในสมัยที่มีการต่อต้านอย่างหนัก ถ้าไม่สามารถทำเหมืองลิกไนต์และสร้างโรงไฟฟ้าถ่านลิกไนต์ได้ถึง 13 โรง เพื่อให้เพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าตอบสนองความต้องการของประชาชนและการเติบโตของเศรษฐกิจในภาคเหนือ ปัจจุบันคงจะเกิดปัญหาเรื่องของพลังงานไฟฟ้ามากมาย การคิดบวกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอนาคตของประเทศไทยให้ยั่งยืน และต้องคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่าความต้องการของคนส่วนน้อยบางกลุ่มเท่านั้น

//////

โดย... อมตวรรธ อัจจิมา

[email protected]